วันการบินแห่งชาติ 13 มกราคม ของทุกปี


          วันการบินแห่งชาติ 13 มกราคม ของทุกปี ว่าแต่วันนี้มีความสำคัญและประวัติอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก

วันการบินแห่งชาติ


          หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า วันที่ 13 มกราคม ของทุกปีคือ วันการบินแห่งชาติ ซึ่งกิจการด้านการบินนั้นมีความสำคัญกับประเทศไทยไม่น้อยมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน กระปุกดอทคอม จะขอเล่าถึงที่มาที่ไปของวันการบินแห่งชาติให้เพื่อน ๆ ได้รับรู้ถึงความสำคัญของวันนี้กันค่ะ

ความเป็นมาของวันการบินแห่งชาติ


          ที่มาของวันการบินแห่งชาตินั้น เริ่มต้นมาจากปี พ.ศ. 2454 ที่ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

วันการบินแห่งชาติ
ภาพจาก : GOLFX / shutterstock.com

          ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 ลำ ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 ลำ

เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น รุ่นแรก



ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ

เครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว รุ่นแรก



ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ

          หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ


          ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จากนั้นในวันที่ 13 มกราคม 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ก็มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและชมการแสดงการบินในครั้งนี้ด้วย

          ในอดีตกิจการบินของไทยได้เจริญก้าวหน้าถึงขั้นสามารถสร้างอากาศยานใช้ในราชการได้ และหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การบินของไทยก็ได้ช่วยสร้างประโยชน์มากมาย อาทิ ป้องกันประเทศ (สงครามอินโดจีน ฯลฯ) ช่วยเหลือผู้ป่วย, ช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติ (โรคระบาด อุทกภัย ฯลฯ) และช่วยทำให้เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม การเดินทาง ขนส่งไปรษณีย์ และสินค้าได้รวดเร็วจนพัฒนามาเป็นสายการบินระหว่างประเทศ


ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ

          นับได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มและมีสายพระเนตรยาวไกลต่อกิจการการบิน กระทั่งได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้กำหนดวันการบินแห่งชาติขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อกิจการการบินของชาติ

          กระทั่งในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปีเป็นวันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในวันนี้ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการบินไทย และคุณประโยชน์ของกิจการการบิน

นายทหารนักบินรุ่นแรก


บุพการีทหารอากาศ 1 : พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ

ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ


          เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อเดิมคือ สุนี สุวรรณประทีป สมัยที่ดำรงยศ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2554 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายพันโท ขณะเข้ารับการศึกษาวิชาการบิน เมื่อปี พ.ศ. 2456 ถือเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าศึกษาวิชาการบินในโรงเรียนการบิน วิลลาคูเบลย์

          เมื่อศึกษาวิชาการบินในโรงเรียนจบ ก็ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนการบินชั้นสูงของกองทัพบกฝรั่งเศส กระทั่งสามารถสอบได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบซึ่งเป็นชั้นสูงสุด หลังสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการในกรมจเรทหารช่างโดยรับผิดชอบด้านการบิน ณ สนามม้าสระปทุม

          เมื่อกระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งกองบินทหารบกขึ้นในปี 2457 นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกองบินทหารบกคนแรกของประเทศไทย และเป็นผู้ที่นำกำลังพลของไทยไปเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับชัยชนะร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมอากาศยานทหารบกคนแรก และได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาเฉลิมอากาศ" ในปี 2463

บุพการีทหารอากาศ 2 : นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์

 

ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ
 
          เกิดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ชื่อเดิมคือ หลง สินศุข เป็นบุตรของพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และคุณหญิงภาณุพันธ์ (เพียน) สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยที่มียศเป็น นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร รั้งตำแหน่งผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 5 ได้รับเลือกให้เดินทางไปศึกษาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะได้รับการเลื่อนยศให้เป็น นายพันตรี เมื่อปี พ.ศ. 2455 ขณะเข้ารับการศึกษาวิชาการบิน

          นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกรได้ศึกษาวิชาการบิน และยังได้เรียนรู้การซ่อมเครื่องบิน กระทั่งในปี 2456 ก็สำเร็จการศึกษาวิชาการบินตามหลักสูตรของสโมสรการบินฝรั่งเศส และเดินทางกลับประเทศไทยในปีเดียวกัน โดยกลับมาเข้ารับราชการในกรมจเรทหารช่าง รับผิดชอบด้านการบิน ณ สนามม้าสระปทุม

          เมื่อมีการตั้งกองบินทหารบกขึ้น นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยบังคับการ จากนั้นอีก 4 ปีให้หลัง ก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานของกรมอากาศยานทหารบกเป็นท่านแรก และได้รับแต่งตั้งให้เป็น นายพันเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ ในปี 2467


          จากนั้นในปี 2475 นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร ได้เข้ารับตำแหน่งเจ้ากรมอากาศยานต่อจากนายพลตรี พระยาเฉลิมอากาศ และได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น "นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2491

บุพการีทหารอากาศ 3 : นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต



ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ

          เกิดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ชื่อเดิมคือ ทิพย์ เกตุทัต ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 3 นายทหารให้ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสขณะที่มียศเป็นร้อยโท และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ขณะกำลังศึกษา

          ทั้งนี้ แม้ว่าในระหว่างเข้ารับการศึกษา นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต จะประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกจนได้รับบาดเจ็บ แต่ก็พักรักษาตัวจนสามารถกลับมาศึกษาต่อได้จนสำเร็จวิชาการบิน ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2456 จากนั้น เข้ารับราชการในกรมจเรทหารช่าง โดยรับผิดชอบด้านการบิน ณ สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร)

          นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บังคับการกองบินทหารบก ร่วมกับนายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร หลังจากกระทรวงกลาโหมได้ก่อตั้งกองการบินทหารบกขึ้น ต่อมา นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต ได้ประดิษฐ์ "หีบเครื่องเขียนใบแจ้งเหตุแบบเกตุทัต พ.ศ. 2458" ขึ้น เพื่อไว้ใช้ส่งข่าวจากเครื่องบิน จึงได้รับการยกย่องจากกระทรวงกลาโหม

          ในปี 2461 นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัพ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกองบิน กรมอากาศยานทหารบก และเลื่อนยศเป็นนายพันตรี จากนั้น หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เป็นผู้บังคับการกองบินทหารบก กองทหารอาสา ในครั้งที่ไปราชการสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกรมอากาศยาน เป็นผู้อำนวยการกองโรงงานอากาศยาน กระทั่งในปี 2479 ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นนายนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต

          โดยทั้ง 3 ท่าน ได้รับการยกย่องให้เป็นบุพการีของกองทัพอากาศ ในฐานะที่ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาวิชาการบินเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย และได้นำวิชาความรู้ที่ได้รับมาช่วยพัฒนากิจการการบินของชาติได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมา
 
          และนี่ก็คือเรื่องราวความเป็นมาของกิจการการบินของประเทศไทย นำมาซึ่งการกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปี เป็น "วันการบินแห่งชาติ"

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักกองบัญชาการ กองบัญชาการกองทัพไทย, องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันการบินแห่งชาติ 13 มกราคม ของทุกปี อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2567 เวลา 16:48:10 245,359 อ่าน
TOP
x close