เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ม็อบชาวนาภาคเหนือ-ภาคกลาง ฮือปิดสถานที่ราชการ ทวงเงินจำนำข้าว ลั่นเตรียมปิดถนนสายเอเชีย 22 ม.ค.นี้ ขู่เตรียมให้สภาทนายความยื่นฟ้องฐานฉ้อโกง
วันนี้ (20 มกราคม 2557) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 รายงานว่า ชาวนารวมตัวชุมนุมที่ จ.พิจิตร เป็นวันที่ 4 แม้จะไม่ได้ชุมนุมปิดถนนแล้ว เนื่องจากวานนี้เวลา 18.00 น. กลุ่มชาวนาบางส่วนที่ปิดถนนขาล่องสาย 117 พิษณุโลก-นครสวรรค์ บริเวณสี่แยกโพธิ์ไทรงามที่บึงนาราง จ.พิจิตร เคลื่อนขบวนไปปิดที่ว่าการ อ.บึงนาราง เพื่อสมทบกับมวลชนที่เดินทางไปก่อนหน้านี้ จึงทำให้ถนนจุดนี้เปิดสัญจรได้ตามปกติ
โดยล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มชาวนาจากอำเภอต่าง ๆ จำนวนมากที่คาดว่า อาจจะถึง 3,000 คน ต่างทยอยเดินทางมาสมทบ จากนั้นได้ทำการปิดทางเข้า-ออกศาลากลางจังหวัดพิจิตร ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว โดยได้นำโซ่ไปคล้องปิดกุญแจประตูเพื่อไม่ให้ข้าราชการเข้าไปทำงาน โดยเรียกร้องให้มาร่วมชุมนุม ซึ่งชาวบ้านที่มาต่างเตรียมข้าวเตรียมน้ำมาเป็นเสบียงกันเอง ที่พร้อมจะชุมนุมยืดเยื้อเป็นการยกระดับขับไล่รัฐบาล และคัดค้านการเลือกตั้ง รวมถึงมีการตั้งโต๊ะให้ชาวนากรอกแบบฟอร์มเข้าชื่อร้องทุกข์เพื่อจะแจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวในหลายข้อหาอีกด้วย
ขณะที่สถานการณ์ที่ว่าการ อ.บึงนารางนั้น คาดว่าจะมีการขยายวงต่อไปในวันนี้ โดยก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมได้ปิดถนนขาล่องสาย 117 ซึ่งมีการขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง กรณีชาวนาเอาข้าวมาจำนำ 4-5 เดือนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน หลังจากนั้นกลุ่มชาวนาได้เคลื่อนขบวนไปยังที่ว่าการ อ.บึงนาราง โดยขอเข้าห้องประชุมศาลาประชาคม แต่นายอำเภอปฏิเสธเนื่องจากห้องดังกล่าวเก็บบัตรเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะไม่พอใจและปักหลักอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ
ส่วนในภาคกลาง นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลายจังหวัดชาวนาเดือดร้อนเพราะยังไม่ได้เงินจำนำข้าว เฉพาะลพบุรีที่เดียวก็มีจำนวนกว่า 10,000 ราย นอกจากนี้จากการประชุมระหว่างคณะกรรมการกลางและกลุ่มเกษตรกรภาคกลางมีมติว่า ในวันที่ 22 มกราคมนี้ กลุ่มเกษตรกรชาวนาภาคกลาง ประกอบด้วยสิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง และชัยนาท จะร่วมกับชาวนาภาคเหนือตอนล่างปิดถนนสายเอเชีย 2 จุด เพื่อประท้วงรัฐบาล 4 ข้อ คือ
1. รัฐบาลต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ชาวนาได้รับใบประทวน
2. ให้ชดเชยดอกเบี้ยที่ชาวนานำใบประทวนไปจำนำกับ ธกส.
3. ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินให้ชาวนาไม่ได้ ให้คืนข้าวเปลือกให้ชาวนา หากชาวนานำข้าวไปขายให้พ่อค้าตามท้องตลาด รัฐต้องชดเชยส่วนต่างตามความที่ปรากฏในใบประทวน
4. หากรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อจะให้ทนายจากสภาทนายความยื่นฟ้องรัฐบาลในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า วันที่ 21 มกราคม กกต.จะมีการประชุมพิจารณาข้อหารือกรณีที่รัฐบาลเสนอเกี่ยวกับแผนบริหารหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2557 จำนวน 1.3 แสนล้านบาท
โดยทาง กกต. ได้ประสานให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นผู้ชี้แจง เบื้องต้นทราบว่านายกิตติรัตน์ได้รับการประสานและจะเป็นผู้มาเป็นผู้ชี้แจงด้วยตนเองแล้ว
ทั้งนี้ กกต. ต้องพิจารณาดูว่าการกู้เงินดังกล่าวจะเป็นการเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ที่เป็นเรื่องของการดำเนินโครงการที่อาจมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไปหรือไม่ ส่วนแนวทางในการพิจารณานั้น หากการกู้เงินอาจมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป กกต. ก็คงมีคำเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าควรดำเนินการหรือไม่ แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบต่อไป