10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน อีกหนึ่งวันสำคัญที่ชาวไทยจะร่วมกันรำลึกถึงความกล้าหาญของหน่วยพลเรือนอาสา ผู้เสียสละเพื่อบ้านเมืองทั้งในภาวะปกติและภาวะสงคราม ว่าแต่ ประวัติวันอาสารักษาดินแดน มีจุดกำเนิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อใดนั้น ไปหาคำตอบพร้อมกันเลย
ประวัติวันอาสารักษาดินแดน
ภาพจาก : chaiwat wongsangam / Shutterstock.com
สำหรับความเป็นมาของ วันอาสารักษาดินแดน 10 กุมภาพันธ์ เกี่ยวพันกับการก่อตั้ง กองอาสารักษาดินแดน (อส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ สืบเนื่องจากเมื่อครั้งอดีต ชาวบ้านซึ่งไม่ใช่กำลังทหารมักออกมารวมตัวกันต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินในยามเกิดศึกสงครามเสมอ
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 ให้เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ
ภาพจาก : สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
จากความพยายามจัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาให้เป็นระบบ โดยมีการนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้ ในเวลาต่อมา ยุคสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มี พระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. 2484 เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการที่จะป้องกันรักษาประเทศชาติในเวลาสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
ในเวลาต่อมาได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 สืบเนื่องจากการดำเนินการด้านพลเรือนอาสามีรูปแบบและระบบที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนามาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดนนั่นเอง
ภาพจาก : สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
ภาพจาก : สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
กิจกรรมวันอาสารักษาดินแดน
ภาพจาก : สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
การปกป้องประเทศชาติเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน แต่หากแต่ประชาชนทุกหมู่เหล่าไม่ได้รับการฝึกอบรมความรู้ ความสามารถ ก็จะไม่สามารถปกป้องประเทศชาติได้เท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อถึงวันอาสารักษาดินแดนของทุก ๆ ปี นอกจากการร่วมรำลึกถึงเหล่าผู้เสียสละที่จากไปแล้ว ทางกองอาสารักษาดินแดนในแต่ละจังหวัด จะมีการจัดกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้
- การร่วมพิธีชุมนุมของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่
- การร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณ
- การรายงานผลการปฏิบัติงานของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนด้านต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา
- การมอบประกาศนียบัตรแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น
- การมอบเงินทุนการศึกษาแก่บุตรสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
- การให้ความรู้กับประชาชนในด้านต่าง ๆ
และเนื่องจากหลักการสำคัญของกองอาสารักษาดินแดน คือ การจัดเตรียมกองกำลังสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งยามปกติและยามสงคราม ดังนั้นผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน, asa.dopa.go.th, maehongson.go.th