ตัวเลข 7 วันอันตรายปีใหม่ 2559 วันที่ 5 มีผู้เสียชีวิตรวม 292 ราย บาดเจ็บ 2,855 ราย นครราชสีมา มากสุด จำนวน 12 ราย สาเหตุหลัก เมาสุรา
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยเฉพาะช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2558 - 4 มกราคม 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุจำนวน 415 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 39 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 443 คน ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 5 วัน มีการเกิดอุบัติเหตุสะสม 2,753 ครั้ง ผู้เสียชีวิตสะสม 292 ราย และมีผู้บาดเจ็บสะสม 2,855 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 108 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 12 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 108 คน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 23.08 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 15.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.41 โดยส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.78 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.35 ซึ่งช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 27.71 โดยผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 49.25
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะเริ่มทยอยเดินทางกลับ ทำให้การจราจรในบางเส้นทางเริ่มติดขัด ประกอบกับความอ่อนล้าจากการเฉลิมฉลอง และการขับรถทางไกลเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้สั่งกำชับจังหวัดให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการจราจรของเส้นทางสายหลัก โดยเฉพาะเส้นทางขาล่องเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยเน้นการเปิดและขยายระยะเวลาสัญญาณไฟจราจรในเส้นทางตรงให้มากขึ้น พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง หากสภาพการจราจรยังวิกฤติ ให้เปิดช่องทางพิเศษชั่วคราว อีกทั้ง ให้จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ประสานการปฏิบัติการอย่างเข้มข้น และเชื่อมโยงการรายงานข้อมูลสภาพการจราจร เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัว และลดปริมาณการสะสมของรถยนต์
ที่สำคัญยังคงให้จุดตรวจ ด่านตรวจเข้มงวดวินัยจราจรและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ เน้นการเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจ เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดความตื่นตัว จะช่วยลดการหลับในที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้ พร้อมให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการดำเนินมาตรการยึดรถที่เมาแล้วขับ และอยู่ในสภาพไม่พร้อมขับรถ เข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนในทุกเส้นทาง