x close

นายกฯ สั่งศึกษาผู้ประกันตน เข้าระบบบัตรทอง












  
           นายก รื้อ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ เล็งให้เลือกรับสิทธิได้ตามความสมัครใจทั้งสองระบบ

           หลังจากที่ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้ออกมาขอความร่วมมือผู้ประกันตนทั่วประเทศให้งดจ่ายเงินประกันสังคมตั้งแต่ 1 พฤษภาคม หากทางสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกันตนได้  โดยให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ในการแก้ปัญหาระบบสุขภาพ

          ล่าสุดทางนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้นำปัญหาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา และได้พิจารณาปัญหาระบบสุขภาพ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพศึกษาเพื่อศึกษาว่า ถ้าหากนำผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเข้าสู้ระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) เฉพาะการรักษาพยาบาลจะต้องใช้วงเงินเท่าไร และจะต้องดำเนินการอย่างไร

          ส่วนทางด้านนายอัมมาร สยามวาลา ที่ปรึกษาสปสช. ได้ออกมาชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีว่า ไม่ขัดข้องที่จะให้ผู้ประกันตนเข้าสูระบบบัตรทอง ทั้งนี้ถ้าจะดำเนินการเปลี่ยนระบบสุขภาพดังกล่าวจะต้องมีการดำเนินการจัดบุคลากรและงบประมาณด้วย

         พร้อมกันนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ได้เสนอให้แก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดให้ ผู้ประกันตนได้รับสิทธิในการเลือกรับบริการทั้งสองระบบตามความสมัครใจ อีกทั้งยังได้เสนอร่างกฏหมายเพื่อให้ ครม. พิจารณา ถ้าคณะกรรมทั้งสองระบบตกลงกันได้ จะเสนอให้ ครม. ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป


ปัญหาประกันสังคม จ่ายไปไม่ได้ใช้ !

             ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้ออกมาขอความร่วมมือผู้ประกันตนทั่วประเทศให้งดจ่ายเงินประกันสังคม หากทางสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกันตนได้  โดยให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ในการแก้ปัญหาระบบสุขภาพ

            โดยนายนิมิตร เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้ออกมาเปิดเผยถึงปัญหาดังกล่าวในรายการ เจาะข่าวเด่น เมื่อวานนี้ (7 มีนาคม) ว่า ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนได้ร่วมมือกับทางทีมงานวิจัยของแพทย์ ได้วิจัยเกี่ยวกับปัญหาว่าด้วยสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสังคมกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งผลวิจัยที่ออกมา ปรากฎว่า สิทธิประโยชน์ของหลักประกันสังคมด้อยกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินสมทบที่ต้องจ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนทุกเดือน หรือสิทธิในการเลือกโรงพยาบาล

           โดยตลอด 20 ปี ที่หลักประกันสังคมเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพของประชาชนนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อ 8 ปีที่ผ่าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เข้าช่วยเหลือปัญหาทางด้านสุขภาพของประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงชราภาพ โดยค่ารักษาต่าง  ๆ ทางรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 48 ล้านคน ขณะอีก 9 ล้านคน จะต้องจ่ายเงินเอง โดยถูกหักจากผู้จ้างทุกเดือนเดือนละ 5เปอเซ็นต์ ซึ่งถ้าหากผู้จ้างไม่หัก ก็จะผิดต่อกฏหมาย ทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับความเป็นธรรม


ทั้งนี้ทางประกันสังคมได้ให้สิทธิกับผู้ประกันตน 7 สิทธิ คือ
  
           1. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยไม่เนื่องจากการทำงาน
           2. กรณีทุพพลภาพ อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
           3. กรณีตายอันไม่เนื่องจากการทำงาน
           4. กรณีคลอดบุตร
           5. กรณีสงเคราะห์บุตร
           6. กรณีชราภาพ
           7. กรณีว่างงาน

         ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน  ได้มีความเห็นว่า สถิติที่ผู้ประกันตนได้ใช้สิทธิเฉลี่ยเพียง 0.5 ครั้งต่อปี หรือเพียงครึ่งครั้งต่อหนึ่งคน ในหนึ่งปีเท่านั้น และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมถ้าหากใช้หลักประกันสังคมคือ กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยไม่เนื่องจากการทำงาน และกรณีคลอดบุตร  ซึ่งชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน อยากให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแทนใน 2 กรณีดังกล่าว  ซึ่งใน 2 กรณีนี้คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์จากเงินที่ถูกหัก  5 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ อยากให้ผู้ประกันตนจ่ายเพียง 4 เปอร์เซ็นต์จาก 5 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกหัก

       ทั้งนี้ ที่ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนได้ออกมาเคลื่อนไหว เป็นเพราะว่า ไม่อยากให้เงินของผู้ประกันตนต้องตกไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่ได้ใช้ อีกทั้งเป็นเงินที่เหมาจ่าย จ่ายไปแล้วไม่ได้คืน อีกทั้ง อยากให้ผู้ประกันตนได้รับความเป็นธรรม ซึ่งทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนก็ได้ร้องเรียนให้รับเสนอข้อเรียกร้องนี้เข้าไปพิจารณา แต่ก็ไม่ได้มีการตอบสนองจากหลักประกันสังคมแห่งชาติเลยสักครั้ง  พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบหลักประกันสังคมใหม่ โดยเสนอให้มีการบริหารแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งในขณะนี้ทางหลักประกันสังคมเป็นการบริหารของรัฐมนตรีที่ได้จากการแต่งตั้งเท่านั้น

      อย่างไรก็ตามทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าจ้างงาน และมูลนิธิต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว ถ้าหากภายใน 30 วัน ทางประกันสังคมยังไม่สามารถแก้ปัญหาระบบสุขภาพของผู้ประกันตนใหม่ จะงดจ่ายเงินสบทบอย่างแน่นอน 








[7 มีนาคม] ประท้วงสิทธิรักษาพยาบาล 1 พ.ค. หยุดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

         ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เผยจะประท้วงไม่ขอจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ชี้สำนักงานประกันสังคม จัดระบบสุขภาพ 2 มาตรฐาน เหตุพบโรงพยาบาลเอกชนบ่ายเบี่ยงไม่รักษาผู้ประกันตนเองที่เป็นโรคร้ายแรง
 
          เมื่อวานนี้ (6 มีนาคม) นายนิมิตร เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพของผู้ที่ประกันตนเอง หลังจากเสวนาร่วมหาทางออก สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกันตน ว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะงดจ่ายเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาล โดยจะให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ในการแก้ปัญหาระบบสุขภาพของผู้ประกันตนใหม่ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ที่ใช้สิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะทุกวันนี้ ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงบางส่วน ถูกปฎิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน โดยอ้างเรื่องค่ายาแพง ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตรงส่วนนี้ไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการดูแล และหากรัฐบาลไม่เข้ามาดูแล ผู้ประกันตนก็พร้อมที่จะรณรงค์ให้ผู้ประกันตนทั่วประเทศงดจ่ายเงินสมทบ
 
          ด้าน นส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า  การที่มูลนิธิผู้บริโภค และชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ มิใช่เป็นการทำเพื่อตนเอง แต่ต้องการปกป้องสิทธิของประชาชน ให้ได้มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวไว้ว่าห้ามเลือกปฏิบัติในเรื่องของสุขภาพ แต่ปรากฎว่า ทุกวันนี้ผู้ที่ประกันตนกลับเป็นคนกลุ่มเดียวในประเทศที่ต้องเสียเงินค่าโง่ เพื่อให้ตนเองได้รับการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรได้รับอยู่ตลอด ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของ สปสช. ที่ไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย แต่กลับได้รับการดูแลดีกว่าผู้ประกันตนเองเสียอีก
 
          น.ส.สารี กล่าวต่อ ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนจึงอยากเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณาเรื่องนี้ใหม่ โดยขอให้มีการปรับมาตรฐานการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันกับผู้ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของ สปสช. เพื่อมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และสำหรับเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายทุก ๆ เดือนนั้น ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นการออมเงินแบบสะสม กรณีที่ชราภาพแทน เพื่อที่ผู้ประกันตนได้มีเงินออมสำหรับในอนาคต




 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายกฯ สั่งศึกษาผู้ประกันตน เข้าระบบบัตรทอง อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2554 เวลา 09:30:53 88,946 อ่าน
TOP