x close

นายแพทย์ประจักษ์ อรุณทอง จากโฆษณาชุดการให้ มีตัวตนจริงหรือแค่ตัวละคร



ภาพจากคลิปโฆษณา ทรูมูฟ เอช


ภาพจากคลิปโฆษณา ทรูมูฟ เอช


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ TrueMoveH สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

            นายแพทย์ประจักษ์ อรุณทอง จากโฆษณาชุดการให้ของค่ายมือถือดังที่สร้างความซาบซึ้งให้คนทั้งโลก มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือจะเป็นคนเดียวกันกับ นายแพทย์เดชา ทองวิจิตร ที่ปรากฏเรื่องราวคล้ายกันในฟอร์เวิร์ดเมล
 
            ใครที่ได้ชมคลิปโฆษณาชุด "การให้ คือการสื่อสารที่ดีที่สุด"  ของทรูมูฟ เอช ค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย คงได้เสียน้ำตาให้กับเรื่องราวอันแสนซาบซึ้งของโฆษณาชุดนี้ และ ณ ตอนนี้ โฆษณาชุดดังกล่าวก็ได้สร้างความซาบซึ้งตราตรึงให้คนทั่วทั้งโลกไปแล้ว ด้วยการถ่ายทอดเรื่องง่าย ๆ แต่กินใจ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ชมได้แง่คิดดี ๆ แล้ว ก็ยังทำให้หลายคนนึกสงสัยอยู่ในใจเหมือนกันว่าบุคคลที่ปรากฏในโฆษณาชุดนี้มีตัวตนจริงหรือไม่? แล้วเหตุการณ์ในโฆษณาเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องแต่งจากจินตนาการกันแน่

            สำหรับข้อสงสัยนี้ ในโลกออนไลน์ก็มีผู้มาตั้งกระทู้วิเคราะห์กันเช่นกัน และสรุปได้ว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงเรื่องสมมติที่แต่งขึ้นมา โดยหยิบเค้าโครงเรื่องมาจากฟอร์เวิร์ดฉบับหนึ่งที่มีการส่งต่อกันเมื่อหลายปีก่อน เป็นเรื่องราวของการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน แต่ได้รับบางสิ่งตอบแทนราวปาฏิหาริย์ ซึ่งมีเรื่องราวไม่ต่างจากโฆษณาเลย...

            โดยในฟอร์เวิร์ดเมลฉบับนั้นเล่าว่า ตัวละครที่ชื่อ "นายแพทย์เดชา ทองวิจิตร" ในวัยเด็กได้เคยพยายามขโมยยาไปรักษาแม่จนถูกเจ้าของร้านดุ แต่ "นางสมพร ภู่จันทร์" ที่เห็นเหตุการณ์รู้สึกสงสารเด็กน้อยคนนั้น จึงมาช่วยจ่ายเงินให้ พร้อมกับยื่นส้มให้เด็กนำกลับไปทาน จากนั้นเวลาผ่านมาอีก 20 ปี นางสมพรเกิดล้มป่วยด้วยอาการเนื้องอกในสมอง ต้องใช้เงินผ่าตัดถึง 5 แสนบาท ทำให้ทางครอบครัวกลุ้มใจมาก เพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปรักษา แต่ทว่าสุดท้ายแล้วทางโรงพยาบาลกลับไม่คิดเงินค่ารักษาเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะคุณหมอผู้ผ่าตัดที่ชื่อ "นายแพทย์เดชา ทองวิจิตร" ขอตอบแทนบุญคุณที่นางสมพรเคยช่วยเหลือไว้สมัยเด็ก พร้อมกับระบุว่า "ค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้รับแล้ว เมื่อยี่สิบปีก่อนด้วยยาแก้ปวด ยาธาตุ ส้มหนึ่งถุง"...

            ทั้งนี้ ในคลิปโฆษณาของค่ายมือถือดังไม่ได้ระบุชื่อ "นายแพทย์เดชา ทองวิจิตร" ไว้ในโฆษณา แต่เปลี่ยนชื่อตัวละครใหม่เป็น "นายแพทย์ประจักษ์ อรุณทอง" อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลทั้งในฐานข้อมูลแพทยสภาและในอินเทอร์เน็ต ก็ไม่ปรากฏชื่อนายแพทย์ทั้งสองคนนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่า นายแพทย์ทั้งสองคนนี้คงไม่มีตัวตนจริง เป็นเพียงชื่อที่ตั้งขึ้นมาใช้เล่าเรื่องประกอบฟอร์เวิร์ดเมล และโฆษณาเท่านั้น ส่วนเนื้อหาในฟอร์เวิร์ดเมลก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ อาจจะเพียงเรื่องแต่ง หรือมาจากเค้าโครงเรื่องจริงบางส่วนแต่มีการแต่งเรื่องเพิ่มตามจินตนาการก็เป็นได้

            ขณะเดียวกัน ก็มีชาวเน็ตส่วนหนึ่งระบุว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากฟอร์เวิร์ดเมลของต่างประเทศเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว โดยมีเรื่องเล่าว่าเด็กน้อยคนหนึ่งขโมยขนมปังแล้วได้คุณป้ามาช่วยเหลือ จากนั้นอีกหลายสิบปีให้หลัง เด็กน้อยคนนั้นได้กลายมาเป็นหมอรักษาโรคให้คุณป้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องเล่าลักษณะนี้ก็ถูกส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ นานนับสิบปี เพียงแต่มีการดัดแปลงตัวละครเป็นหลายเวอร์ชั่น แต่เค้าโครงหลักก็ยังเป็นดังที่ปรากฏในโฆษณานั่นเอง

            อีกด้านหนึ่งในเว็บไซต์พันทิปดอทคอมก็มี คุณ Mangashorn ให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้น่าจะหยิบเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของ ดร.โฮเวิร์ด เคลลี (Dr. Howard Kelly) แพทย์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกาที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2401-2486

            โดยคุณหมอโฮเวิร์ดในวัยเด็กได้เคยไปเคาะประตูบ้านผู้หญิงคนหนึ่งเพื่อขอนม 1 แก้วดื่มประทังความหิว และผู้หญิงคนนั้นก็ใจดีให้นมมาดื่มโดยไม่คิดเงินเลย ภายหลัง เด็กชายคนนั้นได้เรียนจบจนเป็นหมอ เมื่อเขาเห็นชื่อผู้หญิงใจดีคนนี้มารักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาก็ไม่รอช้ารีบเข้าไปช่วยรักษาผู้หญิงคนนั้นจนหายจากโรคร้ายโดยไม่คิดเงินแม้แต่สตางค์เดียวเช่นกัน ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเธอจ่ายค่ารักษาให้เขามาแล้วด้วยนม 1 แก้วนั้นนั่นเอง...


คลิปเรื่องจริงของ ดร.โฮเวิร์ด เคลลี (Dr. Howard Kelly)



คลิปโฆษณา ทรูมูฟ เอช






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายแพทย์ประจักษ์ อรุณทอง จากโฆษณาชุดการให้ มีตัวตนจริงหรือแค่ตัวละคร อัปเดตล่าสุด 19 กันยายน 2556 เวลา 15:30:23 278,294 อ่าน
TOP