x close

เขาพระวิหาร การเสียดินแดนครั้งสุดท้าย ของประเทศไทย







เขาพระวิหาร
 
 
โดย "ลมเปลี่ยนทิศ"
คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย


         ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหญ่ในกัมพูชา ว่ากันว่า “กระแสรักชาติ” จะถูกปลุกขึ้นมาเพื่อผลทางการเมือง การเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ก็เช่นกัน เรื่องร้อนๆ “เขาพระวิหาร” ก็ถูกนำขึ้นมาเป็นประเด็นที่มีผลทางการเมืองในกัมพูชาอีกครั้ง

         อยู่ๆ กัมพูชาก็ยื่นเรื่องต่อ องค์การยูเนสโก ขอขึ้นทะเบียน “เขาพระวิหาร” เป็น “มรดกโลก” โดยไม่บอกกล่าวฝ่ายไทย เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

          แต่ผู้แทนไทยในที่ประชุมประท้วง เพราะองค์ประกอบ ของเขาพระวิหารไม่ได้มีแต่ ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในเขตกัมพูชา เท่านั้น แต่ยังมีโบราณสถานอีกหลายอย่าง ประกอบกันเป็นเขาพระวิหาร เช่น ภาพแกะสลักนูนต่ำ สระตราว สถูปคู่ เป็นต้น อยู่ใน เขตไทย มรดกโลกที่สมบูรณ์จะต้องมีองค์ประกอบครบถ้วน

         เมื่อไทยท้วงด้วยเหตุผลเช่นนี้ ยูเนสโกก็เลื่อนการพิจารณาออกไป โดยให้ไทยกับกัมพูชาไปตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน และนำเข้าพิจารณา ในที่ประชุมที่รัฐควีเบค ประเทศแคนาดา ในเดือนหน้านี้ศาลโลก พิพากษาให้ ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของกัมพูชาในปี 2505 โดยบอกแต่เพียงว่า “ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขต ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” แต่ไม่ได้บอกว่ามีอาณาเขต กว้างยาวแค่ไหน กระทรวงมหาดไทยของไทยจึงกำหนดพื้นที่ไม่เกิน 150 ไร่ ให้เป็นเขตปราสาทเขาพระวิหาร โดยมีช่องบันไดหัก ให้ฝ่ายเขมรต่ำมีทางขึ้นปราสาท เขาพระวิหารได้

          ในหนังสือ เขาพระวิหาร ไทยเสียดินแดนครั้งสุดท้าย ของ โรม บุนนาค ได้บันทึกเหตุการณ์วันที่ พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีมหาดไทย กล่าวปราศรัย ที่ลานปราสาทเขาพระวิหาร ในวันส่งมอบดินแดนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2505 ไว้ดังนี้

         “ข้าพเจ้ามีความเสียใจมากที่ต้องมาทำหน้าที่เช่นนี้ แต่การปฏิบัตินี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจำต้องปฏิบัติ ตามพันธกรณีที่เรามีต่อศาลโลก

          วันนี้เป็นวันหนึ่งซึ่งประวัติศาสตร์จะต้องจารึกว่า ไทยจำต้อง สละอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ข้าพเจ้ากำหนดเวลาตั้งแต่ 12.00 น. ของวันที่ 15 กรกฎาคม 2505 เป็นวันที่เรา จะถอนทุกสิ่งทุกอย่างออกจากเขตแดนนี้

          ข้าพเจ้าขอซ้อมความเข้าใจกับท่านว่า เขตแดนนี้เริ่มจากจุดแรก ที่ช่องบันไดหัก โดยนับระยะห่างจากถนนหินโบราณลงมา 20 เมตร เราจะปักป้ายที่นี่ และแนวเขตจะเล็งเป็นเส้นตรงจากหลักที่ 1 มาสู่ปลายบันไดนาค ห่างจากจุดกึ่งกลางปลายบันได 20 เมตร เป็นเส้นที่ 2 แล้วจึงเล็งเป็นแนวตรง ไปเป็นหลักสุดท้าย ห่างจากแนวปราสาทในเส้นกึ่งกลาง 100 เมตร ตัดตรงไปจนทะลุหน้าผาเป้ยตาดี

         มีงานที่เราจะต้องปฏิบัติหลายอย่างในวันนี้ ก่อนอื่นคือ การเชิญธงไตรรงค์พร้อมด้วยเสา จากบริเวณปราสาทมาประดิษฐาน ในเขตของเรา และจะไม่มีการเชิญธงลงจากยอดเสา พร้อมด้วยเสานี้ จะเคลื่อนย้ายตั้งลงมาโดยไม่นอนด้วย เพราะวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะต้องนำธงนี้ไปประดิษฐานที่เดิมเหนือเป้ยตาดีอีกครั้งหนึ่ง...”

         อ่านแล้วขนลุกครับ ทหารสมัยก่อนเขาถือธงชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้จะต้องเสียดินแดนตามคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อจะเคลื่อนย้าย “ธงชาติไทย” ออกจากดินแดน พลเอกประภาส ยังให้ยกธงทั้งเสาแบบ ตั้งตรงออกมา ไม่ให้มีการลดธงลงจากยอดเสา หรือแบกเสาธง ออกมาอย่างผู้แพ้

          พลเอกประภาสยังสั่งกำชับตำรวจตระเวนชายแดนด้วยว่า รั้วก็ดี ป้ายก็ดี ที่ปักไว้นั้น ถือเป็นสมบัติของชาติไทย หากมีผู้ใดล่วงล้ำ ผ่านแนวเข้ามา ให้ไล่ออกไป หากขัดขืนขอให้ใช้กำลังได ้โดยไม่ต้องรอขออนุญาตแต่อย่างใด

          เห็นความเด็ดขาดของชายชาติทหารสมัยก่อนแล้ว ต้องชื่นชมครับ

          ก็ต้องดูว่า รัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช ที่มี นายนพดล ปัทมะ เป็น รัฐมนตรีต่างประเทศ จะสามารถรักษาอธิปไตย เขาพระวิหารที่ประเทศไทย มีอยู่ตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อ 46 ปีก่อนได้หรือไม่ หรือจะต้องเสียดินแดนในยุคนี้อีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกยุคปัจจุบัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จับตา "ว่าที่มรดกโลก" "เขาพระวิหาร" "เผือกร้อน" ไทย-เขมร
- เปิดรายงานลับ ย้อนรอยเขาพระวิหาร

- เหตุผลใดไทย จึงแพ้คดีปราสาทพระวิหาร
- ปราสาทเขาพระวิหาร โบราณสถานมรดกวัฒนธรรม




ข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เขาพระวิหาร การเสียดินแดนครั้งสุดท้าย ของประเทศไทย โพสต์เมื่อ 14 พฤษภาคม 2551 เวลา 21:59:10 20,135 อ่าน
TOP