เฉลิม อยู่บำรุง ประวัติ บุรุษผู้สร้างสีสันแก่การเมืองไทยกว่า 30 ปี


ประวัติ เฉลิม อยู่บำรุง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง, เฟซบุ๊ก วัน อยู่บำรุง

          ประวัติ เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองผู้สร้างสีสันให้กับแวดวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน พร้อมวีรกรรมเด็ด

          หากเอ่ยถึงนักการเมืองไทยที่ประชาชนรู้จักเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นชื่อของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ณ เดือนตุลาคม 2556) อย่างแน่นอน แม้ว่าเขาจะไม่ใช่นักการเมืองระดับอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่าง นายชวน หลีกภัย หรือนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ว่าด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวบางอย่าง ทำให้ประชาชนเห็น ร.ต.อ.เฉลิม ปรากฏตามหน้าสื่อบ่อย ๆ

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาชนส่วนมากจะคุ้นชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นอย่างดี แต่ก็น่ามีประชาชนจำนวนมากอยู่ที่ยังไม่รู้ถึงความเป็นมาของชายผู้นี้ ดังนั้นเราจะมาเล่าถึงประวัติ ร.ต.อ.เฉลิม หรือชื่อที่คนเรียกกันติดปากว่า "เหลิม" กัน


ประวัติ เฉลิม อยู่บำรุง

ประวัติ เฉลิม อยู่บำรุง

 ประวัติส่วนตัวและครอบครัว
 
          ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2490 ได้สมรสกับนางลำเนา อยู่บำรุง ซึ่งเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่

            1. นายอาจหาญ อยู่บำรุง (โต้ง)
         
  2. นายวัน อยู่บำรุง (หนุ่ม)
         
  3. ร.ต.อ.ดวง อยู่บำรุง


          ทั้งนี้ เรื่องราวครอบครัวของ ร.ต.อ.เฉลิม ในอดีตคนทั่วไปอาจจะจดจำได้ในลักษณะข่าวเชิงลบ โดยเฉพาะเรื่องที่บุตรชายทั้ง 3 คน ที่เมื่อสิบปีก่อนเคยมีข่าวก่อเหตุวิวาทปรากฏอยู่หลายครั้ง ซึ่งคดีที่ดังที่สุดก็เป็นคดีที่ ร.ต.อ.ดวง ตกเป็นผู้ต้องหาสังหาร ด.ต.สุวิชัย รอดวิมุติ (ดาบยิ้ม) เมื่อปี พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

          สำหรับปัจจุบันนี้ บุตรชายของ ร.ต.อ.เฉลิม แต่ละคน ล้วนเดินกันไปคนละเส้นทาง เริ่มต้นจาก นายอาจหาญ ปัจจุบันทำธุรกิจต่าง ๆ มากมาย แต่ที่ตกเป็นข่าวมากที่สุด กลับเป็นธุรกิจบันเทิง คือการร่วมจัดคอนเสิร์ต MBC Korean music wave in Bangkok 2013 โดยเป็นคอนเสิร์ตที่นำศิลปินจากเกาหลีมาแสดงที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน นอกจากนี้ยังอยู่เบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ตของจาง กึน ซอก ศิลปินชาวเกาหลีชื่อดัง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอีกด้วย

          ส่วนชีวิตครอบครัวของอาจหาญนั้น เขาแต่งงานกับ ญาณภัทร ศิโรรัตน์ เมื่อปี 2554 ด้วยวัย 40 ปี ขณะที่เจ้าสาวมีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น  

ประวัติ เฉลิม อยู่บำรุง

          ด้านบุตรชายคนกลาง นายวัน อยู่บำรุง ก็ได้เดินในเส้นทางสายการเมืองเหมือนกับ ร.ต.อ.เฉลิม โดยที่ในปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ส่วนชีวิตส่วนตัวนั้น เคยแต่งงานกับอดีตภรรยาเมื่อ ตอนอายุ 20 ต้น ๆ มีบุตรด้วยกัน 1 คน ได้แก่ อาชวิน อยู่บำรุง หรือกาโม่ ซึ่งกาโม่ อาชวิน คนนี้ มักอยู่ในพื้นที่ข่าวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในหมวดบันเทิง เนื่องจากรูปร่างหน้าตาที่ค่อนข้างดี จึงทำให้สาว ๆ กรี๊ดมากเป็นพิเศษนั่นเอง

          ขณะที่บุตรชายคนสุดท้อง ร.ต.อ.ดวง อยู่บำรุง ในอดีตเคยรับราชการทหาร แต่ถูกถอดยศเนื่องจากเกิดคดีดาบยิ้มขึ้น อย่างไรก็ตามทางนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ก็คืนตำแหน่งราชการทหารให้แก่ ร.ต.อ.ดวง ก่อนที่จะย้ายข้ามฟากมารับราชการตำรวจแทน เมื่อปี 2555 โดยให้เหตุผลว่า ยิงปืนแม่น



การศึกษาและการรับราชการตำรวจ

          ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

          ส่วนเส้นทางเข้าสู่วงการตำรวจนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ได้อยู่ในวงการทหารมาก่อน ดำรงตำแหน่งเป็นสิบเอก ทำหน้าที่เป็นครูฝึกโรงเรียนสารวัตรทหาร เป็นระยะเวลา 7 ปี อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม กลับพบว่า สวัสดิการของทหารไม่ได้ดีเท่าตำรวจ โอกาสก้าวหน้ายาก และตัวเองก็เป็นลูกตำรวจ จึงได้ขอย้ายสังกัดไปอยู่กองปราบปรามแทน เปลี่ยนยศจาก สิบเอก เป็น สิบตำรวจเอก

          หลังจากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้สอบชิงทุนไปเรียนปราบจลาจลที่ประเทศมาเลเซีย ต่อมาก็ได้ไปอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เพื่อเลื่อนขั้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ได้ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ กระทั่งได้ติดยศเป็น ร.ต.ต. ขยับเป็น ร.ต.ท. และไปถึง ร.ต.อ. โดยใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม



เส้นทางทางการเมือง

          ร.ต.อ.เฉลิม ได้เข้าสู่วงการการเมืองเป็นครั้งแรกในฐานะผู้ที่ร่วมพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524 อย่างไรก็ตาม การก่อการครั้งนั้นล้มเหลว ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ถูกปลดออกจากข้าราชการตำรวจ พร้อมกับรับข้อหาเป็นกบฏ อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้รับการนิรโทษกรรมในภายหลัง ดังนั้นจึงมีคนชวนให้กลับไปรับราชการตำรวจอีกครั้ง แต่ว่า ร.ต.อ.เฉลิม ก็ตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว

          การประเดิมเส้นทางการเมืองของ ร.ต.อ.เฉลิม เริ่มจากการเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2526 กระทั่งเข้าสู่ปี 2529 จึงได้ก่อตั้งพรรคมวลชนขึ้น ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ใช้พื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่ฐานเสียง ซึ่งก็คือ เขตภาษีเจริญและเขตบางบอน และได้ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ปี พ.ศ. 2529-2533) มีหน้าที่ดูแลองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) อีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม เมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสวีเดนและประเทศเดนมาร์ก พร้อมกับมีข้อหาร่ำรวยผิดปกติติดตัวด้วย จนถูกยึดทรัพย์จำนวน 32 ล้านบาท ทว่าเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้กลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้ง และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2538-2539) ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2551) ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมกับยุบพรรคมวลชน รวมกับพรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต

          เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ได้พ้นสภาพ เปลี่ยนยุคเข้าสู่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่สอง ต่อด้วยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองมากนัก ดังนั้น ใน ปี 2547 ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ได้คะแนนเสียงมากเป็นลำดับที่ 4 ส่วนผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น ได้แก่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์

          จบจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2547 ร.ต.อ.เฉลิม ยังคงหายหน้าหายตาไปจากวงการการเมืองต่อไป จนกระทั่งพรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ปี 2550 พร้อมกับตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 111 คน ทางกลุ่มไทยรักไทยเดิมจึงได้ย้ายเข้ามาร่วมพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคสำรองแทน พร้อมกับตั้งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค โดยที่ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้เข้าร่วมพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้ด้วย แล้วก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.

          ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ร.ต.อ.เฉลิม รั้งตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ว่าดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 เดือนก็ถูกปรับออก ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายหลัง ในยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่สุดท้าย ร.ต.อ.เฉลิม ก็ดำรงตำแหน่งได้ไม่นานอีกเหมือนเดิม สืบเนื่องมาจากพรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบพรรคในเดือนธันวาคม 2551 ดังนั้น ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคสำรองของพรรคพลังประชาชนแทน

          หลังจากการยุบพรรคพลังประชาชน ขั้วอำนาจทางการเมืองก็เปลี่ยนจากกลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แทน ซึ่งทาง ร.ต.อ.เฉลิม ก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน

          ปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ยุบสภาก่อนครบวาระ พร้อมกับเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกครั้ง รั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในปัจจุบัน (พ.ศ. 2556)



ความสัมพันธ์เฉลิมกับทักษิณ

          ร.ต.อ.เฉลิม เริ่มรู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นครั้งแรกในช่วงฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท หลังจากที่เขาจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน อย่างไรก็ตาม กว่าที่ทั้งสองคนจะได้ร่วมงานทางการเมืองกันจริง ๆ ก็ต้องรอถึง 30 ปีให้หลัง เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม เข้าสังกัดพรรคพลังประชาชน ส่วนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันของคนทั้งสอง ก็มีดังนี้

          ในปี 2551 ช่วงที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐบาลหมาด ๆ ร.ต.อ.เฉลิม ก็เคยประกาศว่า จะพา พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ต่างประเทศ ภายหลังจากรัฐประหาร 2549 กลับประเทศไทยให้ได้ และในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้กลับประเทศไทยจริง ๆ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยในวันนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้ไปรับ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศด้วย พร้อมกับมีเหตุการณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ก้มกราบแผ่นดิน หลังจากที่ถึงประเทศไทยอีกด้วย

          นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม เคยกล่าวในปี 2552 แก้ตัวให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการกระทำที่ส่อทุจริตว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม นอกจากนี้ การที่ ร.ต.อ.เฉลิม ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายค้านในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ยิ่งเป็นเครื่องแสดงความสนิทสนมได้ดีระดับหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้วางใจในตัว ร.ต.อ.เฉลิม ค่อนข้างมากทีเดียว ในยุคที่แกนนำพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนต่างโดนแบนกันถ้วนหน้า

          อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของ ร.ต.อ.เฉลิม ในเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยิ่งชัดเจนมากขึ้นในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวคือ เป็นรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คนที่ประกาศตัวชัดเจนว่า จะหาทางช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กลับประเทศไทยให้ได้ แถมยังมีวาทะเด็ดที่ประกาศชนเวทีคนเสื้อแดงอีกว่า "เป็นขี้ข้าทักษิณ แต่เป็นขี้ข้าทางใจ"

          เท่านั้นยังไม่พอ ร.ต.อ.เฉลิม ยังมีประโยคเด็ดอีกมากมายเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น จะไม่มีการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ มีแต่จะเพิ่มให้เป็น พล.ต.อ. เป็นต้น

          นอกจากคำพูดแล้ว ร.ต.อ.เฉลิม ก็ยังมีภาพหลุดอีก ซึ่งเป็นภาพที่ ร.ต.อ.เฉลิม ไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฮ่องกง หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยที่ในช่วงนั้น ร.ต.อ.เฉลิม รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานป้ายแดงหมาด ๆ



เฉลิมเมาในสภา?
 
          เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธุ์ 2556 ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ได้ลุกขึ้นประท้วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่ากำลังอภิปรายนอกประเด็น ซึ่งทางประธานรัฐสภาในขณะนั้น ก็ได้บอกให้ ร.ต.อ.เฉลิม หยุดประท้วง เพราะเข้าใจในสิ่งที่พูดแล้ว แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ยังไม่หยุดพูด จึงทำให้นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตะโกนถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม เมาหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้ ร.ต.อ.เฉลิม จึงปรี่เข้าหานางสาวรังสิมา พร้อมกับชี้นิ้วตะโกนเรียกชื่อ บอกว่า ไม่ได้เมาเหล้า แต่เมารัก

          ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายคนสงสัยว่า ร.ต.อ.เฉลิม เมาในสภาจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็ได้ปฏิเสธแล้วว่า ที่หน้าแดงในวันนั้นเป็นเพราะออกกำลังกาย ส่วนที่เดินเซเป็นเพราะป่วยที่ก้านหู



เฉลิมเมาที่มาเลเซีย?

          ร.ต.อ.เฉลิม ได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย ช่วงเดือนมกราคม 2556 เพื่อเจรจาแก้ปัญหาภาคใต้ อย่างไรก็ตาม กลับมีภาพ ร.ต.อ.เฉลิม หลุดออกมา ในสภาพหน้าแดงก่ำ ตาปรือ เหมือนกับทรงตัวไม่ได้ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า ร.ต.อ.เฉลิม เมาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ยอมรับว่า ดื่มไวน์เข้าไป 8 ขวดจริง แล้วจะไม่เมาได้อย่างไร แต่ก็ยืนยันว่า ดื่มหลังจากเวลางานแล้ว



เฉลิม โวลั่น

          หนึ่งในเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนจดจำ ร.ต.อ.เฉลิม อีกอย่างหนึ่งได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ร.ต.อ.เฉลิม มักออกมาฟันธงอะไรล่วงหน้าอยู่เสมอ แต่ผลสุดท้ายมักออกตรงข้าม เห็นชัดที่สุดก็คือ การออกมาระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2556 จากพรรคเพื่อไทย จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ หาก พล.ต.อ.พงศพัศ แพ้การเลือกตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม จะงดสัมภาษณ์สื่อ 10 วัน ซึ่งสุดท้าย พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.



เฉลิมกับสมจิตต์

          ร.ต.อ.เฉลิม กับ นางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร นักข่าวของช่อง 7 เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด ซึ่งบรรดานักข่าวสายการเมืองจะรู้กันดีว่า นางสาวสมจิตร เป็นคนที่ชอบถามตรง ถามแรง อยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่ทำให้กลายเป็นข่าวดังก็คือ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ที่ นางสาวสมจิตต์ ปะทะคารมกับ ร.ต.อ.เฉลิม ระหว่างสัมภาษณ์เรื่อง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า นางสาวสมจิตต์ฝักใฝ่พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่นักข่าวช่อง 7 จะตอบโต้กลับ และมีการพูดคำว่า "ถ้าการที่ท่านกล่าวหาหนูว่าฝักใฝ่ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แล้วถ้าหนูเรียกท่านว่าขี้ข้าทักษิณ จะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่"

          หลังจากนั้น สถานการณ์ก็เริ่มบานปลายเมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม ได้ประกาศว่า จะไม่ให้สัมภาษณ์สื่อ หากมีนางสาวสมจิตต์มาร่วมวงสัมภาษณ์ด้วย ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ก็ทำเช่นนั้นจริง ๆ แต่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม ก็ยอมกลับมาให้สัมภาษณ์อีกครั้ง



ประวัติ เฉลิม อยู่บำรุง

ฉายาเฉลิม

          ผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ได้มอบฉายาแก่ ร.ต.อ.เฉลิม ในแต่ละปี ช่วงที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางการเมือง มีดังนี้
 
          ปี 2552 : ดาวดับ เนื่องจากในช่วงนั้น ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน แต่กลับถูกวิจารณ์ว่า เป็นฝ่ายค้านที่อภิปรายได้ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่มีสาระการอภิปราย มีแต่วาจาเชือดเฉือนกันเท่านั้น
          ปี 2554 : กุมารทอง คะนองศึก เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม ทำงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เต็มที่ แต่ในบางครั้งก็ชอบไปข้องเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เพื่อหวังสร้างข่าว
          ปี 2555 : กันชนตระกูลชิน เนื่องจากเรียกได้ว่า ร.ต.อ.เฉลิม คอยเป็นบอดี้การ์ดป้องกัน พ.ต.ท.ทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์อยู่เสมอ ใครกล่าวพาดพิง ร.ต.อ.เฉลิม ท้าชนหมด


          นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังได้ถูกตั้งฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวอาชญากรรมอีกด้วย เนื่องจากมีหน้าที่ดูแลด้านยาเสพติด และงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับฉายา ดังนี้


          ปี 2554 : สารวัตรนักใบ้คำ เนื่องจาก เวลา ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีสำคัญ มักใช้อักษรย่อใบ้ถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเสมอ
          ปี 2555 : เหลิม ฉะดะ เพราะเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง


          สุดท้ายนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังเคยปล่อยวาทะเด็ดอันลือลั่นเกี่ยวกับตัวเองอีกด้วย นั่นคือ ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม



เฉลิมกับรถหรู

          เหตุการณ์ไฟไหม้รถหรูเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่า รถหรูดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมีการเลี่ยงภาษีศุลกากร ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เรียกตรวจสอบรถหรูทั่วประเทศว่ามีการหนีภาษีจริงหรือไม่

          ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ก็เป็นนักการเมืองอีกคนหนึ่งที่มีรสนิยมสะสมรถหรู ตัวเขาเองก็มีรถหรูจำนวน 5 คันด้วยกัน ได้แก่

            1. รถสีชมพู ยี่ห้อ Bentley
         
  2. รถสีดำ ยี่ห้อโรลส์รอยซ์ โกสท์
         
  3. รถปอร์เช่ สีขาว
         
  4. รถปอร์เช่ สีดำ
         
  5. รถเฟอร์รารี่ สีแดงเพลิง


          ทำให้ภายหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าว นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.ได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ตรวจสอบรถหรูของ ร.ต.อ.เฉลิม ว่ามีการหนีภาษีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบว่า รถหรูของ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรถที่เสียภาษีถูกต้อง



เฉลิมกับปันปัน

          อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องท่ามกลางความงุนงงจากหลายฝ่าย นั่นคือ กรณีกระแสข่าวปันปัน สุทัตตา อุดมศิลป์ นักแสดงสาวเสพยาไอซ์  ซึ่งทางพ่อของปันปันนั้น ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับแล้วว่า บุตรสาวเสพยาจริง อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม กลับเรียกปันปันและพ่อ รวมถึง พล.ต.อ.พงศพัศ ไปแถลงข่าวที่กระทรวงแรงงาน พร้อมกับออกมาบอกอย่างชัดเจนเลยว่า ปันปันไม่ได้เสพยา ภาพที่เห็นเป็นภาพตัดต่อ และการที่พ่อปันปันออกมายอมรับก่อนหน้า เป็นเพราะตกใจ อย่างไรก็ตาม พ่อปันปัน ได้ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า ผมสอนลูกตลอดโกหกทุกคนได้แต่โกหกตัวเองไม่ได้

          ทั้งนี้ การแถลงข่าวดังกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม สืบเนื่องมาจาก ร.ต.อ.เฉลิม เป็น ผอ.ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านยาเสพติดนั่นเอง



เฉลิมป่วย

          อาการป่วยของ ร.ต.อ.เฉลิม เริ่มต้นจากการที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ร.ต.อ.เฉลิม ถูกหามส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน หลังจากพบว่ามีอาการเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ต้องเข้ารับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาจากโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้มีอาการปวดศีรษะ เดินเอน ๆ จึงได้มาพบแพทย์ ทำให้ทราบว่ามีเลือดไหลในสมองทั้ง 2 ข้าง แพทย์จึงได้ผ่าตัดเจาะเลือดออกให้

          ทว่าเมื่อถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2556 ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม กำลังประชุมเรื่องแนวทางป้องกันยาเสพติดกับ พล.ต.อ.พงศพัศ จู่ ๆ ร.ต.อ.เฉลิม ก็มีอาการตัวเกร็ง นั่งแน่นิ่ง เกือบล้มฟุบตกเก้าอี้ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน ซึ่งทางแพทย์ระบุว่า เป็นเพราะเลือดที่คั่งในสมองคราวที่แล้วยังไม่แห้งนั่นเอง



          ทั้งหมดนี้ ก็คือประวัติของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตั้งแต่เข้ารับราชการตำรวจ สู่เส้นทางการเมือง ซึ่งเรียกได้ว่า "เหลิม" คนนี้ ได้สร้างสีสันให้กับวงการการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เฉลิม อยู่บำรุง ประวัติ บุรุษผู้สร้างสีสันแก่การเมืองไทยกว่า 30 ปี อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2556 เวลา 17:50:44 82,656 อ่าน
TOP
x close