โฮย่า ชนิดใหม่ พบขึ้นที่อุ้มผางแห่งเดียวในโลก



Hoya


โฮย่า ชนิดใหม่ พบขึ้นที่อุ้มผางแห่งเดียวในโลก (ไทยโพสต์)

          ค้นพบพืชสกุล  "โฮย่า"  ชนิดใหม่ในโลก  อาศัยตามซอกหินที่ป่าอุ้มผาง  จ.ตาก  อยู่ระหว่างตั้งชื่อและเตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ปลายปีนี้  นักวิจัยพรรณไม้เผยต้องเร่งเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์  เพราะมีจำนวนน้อยและอยู่ในสภาพแวดล้อมเปราะบางจนใกล้สูญพันธุ์เต็มที

          ดร.มานิต  คิดอยู่  อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย  ภาควิชาพฤกษศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เปิดเผยว่า  จากการศึกษาวิจัยและรวบรวมพืชสกุลโฮย่า   (Hoya)   พบว่า  ในประเทศไทยมีพืชสกุลโฮย่าอย่างน้อย  45  ชนิด   ซึ่งในจำนวนนี้มีพืชชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกคือ  Hoya  sp.  อุ้มผาง  เป็นโฮย่าที่พบในพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งได้รับการตรวจสอบและยืนยันจากต่างประเทศแล้ว  ขณะนี้กำลังตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และเตรียมตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการใน ปลายปีนี้

          "โฮย่าชนิดใหม่นี้มีจุดเด่นคือ  เป็นพืชที่พบเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก  และถือว่าเป็นพืชหายาก  ใกล้สูญพันธุ์  เพราะตอนที่ไปสำรวจพบโฮย่าชนิดนี้มีจำนวนน้อยเพียง  2-3  กอ  ขึ้นอยู่ตรงหน้าผาหินที่มีการพังทลายของหินลงมาตลอด  และที่สำคัญคือพบแค่ตรงจุดนี้เท่านั้น"  ดร.มานิต เผย

          ดร.มานิต กล่าวว่า  พืชโฮย่าชนิดนี้มีลักษณะเป็นต้นสั้น  มีรากยึดเกาะตรงบริเวณซอกหิน  ไม่เลื้อยพันเหมือนกับโฮย่าส่วนใหญ่ใบมีขนาดเล็ก  ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด  จำนวน  4-7 ดอก  แต่ดอกมีขนาดใหญ่  เมื่อบานเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ  2  เซนติเมตร  มีกลีบดอกสีขาว กระบังรอบสีชมพูอมม่วง  เป็นรูปดาว  5  แฉก  ส่วนแหล่งอาศัยค่อนข้างแปลกคือ  ขึ้นตามซอกหินที่แตก  ลำต้น  และกิ่งทอดแนบกับหินทนต่อความแห้งแล้งได้ดี

          การค้นพบพืชชนิดใหม่นี้  บ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย ซึ่งตนและคณะนักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาฯ  ได้ร่วมมือทำงานมาตลอด  โดย รศ.ดร.อบฉันท์  ไทยทอง  ศึกษาพืชสกุลโฮย่าในไทยมีจำนวน  32  ชนิด  และได้นำไปจัดทำหนังสือพรรณพฤกษชาติของไทย  (Flora  of  Thailand)  เป็นหนังสือรวบรวมรายชื่อพืชทุกชนิดในประเทศไทย  พร้อมรายละเอียดลักษณะสัณฐานวิทยา  นิเวศวิทยา  และการกระจายพันธุ์ของพืช  โดยใช้ระยะเวลาดำเนินงานมานานหลายปี  จนกระทั่งล่าสุดตนและคณะได้สำรวจพบโฮย่าชนิดนี้

          "ผมเจอต้นโฮย่านี้ด้วยความบังเอิญ  และรู้สึกทึ่งที่เห็นมันขึ้นเจริญเติบโตอยู่ในซอกหิน  ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ผันแปรตลอดเวลา  หากไม่ค้นพบก็อาจจะทำให้สูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา  เพราะมีจำนวนน้อยมากและไม่มีแมลงช่วยผสมพันธุ์  ผมไปดูถึง  3  ครั้งก็ไม่พบการขยายพันธุ์  ดังนั้น  ทางภาครัฐโดยเฉพาะจังหวัดตาก  ควรจะเร่งเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ให้ได้มาก ที่สุด  เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พรรณไม้หายาก   และเป็นไม้ประดับที่สร้าง รายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย"  ดร.มานิต กล่าว

          สำหรับแนวทางการศึกษาวิจัยต้นโฮย่าชนิดใหม่นี้  คาดว่าเมื่อได้ตีพิมพ์ลงเผยแพร่อย่างเป็นทางการแล้ว  จะดำเนินการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อในห้องทดลองปฏิบัติการ  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคิดค้นสูตรอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้เป็น ที่รู้จักแพร่หลายต่อไป

          ทั้งนี้  พืชสกุลโฮย่า  ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นดอกรัก  (Asclepiadaceae)  ทั่วโลกมีจำนวนประมาณ  200  ชนิด  ประเทศไทยเรียกขานพืชสกุลโฮย่าว่า  "นมตำเลีย"  โดยโฮย่าที่คนไทยนิยมเพาะเลี้ยงคือ  หัวใจทศกัณฑ์  ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ  เหมาะแก่การเป็นไม้ประดับ


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โฮย่า ชนิดใหม่ พบขึ้นที่อุ้มผางแห่งเดียวในโลก อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2552 เวลา 12:18:59 23,289 อ่าน
TOP
x close