สงครามเย็น ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของ 2 ขั้วมหาอำนาจ

สหพันธรัฐรัสเซีย สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก TASS / AFP


          สงครามเย็น หนึ่งในสงครามครั้งสำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลก แม้ว่า สงครามเย็นจะเป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งอุดมการณ์ทางการเมือง แต่มันก็ได้ลุกลามและแผ่ขยายจนสร้างความตึงเครียดไปทั่วโลก และวันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ สงครามเย็น มาให้เพื่อน ๆ ได้ทำความเข้าใจกันมากขึ้นค่ะ

          สำหรับ สงครามเย็น เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มประเทศ 2 กลุ่ม ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและระบอบการเมืองต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศโลกเสรี นำโดยสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงประมาณ ค.ศ.1945-1991 (พ.ศ. 2488-2534)

          โดยประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ทำสงครามกันโดยตรง แต่จะพยายามสร้างแสนยานุภาพทางการทหารของตนไว้ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม และสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนเข้าทำสงครามแทน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสงครามตัวแทน (Proxy War) เหตุที่เรียก สงครามเย็น เนื่องจากเป็นการต่อสู้กันระหว่างมหาอำนาจ โดยใช้จิตวิทยา ไม่ได้นำพาไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังทหารโดยตรง แต่ใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อการแทรกซึมบ่อนทำลาย การประณาม การแข่งขันกันสร้างกำลังอาวุธ และแสวงหาอิทธิพลในประเทศเล็ก


สาเหตุของสงครามเย็น


          สงครามเย็นมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ที่ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์และเขตอิทธิพล เพื่อครองความเป็นผู้นำของโลก โดยทั้งสองประเทศพยายามแสวงหาผลประโยชน์และเขตอิทธิพลในประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ยิ่งใหญ่หรือผู้นำทางการเมืองของโลกในสมัยก่อน คือ อังกฤษ เยอรมนี ได้หมดอำนาจลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนั่นเอง

ความเป็นมาของสงครามเย็น


          เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสหประชาชาติ ทำให้สหรัฐอเมริกาและโซเวียตขาดจุดมุ่งหมายที่จะดำเนินการร่วมกันอีกต่อไป และความขัดแย้งก็เริ่มต้นขึ้นหลังจากทั้งสองประเทศมีมุมมองต่ออนาคตของประเทศในยุโรปตะวันออกและประเทศเยอรมนีแตกต่างกัน และทำให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน กล่าวคือ เกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออกนั้น ประเทศทั้งสองได้เคยตกลงกันไว้ที่เมืองยัลต้า (Yalta) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 ว่า

          "……เมื่อสิ้นสงครามแล้ว จะมีการสถาปนาการปกครองระบบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้น" แต่พอสิ้นสงคราม โซเวียตได้ใช้ความได้เปรียบของตนในฐานะที่มีกำลังกองทัพอยู่ในประเทศเหล่านั้น สถาปนาประชาธิปไตยตามแบบของตนขึ้นที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยของประชาชน" ฝ่ายสหรัฐอเมริกาจึงทำการคัดค้าน เพราะประชาธิปไตยตามความหมายของสหรัฐอเมริกา หมายถึง "เสรีประชาธิปไตยที่จะเปลี่ยนรัฐบาลได้โดยวิธีการเลือกตั้งที่เสรี" ส่วนโซเวียตก็ยืนกรานไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

 
          ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวกับประเทศเยอรมนีก็เช่นกัน เพราะโซเวียตไม่ยอมปฏิบัติการตามการเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาที่ให้มีการรวมเยอรมนี และสถาปนาระบอบเสรีประชาธิปไตยในประเทศนี้ตามที่ได้เคยตกลงกันไว้

          ความไม่พอใจระหว่างประเทศทั้งสองเพิ่มมากขึ้น เมื่อประธานาธิบดีทรูแมน (Harry S. Truman) ของสหรัฐอเมริกา ได้สนับสนุนสุนทรพจน์ของอดีตนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิล (Sir. Winston Churchill) ของอังกฤษ ซึ่งได้กล่าวในรัฐมิสซูรี เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1946 ว่า "ม่านเหล็กได้ปิดกั้นและแบ่งทวีปยุโรปแล้ว ขอให้ประเทศพี่น้องที่พูดภาษาอังกฤษด้วยกัน ร่วมมือกันทำลายม่านเหล็ก (Iron Curtain)" ซึ่งหมายความว่า เชอร์ชิลล์เรียกร้องให้มีการจับขั้วพันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สร้างม่านเหล็กกั้นยุโรป และด้วยสุนทรพจน์นี้เอง ทำให้ประเทศในโลกนี้แตกออกเป็นสองฝ่ายระหว่างประเทศประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน

          ส่วนปัญหาที่แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันในการเป็นผู้นำของโลกแทนมหาอำนาจยุโรปก็คือ การที่สหรัฐอเมริกาสามารถบังคับให้โซเวียตถอนทหารออกจากอิหร่านได้สำเร็จในปี ค.ศ.1946 ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.1947 อังกฤษได้ประกาศสละความรับผิดชอบในการช่วยเหลือกรีซ และตุรกี ให้พ้นจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ เพราะไม่มีกำลังพอที่จะปฏิบัติการได้ และร้องขอให้สหรัฐอเมริกาเข้าทำหน้าที่นี้แทน
 
          ประธานาธิบดีทรูแมนจึงตกลงเข้าช่วยเหลือและประกาศหลักการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาให้โลกภายนอกทราบว่า "……จากนี้ไปสหรัฐอเมริกาจะเข้าช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศที่รักเสรีทั้งหลายในโลกนี้ให้พ้นจากการคุกคามโดยชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ…" หลักการนี้เรียกกันว่า หลักการทรูแมน (Truman Doctrine)

          จากนั้น สหรัฐอเมริกาก็แสดงให้ปรากฏว่า ตนพร้อมที่จะใช้กำลังทหารและเศรษฐกิจ สกัดกั้นการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ทุกแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรป เอเชีย หรือแอฟริกา ทำให้ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1947 ผู้แทนของโซเวียตได้ประกาศต่อที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกที่นครเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย ว่า "…..โลกได้แบ่งออกเป็นสองค่ายแล้วคือ ค่ายจักรวรรดินิยมอเมริกันผู้รุกราน กับค่ายโซเวียตผู้รักสันติ…และเรียกร้องให้คอมมิวนิสต์ทั่วโลก ช่วยสกัดกั้นและทำลายสหรัฐอมริกา…." ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าถ้อยแถลงของผู้แทนโซเวียตนี้เป็นการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ

          อย่างไรก็ตาม สงครามเย็นที่มีลักษณะเป็นทั้งการขัดแย้งทางอุดมการณ์และการแข่งขันเพื่อกำลังอำนาจของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ซึ่งต้องการที่จะเป็นผู้นำโลก ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ลดความรุนแรง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศสำคัญ 2 ประการคือ
   

1. การดำเนินนโยบาย "การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ" (Peaceful Co-existence) 


          ของประธานาธิบดี นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ของโซเวียต เนื่องจากเกรงว่าอำนาจนิวเคลียร์ที่โซเวียตและสหรัฐอเมริกามีเท่าเทียมกัน อาจถูกนำมาใช้ในกรณีที่ความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายมีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังเชื่อว่าประเทศที่มีลัทธิการเมืองและลัทธิเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จะสามารถติตดต่อค้าขายและมีความสัมพันธ์ต่อกันได้ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในซึ่งกันและกัน ดังนั้น การต่อสู้ระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์อาจจะเอาชนะกันได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง

          อย่างไรก็ตาม หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติของโซเวียต เป็นเพียงแต่การเปลี่ยนจากการมุ่งขยายอิทธิพลด้วยสงครามอย่างเปิดเผยไปเป็นสงครามภายในประเทศและการบ่อนทำลาย ฉะนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาและโซเวียตต่างใช้วิธีการทุกอย่างทั้งด้านการทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ ในการแข่งขันกันสร้างความนิยม ความสนับสนุนและอิทธิพลในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก โดยหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธและการประจันหน้ากันโดยตรง

2. ความแตกแยกในค่ายคอมมิวนิสต์ระหว่างโซเวียตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน 


          ซึ่งเริ่มปรากฏตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา และเมื่อจีนสามารถทดลองระเบิดปรมาณูสำเร็จและกลายเป็นประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ในปี ค.ศ. 1964 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองก็เสื่อมลง จนถึงขึ้นปะทะกันโดยตรงด้วยกำลังในปี ค.ศ. 1969 จากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์และการแข่งขันกันเป็นผู้นำในโลกคอมมิวนิสต์ ระหว่างจีนกับโซเวียต มีผลทำให้ความเข้มแข็งของโลกคอมมิวนิสต์ลดน้อยลง และมีส่วนผลักดันให้จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ ไปสู่การปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในที่สุด

          ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจเริ่มคืนสู่สภาวะปกติ โดยใช้วิธีการหันมาเจรจาปรับความเข้าใจกัน ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับที่เอื้อต่อผลประโยชน์ และความมั่นคงปลอดภัยของ ประเทศตน ระยะนี้จึงเรียกว่า "ระยะแห่งการเจรจา" (Era of Negotiation) หรือระยะ "การผ่อนคลายความตึงเครียด" (Detente) โดยเริ่มจากสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งเป็นผู้ปรับนโยบายจากการเผชิญหน้ากับโซเวียต มาเป็นการลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ต่อกัน

           นอกจากนี้ยังได้เปิดการเจรจาโดยตรงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ทั้งนี้เพราะตระหนักว่าจีนได้กลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อีกชาติหนึ่ง และกำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ทั้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรป

          ดังนั้น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1971 สหรัฐอเมริกาได้ส่งนายเฮนรี่ คิสชินเจอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่ชาติ เดินทางไปปักกิ่งอย่างลับ ๆ เพื่อหาลู่ทางในการเจรจาปรับความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งนำไปสู่การเยือนปักกิ่งของ ประธานาธิบดีนิกสัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 และได้ร่วมลงนามใน "แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้" (Shanghai Joint Communique) กับอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ซึ่งมีสาระที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกายอมรับว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐบาลอันชอบธรรมเพียงรัฐบาลเดียวและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน จากนั้นมาทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1979

          นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและโซเวียต ได้พยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะที่เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งจะเห็นได้จากการเปิดการ เจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ ครั้งแรกที่กรุงเฮลซิงกิ ที่เรียกว่า SALT-1 (Strategic Arms Limitation Talks) ในปี ค.ศ. 1972 ซึ่งเป็นการเริ่มแนวทางที่จะให้เกิดความร่วมมือและสันติภาพ ในปีเดียวกันนี้ประธานาธิบดีนิกสันก็ได้ไปเยือนโซเวียต ส่วนเบรสเนฟเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของโซเวียต ก็ได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1973 ต่อมาประเทศทั้งสองได้เจรจาร่วมลงนามในสนธิสัญญาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 2 (SALT-2) ที่เวียนนา ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1979 ซึ่งมีผลทำให้โซเวียตมีความเท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกา ทั้งทางการเมืองและทางแสนยานุภาพ นอกจากนั้นยังได้รับผลประโยชน์ทางการค้ากับฝ่ายตะวันตกเพิ่มมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโซเวียตจะยอมร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในบางกรณีที่เป็นผลประโยชน์แก่ตน แต่โซเวียตก็ยังคงดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลเข้าไปในดินแดนต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา แต่โซเวียตก็พยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งที่จะนำไปสู่การทำลายสภาพการผ่อนคลายความตึงเครียด ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งและอาจจะไปสู่สงครามได้


ความเป็นมาของ สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก TASS / AFP

วิธีการที่ใช้ในสงครามเย็น


          อย่างที่ทราบกันว่า สงครามเย็น ไม่ใช่สงครามที่ใช้การจับอาวุธมาเผชิญหน้าห้ำหั่นกันเหมือนสงครามทั่วไป หากแต่ใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ดังนี้
 

1. การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) 


          เป็นวิธีการหนึ่งที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายคอมมิวนิสต์นิยมใช้ เพื่อสร้างความรู้สึกและทัศนะที่ดีเกี่ยวกับประเทศของตน โดยใช้คำพูด สิ่งตีพิมพ์ และการเผยแพร่เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชนในประเทศของตน เพื่อแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายที่รักความยุติธรรม รักเสรีภาพและสันติภาพ ขณะเดียวกันก็ประณามฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นฝ่ายรุกราน เป็นจักรวรรดินิยม เป็นต้น

2. การแข่งขันทางด้านอาวุธ 


          สหรัฐอเมริกาและโซเวียตต่างพยายามแข่งขันกันสร้างเสริมกำลังอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงไว้ครอบครองให้มากที่สุด จนกระทั่งต่างฝ่ายต่างมีจำนวนอาวุธยุทธศาสตร์ในปริมาณและสมรรถนะที่เกินความต้องการ ในเรื่องนี้นานาประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ได้พยายามให้มีข้อตกลงในเรื่องการจำกัดการสร้าง และการเผยแพร่อาวุธตลอดมา แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร

อาวุธยุทธศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายแข่งขันกัน ได้แก่


          2.1 ขีปนาวุธข้ามทวีป ชนิดที่ยิงจากไซโลในพื้นดินไปสู่อวกาศ และตกกลับสู่ห้วงอวกาศตกไปยังเป้าหมาย มีชื่อเรียกทั้งระบบว่า ICEM –(Inter Continental Ballistic Missiles) มีทั้งระบบทำลายและระบบป้องกัน

          2.2 เรือดำน้ำนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธ

          2.3 เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะทำการไกล

          อาวุธดังกล่าวถือว่า เป็นอาวุธยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ (Strategic Nuclear Forces) ที่สหรัฐอเมริกาและโซเวียตมีสมรรถนะเท่าเทียมกัน และเหนือกว่าประเทศทั้งมวลในโลก นอกจากนี้อภิมหาอำนาจทั้งสอง ยังแข่งขันกันคิดค้นระบบการป้องกันขีปนาวุธในอวกาศซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ในอวกาศที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Strategic Defense Initative (SDI) ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปว่า สตาร์ วอร์ส (Star Wars)

ความขัดแย้งของประเทศประชาธิปไตย และสังคมนิยมในภาวะสงครามเย็น


          ความขัดแย้งระหว่างอภิมหาอำนาจได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ขึ้นในหลายภูมิภาค ดังนี้

วิกฤตการณ์เบอร์ลิน

   
          เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี ค.ศ. 1945 เยอรมนีแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยสนธิสัญญาปอทสดัม (Treaty of Potsdam) นั้น ได้ให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ครอบครอง 3 ส่วนร่วมกันเรียกว่าเยอรมนีตะวันตก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งให้โซเวียตปกครองเรียกว่า เยอรมนีตะวันออก ทำให้กรุงเบอร์ลินนครหลวงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายพันธมิตรตะวันตกเรียกว่า เบอร์ลินตะวันตก

วิกฤตการณ์เบอร์ลิน สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก GÜNTER BRATKE / DPA / AFP

          ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1948 โซเวียตได้ปิดกั้นเส้นทางคมนาคมทางบกที่ผ่านไปยังเบอร์ลินตะวันตก ทำให้พันธมิตร 3 ชาติ ไม่สามารถส่งอาหารและสินค้าต่าง ๆ ไปยังเบอร์ลินตะวันตกได้ เพื่อบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกละทิ้งเบอร์ลิน การปิดล้อมครั้งนี้ใช้เวลาเกือบ 1 ปี โดยพันธมิตร 3 ประเทศได้ช่วยกันใช้เครื่องบินลำเลียงสิ่งของ เช่น อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรคให้แก่ชาวเบอร์ลินตะวันตก เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การแบ่งแยกเยอรมนีเป็น 2 ประเทศ และแบ่งเบอร์ลินเป็น 2 ส่วนอย่างถาวร เรียกว่าวิกฤตการณ์เบอร์ลิน

          โดยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสได้รวมเขตการปกครองของตนเข้าด้วยกันเป็นประเทศเอกราชเรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) ฝั่งโซเวียตก็สถาปนาเขตที่ตนเองปกครองเรียกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) เมื่อแบ่งประเทศแล้ว ชาวเยอรมันตะวันออกได้อพยพมาอยู่ในเขตตะวันตกมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้โซเวียตต้องสร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์ กั้นระหว่างเบอร์ลินใน ค.ศ.1961 เรียกว่า กำแพงเบอร์ลิน

           กำแพงเบอร์ลินถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญหนึ่งของสงครามเย็น และถูกทำลายไปเมื่อ ค.ศ. 1989 ขณะที่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต ยินยอมให้เยอรมนีทั้งสองตัดสินใจอนาคตตนเอง โดยสหภาพโซเวียตจะไม่เข้าแทรกแซง ภายหลังจึงมีการรวมเยอรมนีเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการ เรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

          ทั้งนี้ ถือได้ว่าวิกฤตการณ์เบอร์ลิน เป็นผลทำให้สภาวการณ์เผชิญหน้ากันในสงครามเย็นทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น และมีการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกกับสหรัฐอเมริกา และประเทศเสรีประชาธิปไตย เพื่อขจัดการแทรกแซงและขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์กันเป็นระบบ เช่น สหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับประเทศโลกเสรีก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาทางทหาร เช่น องค์การนาโต้ องค์การซีโต้ องค์การนานารัฐอเมริกาตลอดรวมถึง การตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกา ในเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศอื่นอีกหลายประเทศทั่วโลก

วิกฤตการณ์เบอร์ลิน สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก GERARD MALIE / AFP


วิกฤตการณ์คาบสมุทรเกาหลี


          ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คาบสมุทรเกาหลีได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 คาบสมุทรเกาหลีได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ โดยโซเวียตควบคุมดูแลดินแดนส่วนเหนือหรือเกาหลีเหนือ และสหรัฐอเมริกาดูแลดินแดนทางใต้ของเส้นขนานที่ 38 เรียกว่า เกาหลีใต้

วิกฤตการณ์คาบสมุทรเกาหลี สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก AFP

          ในปี ค.ศ. 1948 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มถอนทหารออกจากดินแดนดังกล่าว ทั้งนี้ เกาหลีเหนือมีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ คิม อิล ซุง ส่วนในเกาหลีใต้นั้นมีการปกครองในแบบประชาธิปไตยภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา

          ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 เกาหลีเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต ได้โจมตีเกาหลีใต้เพื่อรวมเกาหลีทั้งหมดให้อยู่ภายใต้คอมมิวนิสต์ โดยคิดว่า สหรัฐอเมริกาคงจะไม่ปกป้องเกาหลีใต้ เพราะผู้นำของสหรัฐอเมริกาได้เคยประกาศว่า แนวป้องกันของสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่หมู่เกาะชายฝั่งตั้งแต่ญี่ปุ่นถึงฟิลิปปินส์ แต่เมื่อกองทัพของเกาหลีเหนือรุกผ่านเส้นขนานที่ 38 ลงสู่เกาหลีใต้อย่างรวดเร็ว สหรัฐอเมริกาได้มองการโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการท้าทายของฝ่ายคอมมิวนิสต์และเป็นการพยายามที่จะขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามาในเอเชีย

           สหรัฐอเมริกาได้ประท้วงการรุกรานเกาหลีใต้ต่อคณะมนตรีความมั่นคงและองค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้มีมติให้ดำเนินการตอบโต้ โดยกำลังทหารของสหประชาชาติและของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกแมคอาร์เธอร์ ได้โจมตีกำลังของฝ่ายเกาหลีเหนือจนถอยร่นไปถึงเส้นขนานที่ 38 ทำให้ผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนออกแถลงการณ์เตือนมิให้กำลังของฝายสหประชาชาติและของสหรัฐอเมริกาล่วงล้ำเลยเข้าไปในดินแดนเกาหลีเหนือ มิฉะนั้นจีนจะเข้าสู่สงครามด้วย เพราะจีนเกรงว่าถ้าเกาหลีเหนือถูกยึดครอง จีนจะขาดรัฐกันชน และเป็นการคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของจีน

          แต่ทว่า กองกำลังของสหประชาชาติไม่สนใจคำเตือนของจีน ตัดสินใจรุกข้ามเส้นขนานที่ 38 จีนจึงส่งกองกำลังข้ามพรมแดนจีนที่แม่น้ำยาลู เข้าสู่คาบสมุทรเกาลีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1950 และปะทะกับทหารสหประชาชาติในเดือนพฤศจิกายน การสู้รบเป็นไปอย่างยืดเยื้อโดยไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจีนจะสูญเสียกำลังเป็นอย่างมาก

          ขณะที่ประธานาธิบดีทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกาได้มีความเห็นขัดแย้งกับพลเอกแมคอาเธอร์เกี่ยวกับนโยบายในการทำสงคราม โดยประธานาธิบดีทรูแมนต้องการจำกัดการปฏิบัติการทางทหาร เพราะไม่ต้องการให้สงครามขยายตัวจนอาจเป็นสงครามโลกได้ แต่นายพลแมคอาเธอร์ไม่เห็นด้วย ประธานาธิบดีทรูแมนจึงได้สั่งปลดนายพลแมคอาเธอร์ออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1951

           ต่อมาในเดือนมิถุนายน โซเวียตเสนอให้มีการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในเกาหลี การเจรจาได้ดำเนินอยู่หลายปี ก็สามารถลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือฝ่ายหนึ่ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1953 สงครามในคาบสมุทรเกาหลีจึงได้ยุติลง แต่ความตึงเครียดบริเวณพรมแดนที่เส้นขนานที่ 38 ยังคงดำรงอยู่

          สงครามเกาหลีได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียหลายประการ เนื่องจากสงครามเกาหลีนับเป็นการเผชิญหน้าทางทหารครั้งแรกระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาและประณามว่าเป็นผู้รุกรานและก้าวร้าว คำประณามของสหรัฐอเมริกาทำให้ภาพพจน์ของจีนเสียหายในสายตาของชาวโลก เพราะมองว่าการที่จีนจำต้องเข้าร่วมรบในสมรภูมิเกาหลี ก็เพื่อป้องกันมิให้เกาหลีเหนือถูกยึดครอง ซึ่งจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของจีนและยิ่งไปกว่านั้นในการร่วมสงครามครั้งนี้ จีนต้องสูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งจีนมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้จีนต้องชะลอการฟื้นฟูบูรณะประเทศไป


วิกฤตการณ์อินโดจีน


เวียดนาม


          เวียดนาม ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1883 ทำให้ใน ปี ค.ศ. 1898 ฝรั่งเศสได้รวมเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ไว้ภายใต้การปกครองเรียกว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงไซ่ง่อน และฝรั่งเศสก็ได้ส่งข้าหลวงใหญ่มาปกครอง

          เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองอินโดจีน และได้ประกาศมอบเอกราชให้เวียดนามในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 โดยเชิญพระจักรพรรดิเบาได๋ (Bao Dai) ขึ้นเป็นประมุข เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม โฮจิมินห์ นักปฏิวัติชาวเวียดนาม จึงนำกองทัพเวียดมินห์ เข้ายึดครองเวียดนาม และประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 เปลี่ยนชื่อประเทศเวียดนาม เป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม” โดยมี โฮจิมินห์เป็นประธานาธิบดี และนายฟาม-วันดง เป็นนายกรัฐมนตรี

          แต่เมื่อญี่ปุ่นถอนทหารออกไปจากเวียดนามหมดแล้ว ฝรั่งเศสกลับเข้ามาในเวียดนามอีก จึงเกิดการสู้รบกับกองกำลังเวียดมินห์ การสู้รบดำเนินไปถึงวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 กองทัพเวียดมินห์สามารถยึดป้อมเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝรั่งเศสได้ ฝรั่งเศสยอมเจรจาสงบศึกที่กรุงเจนีวา (Jeneva) ส่งผลให้เวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ จัดการปกครองแบบสังคมนิยม และเวียดนามใต้จัดการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีเส้นขนานที่ 17 เป็นเส้นแบ่งเขตแดน

           สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารแก่เวียดนามใต้เพื่อให้มีความเข้มแข็ง สามารถต้านทานอิทธิพลของเวียดนามเหนือได้ แต่ประธานาธิบดีโงดินเดียม (Ngo Dinh Diem) บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนผนึกกำลังกันจัดตั้ง "แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติ" หรือที่เรียกว่า "เวียดกง" เพื่อโค่นล้มรัฐบาลโดยใช้ยุทธวิธีการรบแบบสงครามกองโจร และได้รับการสนับสนุนด้วยอาวุธจากเวียดนามเหนือ จีน และโซเวียต

           เวียดนามใต้ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมั่นคงได้ การสู้รบระหว่างเวียดกงกับรัฐบาล จึงขยายตัวอย่างกว้างขวาง สหรัฐอเมริกาจึงส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการเป็นจำนวนถึง 500,000 คน ในปี ค.ศ. 1968 สงครามเวียดนามจึงกลายเป็นสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับทหารเวียดนามเหนือและเวียดกง สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเททั้งกำลังทหารและพยายามใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ ในการสู้รบ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามได้

           เมื่อประธานาธิบดีนิกสันได้รับเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1969 ได้ประกาศลัทธินิกสัน (Nixon Doctrine) และพยายามหาทางเจรจายุติสงคราม ในที่สุดก็สามารถลงนามในข้อตกลงด้วยการยุติสงครามตามข้อตกลงปารีส เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1973 หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนามใต้แล้ว การสู้รบระหว่างเวียดนามใต้กับเวียดนามเหนือก็ยังคงดำเนินอยู่จนถึงวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975 เวียดนามเหนือมีชัยชนะต่อเวียดนามใต้และได้รวมประเทศเวียดนามได้สำเร็จ

เวียดนาม สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก OFF / INTERCONTINENTALE / AF

กัมพูชา


          กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสตามข้อตกลงเจนีวา เมื่อปี ค.ศ. 1954 โดยมีเจ้านโรดมสุรามริต เป็นกษัตริย์ ส่วนเจ้านโรดมสีหนุ ได้ตั้งพรรคการเมือง คือ Popular Socialist Party เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1955 เมื่อเจ้านโรดม สุรามริตสวรรคต ในปี ค.ศ. 1960 เจ้านโรดมสีหนุจึงรวมอำนาจทางการเมืองและประมุขประเทศเข้าด้วยกัน

          ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เจ้านโรดมสีหนุได้ประกาศนโยบายเป็นกลางเพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทั้งสองฝ่าย และเจ้านโรดมสีหนุยังยอมให้เวียดกง และกองทัพเวียดมินห์เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดนเพื่อสะดวกในการเข้าไปปฏิบัติงานในเวียดนามใต้ กัมพูชาจึงเป็นเป้าหมายให้เวียดนามใต้โจมตี ทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาตามแนวชายแดนได้รับความเดือดร้อน

           ปี ค.ศ. 1970 นายพลลอนนอล ทำการยึดอำนาจจากเจ้านโรดมสีหนุ ในขณะที่พระองค์เสด็จเยือนโซเวียตและจีน นายพลลอนนอลได้จัดตั้งรัฐบาล เจ้านโรดมสีหนุจึงเสด็จลี้ภัยไปประทับที่กรุงปักกิ่งและสนับสนุนให้คอมมิวนิสต์กัมพูชา "เขมรแดง" ทำการสู้รบกับรัฐบาลนายพลลอนนอล

           สหรัฐอเมริกาจึงส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการสู้รบกับฝ่ายเขมรแดง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกองกำลังเขมรแดงซึ่งมีนายพลพต (Pol Pot) เป็นผู้นำได้ ในที่สุดเขมรแดงก็เข้ายึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1975 ได้จัดการปกครองแบบสังคมนิยม และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย

           ต่อมาเวียดนามสนับสนุนให้นายเฮง สัมริน (Heng Samrin) เข้ายึดอำนาจจากนายพลพต และยึดกรุงพนมเปญได้เมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1979 ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่จึงอพยพมาตั้งมั่นอยู่ตามแนวชายแดนไทย โดยแยกเป็น 3 ฝ่าย คือ เขมรรักชาติภายใต้การนำของเจ้านโรดมสีหนุ เขมรสรีภายใต้การนำของนายซอนซานน์ (Son Sann) และเขมรแดงภายใต้การนำของนายเขียว สัมพันธ์ (Khieu Samphan) เขมรทั้ง 3 ฝ่ายได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) ประเทศมาเลเซีย โดยได้รับการรับรองจากสหประชาชาติและทำการสู้รบกับกลุ่มเฮง สัมริน เรื่อยมาตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1979 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1991 จึงได้ลงนามสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

           หลังจากนั้นสหประชาชาติได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ถ่ายโอนอำนาจที่เรียกว่า UNTAC (United Nations Transitional Authority in Cambodia) มีนายยาซูซิ อะกาชิ เป็นหัวหน้า เข้าไปปฏิบัติงานในกัมพูชาเพื่อเตรียมอพยพผู้คนจากศูนย์อพยพตามแนวชายแดนไทยและเตรียมการเลือกตั้งวันที่ 23-28 พฤษภาคม ค.ศ. 1993 กัมพูชาจัดการเลือกตั้งแต่เขมรแดงไม่ยอมเข้าร่วมเพราะต้องการผลักดันชาวเวียดนามให้ออกจากกัมพูชา

           ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฟุนชินเปก ของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ได้รับชัยชนะเหนือพรรคประชาชนกัมพูชา ของนายฮุนเซน (Hun Sen) และทั้งสองพรรคได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลปกครองกัมพูชา โดยมีเจ้านโรดมรณฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และนายฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2


ลาว


           ฝรั่งเศสได้ผนวกลาวเข้าเป็นอาณานิคม เมื่อปี ค.ศ. 1898 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อปี ค.ศ. 1944 ญี่ปุ่นเข้ายึดครองลาวและสนับสนุนให้ลาวประกาศเอกราช พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ จึงทรงประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1944

           แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามามีอำนาจ ในลาวอีก ทำให้พวกชาตินิยมไม่พอใจ เจ้าเพชราช จึงจัดตั้ง "ขบวนการลาวอิสระ" ขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1945 และจัดตั้งรัฐบาลที่กรุงเวียงจันทน์ ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1949 อย่างไรก็ตาม แม้ฝรั่งเศสจะให้เอกราชแก่ลาว แต่ฝรั่งเศสยังควบคุมนโยบายที่สำคัญ ๆ เช่น การทหาร เศรษฐกิจ และด้านต่างประเทศ

          จากการที่ฝรั่งเศสให้เอกราชแก่ลาวไม่สมบูรณ์ ทำให้ขบวนการลาวอิสระแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเจ้าบุญอุ้ม ณ จัมปาศักดิ์ และเจ้าสุวรรณภูมา ซึ่งยอมรับข้อเสนอของฝรั่งเศสเพื่อประนีประนอม ส่วนเจ้าสุภานุวงศ์ต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ จึงขอความช่วยเหลือจากขบวนการเวียดมินห์ของโฮจิมินห์ และได้ก่อตั้งขบวนการกู้ชาติคือ "ขบวนการประเทดลาว" โดยจัดตั้งรัฐบาลที่แคว้นซำเหนือ เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้เวียดนามที่เดียนเบียนฟู (Dienbienphu) ลาวจึงได้รับเอกราชตามข้อตกลงที่เจนีวา ปี ค.ศ. 1954

           หลังจากได้รับเอกราช ลาวแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ทางเหนือ ได้แก่ แขวงพงศาลีและซำเหนือ อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าสุภานุวงศ์ ส่วนทางใต้อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าสุวรรณภูมา ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1957 ลาวทั้ง 2 ฝ่าย ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยมีเจ้าสุวรรณภูมา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายร่วมกันได้

          ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1960 ร้อยเอกกองแล ทำการปฏิวัติจัดตั้งรัฐบาลโดยมี เจ้าสุวรรณภูมา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่บริหารประเทศได้ไม่นานก็ถูกนายพลภูมีหน่อสวัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาทำการปฏิวัติและจัดตั้งรัฐบาลโดยมีเจ้าบุญอุ้ม ณ จัมปาศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ลาวได้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ


               1. ลาวฝ่ายซ้าย – ภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์

               2. ลาวฝ่ายขวา  - ภายใต้การนำของนายพลภูมีหน่อสวัน

               3. ลาวฝ่ายกลาง – ภายใต้การนำของเจ้าสุวรรณภูมา

          ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1962 ลาวทั้ง 3 ฝ่ายได้จัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลผสมไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ทหารต่างชาติ ซึ่งได้แก่ โซเวียต จีน และเวียดนาม รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ต่างก็ประจำอยู่ในลาวเพื่อให้การช่วยเหลือลาวฝ่ายที่ตนให้การสนับสนุน

          สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนให้นายพลวังเปาจัดตั้งกองทัพแม้ว มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ล่องแจ้ง โดยมีศูนย์การฝึกอยู่ที่ จ.อุดรธานี สงครามในลาวจึงได้เกิดขึ้น โดยรัฐบาลของเจ้าสุวรรณภูมาไม่สามารถสกัดกั้นไว้ได้
 
          เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากอินโดจีน ตามวาทะนิกสัน ขบวนการปะเทดลาวจึงยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้จัดตั้งรัฐบาลผสมอีกครั้ง โดยมีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1975 ขบวนการปะเทดลาวหรือลาวฝ่ายซ้าย ก็สามารถยึดอำนาจการปกครองลาวได้ ลาวดำเนินการปกครองตามแนวสังคมนิยม โดยมีเจ้าสุภานุวงศ์ เป็นประธานาธิบดี และนายไกรสร พรหมวิหาร เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันผู้นำประเทศลาวเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นประธานประเทศ


วิกฤตการณ์ช่องแคบฟอร์โมซา


           แต่เดิมเกาะไต้หวันมี ชื่อว่า เกาะฟอร์โมซา (Formosa) หรือ Ilha Formosa ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า "เกาะสวยงาม" เนื่องจากประเทศโปรตุเกสเคยเดินทางมายังเกาะนี้และได้ตั้งชื่อเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ยึดเอามาเป็นอาณานิคม

          ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1954 จีนมีนโยบายที่จะรวมไต้หวันกลับคืนมาเป็นของจีน แต่ทางสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองเรือที่ 7 มาลาดตระเวนในทะเลจีนตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ช่องแคบไต้หวัน ทำให้จีนพยายามผลักดันให้สหรัฐอเมริกาออกจากบริเวณนี้ ด้วยการระดมยิงหมู่เกาะนอกฝั่งที่ช่องแคบไต้หวัน อันได้แก่ เกาะคีมอยและเกาะมัทสุ

          สหรัฐอเมริกามองว่าจีนเป็นผู้รุกราน ดังนั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1954 สหรัฐอเมริกาจึงออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐอเมริกาจะป้องกันเกาะคีมอยและเกาะมัทสุ เช่นเดียวกับเกาะไต้หวัน จากนั้น สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองทหารไปประจำที่ไต้หวันและได้ลงนามในสัญญาพันธมิตรทางทหารเพื่อการป้องกันร่วมกันกับไต้หวัน

          เมื่อจีนเห็นว่าวิธีการของตนไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กลับทำให้สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวันยิ่งขึ้น จีนจึงลดการะดมยิงและยุติไปในที่สุด ขณะที่สหรัฐอเมริกามองว่าจีนเป็นตัวแทนของโซเวียต เพราะจีนได้ลงนามในสัญญามิตรภาพ พันธมิตรและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นเวลา 30 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 สหรัฐอเมริกาจึงเริ่มนโยบายปิดล้อม (Containment Policy) เข้ามาในเอเชีย โดยการทำสัญญาพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย เป็นต้น


วิกฤตการณ์คิวบา


          คิวบาได้เปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 เมื่อนายฟิเดล คาสโตร สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการของนายพลบาติสตา (Batista) ซึ่งสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่ คาสโตรต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในคิวบาให้มีความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยดำเนินการปฏิรูปที่ดินและปรับปรุงสวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชน

          คาสโตรเป็นนักปฏิวัติชาตินิยมและต่อต้านสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกาเข้าครอบงำและมีอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในคิวบามาเป็นเวลาช้านาน อีกทั้งยังมีฐานทัพอยู่ที่กวนตานาโม (Guantanamo) บนเกาะคิวบา คาสโตรจึงรู้สึกหวาดระแวงสหรัฐอเมริกาและมีนโยบายใกล้ชิดกับประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเวียตซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านทหารและทางเศรษฐกิจแก่คิวบา

          ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างคิวบากับโซเวียตทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ เพราะจะช่วยขยายอิทธิพลของโซเวียตแถบทะเลแคริบเบียนและอเมริกากลาง ในขณะเดียวกันชาวคิวบาที่ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการฝึกฝนและสนับสนุนจากองค์การข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอของสหรัฐอเมริกาให้ยกพลขึ้นบกในคิวบาเพื่อโค่นล้มคาสโตร แผนการนี้ได้เริ่มในปลายสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์ ต่อมาเมื่อได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดีเคเนดี้


วิกฤตการณ์คิวบา สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก AFP

           กองกำลังคิวบาลี้ภัยได้ยกพลขึ้นบกที่เบย์ ออฟ พิกส์ (Bay of Pigs) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 เพียง 3 เดือนภายหลังจากที่เคเนดี้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยผู้ลี้ภัยคิวบาเหล่านี้ คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการโค่นอำนาจคาสโตร แต่การยกพลขึ้นบกครั้งนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะขาดการวางแผนที่ถูกต้องและการประสานงานกับชาวคิวบาที่ต่อต้านคาสโตรภายในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น กองกำลังปฏิวัติของคาสโตรสามารถจับกุมชาวคิวบาลี้ภัยเหล่านี้และใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกา ภาพพจน์ของสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดีเคเนดี้ต้องเสียหายอย่างมากจากกรณีการบุกคิวบาในครั้งนี้

          คิวบาได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในปีต่อมา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาได้ค้นพบจากภาพถ่ายทางอากาศว่า โซเวียตกำลังสร้างฐานส่งขีปนาวุธนิวเคลียร์บนเกาะคิวบา ซึ่งถ้าหากสร้างสำเร็จและติดตั้งขีปนาวุธได้ก็จะเปรียบประดุจมีขีปนาวุธนิวเคลียร์อยู่หน้าประตูบ้านของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

          ขณะที่ ครุสชอฟ ประธานาธิบดีของโซเวียต คงคิดว่าจะสามารถลอบสร้างฐานยิงจนเสร็จ และเมื่อติดตั้งขีปนาวุธแล้วสหรัฐอเมริกาก็คงไม่กล้าทำอะไร เพราะจะเป็นการเสี่ยงอย่างมากต่อสงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งสหรัฐอเมริกาก็ดูเหมือนจะไม่กล้าใช้กำลังรุนแรงโซเวียต เพราะเชื่อว่าตนจะได้เปรียบทางยุทธศาสตร์และจะทำให้พันธมิตรนาโต้ของสหรัฐอเมริกาหมดความเชื่อถือว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถปกป้องยุโรปตะวันตกได้เมื่อเกิดสงคราม

          แต่ผู้นำของโซเวียตก็คาดคะเนผิดพลาด เพราะประธานาธิบดีเคเนดี้ของสหรัฐอเมริกาได้ตอบโต้อย่างหนักแน่นโดยการปิดล้อมคิวบา ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดีเคเนดี้ได้แจ้งให้โซเวียตทราบถึงการปิดล้อมคิวบา พร้อมเตือนโซเวียต ในระหว่างวิกฤตการณ์กองกำลังยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาได้เตรียมพร้อมต่อการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกาได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปชี้แจงสถานการณ์พร้อมด้วยภาพถ่ายและหลักฐานอื่น ๆ ต่อคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติและพันธมิตรในยุโรป

          จุดวิกฤตของสถานการณ์ครั้งนี้ก็คือ เมื่อเรือสินค้าจำนวนหนึ่งของโซเวียต ซึ่งเชื่อว่าบรรทุกขีปนาวุธนิวเคลียร์เพื่อมาติดตั้งยังคิวบาได้เข้าใกล้กองเรือของสหรัฐอเมริกาที่กำลังปิดล้อมคิวบาอยุ่ในวันที่ 24 ตุลาคม แต่เรือเหล่านี้ก็หันลำกลับไปยังโซเวียต โดยมิได้ฝ่ากองเรือปิดล้อมเข้ามา ซึ่งถ้าหากโซเวียตไม่ยอมอ่อนข้อในกรณีนี้ สงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองก็อาจเกิดขึ้นได้

           อีก 4 วัน ต่อมา ครุสชอฟผู้นำของโซเวียตก็ยอมประนีประนอม และแถลงว่าจะถอนฐานยิงและจรวดต่าง ๆ ออกไปจากคิวบา ถ้าหากสหรัฐอเมริกายอมตกลงที่จะไม่บุกคิวบา ในที่สุดวิกฤตการณ์อันตึงเครียดและการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ก็ผ่านไปโดยเรียบร้อย ประธานาธิบดีเคเนดี้แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับการยกย่องว่ามีความกล้าหาญและชาญฉลาดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ใช้เครื่องมือทางการทูตและการทหารที่เหมาะสมเปิดโอกาสและทางออกให้ฝ่ายตรงข้ามอย่างโซเวียตเสียเกียรติภูมิไปบ้าง


          และต่อมาครุสชอฟถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และใน ค.ศ. 1965 เลโอนิด เบรสเนฟ (Leonid Brezhnev) ได้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แทน ในขณะเดียวกันนั้นเอง ลินดอน จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ความสำเร็จในวิกฤตการณ์คิวบา ทำให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกามีความเชื่อมั่นในแสนยานุภาพและความแข็งแรงของตน ส่วนโซเวียตก็ได้รับบทเรียนและเร่งสะสมอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น เพื่อที่จะได้มีความเท่าเทียมทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐอเมริกา


สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก GERARD MALIE / AFP

สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก RENATO ROTOLO / AFP

สภาวการณ์หลังสงครามเย็น


          ในช่วงทศวรรษ 1980-1991 ถือเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในสหภาพโซเวียต เมื่อในช่วงนั้นสาธารณรัฐเล็ก ๆ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสหภาพโซเวียตได้เริ่มปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากโซเวียต และโดยเฉพาะในช่วงปี 1985-1991 ที่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ได้นำนโยบายกาสนอสท์-เปเรสทรอยก้า มาใช้ปฏิรูปประเทศ ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวได้ทำให้ประชาชนในสหภาพโซเวียตเริ่มตระหนักถึงเสรีภาพในการดำรงชีวิต และในที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

          ทั้งนี้ เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ในโซเวียตล่มสลายแล้วก็นับเป็นการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นและเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 หรือโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่จัดเป็นโลกในสังคมแห่งยุคข่าวสาร จากนั้นบทบาทของโซเวียตในเวทีโลกก็ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะการแตกออกเป็นสาธารณรัฐต่าง ๆ ทำให้สหภาพโซเวียตเดิมอ่อนแอลงมาก อีกทั้งการเกิดขึ้นของรัสเซียใหม่ (Neo-Russia) ภายหลังการล่มสลายของโซเวียต ก็ทำให้รัสเซียต้องหมกมุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองภายในของตัวเอง และปัญหาของการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศในเครือจักรภพรัฐเอกราช ดังนั้นจึงทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวเข้ามามีบทบาทเต็มที่เพียงหนึ่งเดียวในโลกยุคโลกาภิวัตน์


          นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เป็นนับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของสงครามเย็น ก็คือ การทำลายกำแพงเบอร์ลิน ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และการรวมประเทศเยอรมนีทั้งสองเข้าเป็นประเทศเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1990 พร้อมกับการสิ้นอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศของยุโรปตะวันออก และการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพหลังยุคสงครามเย็นอย่างแท้จริง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สงครามเย็น ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของ 2 ขั้วมหาอำนาจ อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2567 เวลา 16:35:40 613,107 อ่าน
TOP
x close