เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ดร.โสภณ พรโชคชัย
โสภณ พรโชคชัย อัดคนค้านเขื่อนแม่วงก์ พยายามโกหกและบิดเบือนข้อมูล เหตุผลอ่อน ไม่สอดคล้องความจริง ชี้ หากมัวแต่กลัวการทุจริต ก็คงไม่ต้องทำโครงการใด ๆ
วันนี้ (4 ตุลาคม 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก ดร.โสภณ พรโชคชัย ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย นักวิชาการ มีการเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า ผู้ที่ต่อต้านนั้น พยายามโกหกและบิดเบือนข้อมูลของการสร้างเขื่อน โดยนำเหตุผลเรื่องความไม่คุ้มค่ามาอ้าง รวมถึงจะมีผลกระทบต่อสัตว์ป่า ซึ่งเหตุผลที่อ้างมานั้น ดูไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าใด อีกทั้งการที่นำเหตุผลด้านการทุจริตมาอ้าง ชีวิตนี้ก็คงไม่ต้องทำโครงการอะไรแล้ว
"การโกหกและบิดเบือนเพื่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ดร.โสภณ พรโชคชัย: www.facebook.com/dr.sopon4
หลายเหตุผลต่อการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เข้าข่ายโกหกบิดเบือนข้อมูลเพื่อลวงให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนไม่ดี ผมก็เห็นด้วยกับการรักษาสัตว์ป่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่การนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ควรนำเสนอด้วยความโปร่งใส เป็นจริงโดยไม่บิดเบือน และไม่ใช้การโน้มน้าวอารมณ์ความรู้สึกมาอยู่เหนือเหตุผล
ตัวอย่างแรกก็คือ การกล่าวถึงความไร้ประสิทธิภาพของเขื่อนแม่วงก์ในทำนองว่า ""ศศิน" ชี้เขื่อนแม่วงก์ป้องน้ำท่วม กทม. ได้แค่ 1%" {1} โดยดูจากปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2554 กรณีนี้ฟังดูแล้วในเบื้องต้นอาจเห็นว่าทางราชการ "ไม่บ้าก็เมาแล้ว" ที่ยังคิดสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ในความเป็นจริงอาจถือเป็นการบิดเบือนอย่างยิ่ง เพราะในปีดังกล่าว ต่อให้มีเขื่อนภูมิพลนับสิบเขื่อน ก็อาจไม่สามารถกักน้ำไว้ได้อยู่ดี
เขื่อนแม่วงก์ที่มีขนาด 13,000 ไร่นี้ {2} ใหญ่เพียง 2 เท่าของเขตสาทร ซึ่งเป็นเขตขนาดเล็ก ๆ ของกรุงเทพมหานครเท่านั้น จะไปใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร แค่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และแก้ไขภัยแล้งในพื้นที่ใกล้เคียงก็นับว่ามีประสิทธิผลสูงมากแล้ว
ตัวอย่างที่สองก็คือ บอกว่าใน "พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจำนวนมากเป็นอันดับสองของโลก" {3} ฟังดูแล้วน่าจะอนุรักษ์ไว้ ไม่ควรทำลายป่าเลย แต่ที่พูดนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ ต้องลองตรองดู เพราะพื้นที่ที่มีขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทรนี้จะมีเสือพร้อมสัตว์อื่นที่พร้อมจะเป็นอาหารเสืออีกหลายเผ่าพันธุ์ {4} ได้อย่างไร คงมีแต่เสือเดินผ่านมาจากป่าดิบในบริเวณอื่น
ถ้ามีเสือจริง ป่านนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือชาวบ้านแถวนั้นคงถูกเสือกัดตายไปแล้ว หรือถ้ามีคนอื่นเห็นจริง ก็คงต้องรีบตามล่ากันจ้าละหวั่นเหมือนที่เคยมีในบริเวณอื่นแล้ว {5} เพราะรอบ ๆ พื้นที่ชายป่าที่เรียกว่า "แม่วงก์" นี้ มีหมู่บ้านชาวบ้าน รีสอร์ต ฯลฯ เกิดขึ้นเต็มไปหมด ป่านนี้แต่ละบ้านคงได้แต่นั่งสวดมนต์แล้ว
ตัวอย่างที่สามก็คือ เรื่องต้นไม้ เหมือนกับว่าทางราชการ "เลว" มากที่ไม่เห็นแก่ต้นไม้ ไม่เห็นแก่สิ่งแวดล้อม โดยในเว็บไซต์ของมูลนิธิโลกสีเขียวเขียนว่า "การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น" {6} ผมมานั่งคำนวณดู พื้นที่ 13,000 ไร่ ก็คือ 20.8 ล้านตารางเมตร ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ 500,000 ต้น ๆ หนึ่งก็กินพื้นที่ 41.6 ตารางเมตร จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะพื้นที่แค่นั้นใหญ่กว่าขนาดรวม (gross) ของที่จอดรถ 1 คันเพียงเล็กน้อย ลองจินตนาการว่า พื้นที่ 41.6 ตารางเมตร (6.4 x 6.4 เมตร) จะมีไม้ใหญ่ 1 ต้น
ตัวอย่างที่สี่คือเรื่องคลองส่งน้ำที่มัก "ขู่" ชาวบ้านว่า ขนาดที่ดินที่จะใช้จะใหญ่กว่าเขื่อนเสียอีก {7} อาจทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินจากการเวนคืน ข้อนี้ในความเป็นจริง ในพื้นที่นี้มีคลองธรรมชาติขนาดเล็ก ๆ เป็นหลัก และมักถูกรุก ไม่มีแม่น้ำ ทำให้การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมและการชลประทานมีจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างคลองใหม่ (ตามข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่) เพราะลำพังคลองธรรมชาติไม่มีประสิทธิผลพอ แม้ไม่มีเขื่อนก็ยังต้องมีการก่อสร้างคูคลองระบายน้ำและการชลประทานอยู่ดี
ตัวอย่างที่ห้าคือเรื่องทุจริต มักมีการกล่าวอ้างกันเสมอว่าจะมีการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ของการก่อสร้างเขื่อน {8} เพื่อต่อต้านการก่อสร้างเขื่อน ข้อหาทุจริตเป็นข้อหาครอบจักรวาลที่สุดแท้จะ "ป้ายสี" แก่อีกฝ่ายหนึ่ง หากต้องการแก้ปัญหาทุจริต ก็ต้องตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ใช่ว่ามาตั้งข้อสังเกตลอย ๆ ในลักษณะนี้ ถ้าคิดแบบนี้ ก็คงไม่ต้องทำโครงการใด ๆ
ฝ่ายต่อต้านเขื่อนพยายามดึงความน่ารัก น่าสงสารของป่าไม้และสัตว์ป่ามาต่อต้าน พยายามล่ารายชื่อคนต้านให้ครบ 100,000 ราย แต่หากชาวบ้านรวมตัวกันและแสดงประชามติเกินกว่าที่มีคนค้าน ฝ่ายต่อต้านก็คงไม่ฟังเสียงอยู่ดี เพราะสำคัญตนว่าตนเองมีข้อมูลดีกว่า ทั้งที่ตรรกะหรือข้อมูลข้างต้น มีช่องโหว่ที่พึงฉงนมากมาย แต่ในนามของการ "ทำดี" เป็น "คนดี" ที่หวังดีต่อป่า เราก็อาจเชื่อตาม ๆ กันไปโดยไม่ตรวจสอบ
ผมก็ยังไม่ถึงขนาดสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อน เพราะผมยังต้องศึกษาข้อมูลให้มากกว่านี้ เพียงแต่ฟังข้อมูลฝ่ายต่อต้านด้วยวิจารณญาณแล้ว ไม่มั่นใจกับข้อมูลดังกล่าว ซึ่งดูจะพยายามปลุกระดมมวลชน ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
อ้างอิง
{1} ข่าว "ศศิน" ชี้เขื่อนแม่วงก์ป้องน้ำท่วม กทม. ได้แค่ 1% ถาม "ปลอดประสพ" หาที่ไหนปลูกป่า สำนักข่าว TNews : tnews.co.th
{2} เขื่อนแม่วงก์: wikipedia.org
{3} ข่าว "ศศิน" บุกสภาแจงกมธ. ยืนกรานเขื่อนแม่วงก์แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ khaosod.co.th
{4} Clip ป่าแม่วงก์ ที่เอาสัตว์หลากหลายที่มาลง ทำให้เข้าใจว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ที่บริเวณจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ youtube.com
{5} ถ้ามีเสือแถวที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์จริง ป่านนี้มีข่าวเช่นนี้แล้ว ชาวบ้านคงผวานอนไม่หลับ ออกล่าเสือ . . . ชาวบ้าน อ.ประทาย โคราช ออกไล่ล่าเสือโคร่ง หลังพบออกมาหากินในพื้นที่ (matichon.co.th) วอนอย่าล่า เสือ 2 ตัว หลังชาวบ้านพบใน ป่าชุมชนโป่งแดง (kapook.com) เสือเบตง สิ้นฤทธิ์ จับตายเสือเบตง หลังตะปบชาวบ้านดับ 3 ราย (kapook.com) ชาวบ้านขอนแก่นผวา เสือดาวบุกกินไก่ วอน จนท.เร่งล่า (thairath.co.th)
{6} มูลนิธิโลกสีเขียว 9 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ greenworld.or.th
{7} เขื่อนแม่วงก์ ตกลงคุ้มหรือไม่คุ้ม?: siamensis.org
{8} Clip ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ youtube.com"