x close

เทคนิคการใช้แฟลชในการถ่ายภาพ


เทคนิคการถ่ายภาพ
การใช้แฟลชเป็นแสงเสริม ช่วยเพิ่มรายละเอียดของวัตถุ

เทคนิคการถ่ายภาพ
ภาพตัวอย่างการใช้แฟลชหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุ

เทคนิคการถ่ายภาพ
ภาพตัวอย่างการใช้ระบบแฟลชสัมพันธ์ม่านชัตเตอร์ชุดที่ 2 หรือ Rear Curtain Sync



การใช้แฟลชขั้นพื้นฐาน (FOTOINFO)
เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ

          แสง คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพ หากไม่มีแสงก็ไม่สามารถถ่ายภาพได้ โดยทั่วไปแล้วเราอาศัยแสงจากธรรมชาติหรือแสงอาทิตย์ แต่แสงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่สามารถควบคุมได้ จึงได้มีการคิดค้นแฟลชเพื่อช่วยให้เป็นแหล่งกำเนิดแสง

          แฟลช (Flash) มีลักษณะเป็นไฟวาบสว่างขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เป็นอุปกรณ์จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สภาพแสงธรรมชาติไม่เป็นตามที่นักถ่ายภาพต้องการ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีนักถ่ายภาพคนใดไม่รู้จักแฟลช และยังเชื่อต่อไปอีกว่ามีนักถ่ายภาพจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องแฟลชดีมากพอ ในบทความการใช้แฟลชขั้นพื้นฐานนี้ จึงเน้นการนำไปใช้งานทั่วไป และสอดแทรกข้อมูลทางเทคนิคบ้าง

          ทั้งนี้ แฟลช จะมีข้อมูลจำเพาะและฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามรุ่น โดยทั่วไปแล้ว แฟลช ในปัจจุบันจะมีระบบการทำงานแบบ TTL มีบ้างในแฟลชราคาถูกที่มีระบบการทำงานแบบ Auto หรือแมนนวล ซึ่งค่าหนึ่งที่จะบอกว่า แฟลช นั้นมีกำลังไฟที่สามารถทำงานได้ไกลเท่าไหร่และเป็นค่ามาตรฐานในการใช้งานคือ ค่าไกด์นัมเบอร์ (Guide Number คำย่อ GN.) ป็นค่าที่จะช่วยทำให้ทราบว่าแฟลชมีระยะในการทำงานเท่าไร เมื่อนำมาคำนวณในสูตร

          GN = ขนาดช่องรับแสง x ระยะห่างระหว่างแฟลชกับซับเจกต์

          สามารถคำนวณย้อนกลับเพื่อหาระยะการทำงานหรือขนาดช่องรับแสงได้เช่นกัน ในระบบการทำงานการแบบ TTL นั้นเราแทบไม่ได้สนใจเรื่องการคำนวณเหล่านี้แล้ว เพราะแฟลชจะคำนวณให้เราโดยอัตโนมัติ แต่เรายังต้องนำเอาค่า GN. มาพิจารณาในการเลือกซื้อแฟลช

          สำหรับเรื่องที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ การกระจายแสงของแฟลช ความสว่างของแสงแฟลชนั้นจะลดลงตามระยะทางทั้งในแนวลึกหรือระยะห่างระหว่างวัตถุกับแฟลช ซึ่งมีผลต่อการรับแสงของวัตถุที่อยู่ในตำแหน่งแตกต่างกัน การกระจายแสงนั้นหากจะเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นแสงต่อเนื่องอย่างเช่น หลอดไฟแบบกลม หรือเทียน จะช่วยทำให้เราเห็นได้ว่า แสงมีการกระจายตัวออกไปในทุกทิศทางเท่า ๆ กัน และความเข้มแสงก็จะจางลงไป เมื่อมีระยะห่างจากแหล่งกำเนิดแสงมากขึ้น 

          หากอธิบายให้จำง่าย ๆ ก็คือ เมื่อวัตถุอยู่ห่างจากกล้องเป็นระยะทางห่างกัน 1 เท่า แสงแฟลชจะลดลงไป 2 สต็อป เรื่องนี้มีผลต่อการเลือกใช้เลนส์ เมื่อเราต้องการถ่ายภาพวัตถุหรือบุคคลที่อยู่ห่างกันด้วยแสงแฟลช การจะควบคุมให้วัตถุหรือบุคคลที่อยู่ด้านหลังให้ได้รับแสงแฟลชใกล้เคียงกับบุคคลด้านหน้านั้นเราจะต้องพยายามปรับค่าสัดส่วนของระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุแรกและระยะห่างระหว่างวัตถุแรกกันวัตถุที่สองให้ลดลง

          หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อเรายิ่งใช้เลนส์มุมกว้างมากขึ้น ความแตกต่างของระยะห่างของวัตถุจะมีมากตามไปด้วย แต่ถ้าใช้เลนส์เทเล เราก็ต้องถอยออกมาเพื่อให้เก็บองค์ประกอบได้เท่ากัน ทำให้สัดส่วนของระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุแรกและระยะห่างระหว่างวัตถุแรกกับวัตถุที่สองนั้นห่างกันลดลง มีผลทำให้วัตถุได้รับแสงในสัดส่วนที่แตกต่างกันไม่มาก เพราะฉะนั้นตำแหน่งของกล้องและการเลือกใช้เลนส์มีผลต่อการได้รับแสงแฟลช

          นอกจากเรื่องระยะทางแล้ว ในมิติด้านกว้างยาวก็จะมีเรื่องที่เกี่ยวกับรัศมีการกระจายแสงของแฟลชหรือวงแสงในการกระจายแสง หากแฟลชที่ไม่มีระบบซูมหัวแฟลชการกระจายตัวของแสงจะเท่ากันเสมอ แต่แฟลชมักจะมีระบบซูมหัว แฟลชเพื่อรวมกำลังแสงยิงแสงให้สอดคล้องกับเลนส์ที่ใช้ ในแนวคิดเดียวกันระยะห่างของพื้นที่ภาพระหว่างกึ่งกลางภาพกับขอบภาพนั้นแตกต่างกัน เมื่อใช้เลนส์มุมกว้างสัดส่วนของระยะ ห่างจากกึ่งกลางภาพก็จะมีมากกว่าเลนส์เทเล หากใช้ซูมที่แฟลชเป็นมุมแคบกว่าเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพบริเวณของภาพแสงแฟลชก็ไม่สามารถยิงแสงกระจายได้ทั่วถึงขอบภาพจะมืด เรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลเรื่องพื้นฐานของการทำงานของแฟลช

ระบบการทำงานของแฟลชแบบต่าง ๆ

          เมื่อเราเปิดแฟลชหรือกล้องก็จะพบว่าแฟลชนั้นมีระบบการทำงานต่าง ๆ หลายฟังก์ชั่น โดยทั่วไปแล้วก็จะมีระบบชดเชยแสงแฟลช, ระบบแฟลชสัมพันธ์ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ (Slow Sync), ระบบถ่ายภาพคร่อมแสงแฟลช, ระบบแฟลชสัมพันธ์ชัตเตอร์ความเร็วสูง (High Speed Sync), ระบบแฟลชแก้ตาแดง (Red Eye Reduction), ระบบแฟลชสัมพันธ์ม่านชัตเตอร์ชุดที่สอง และอาจจะรวมไปถึงการควบคุมแฟลชแบบไร้สาย (Wireless) และการแบ่งกำลังแฟลชแบบแมนนวล

          ระบบเหล่านี้ใช้งานในหลากหลายสถานการณ์และส่วนใหญ่มักเลือกใช้กับได้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว ทุกระบบแฟลชนั้นยังคงอยู่ใน 2 แนวคิดใหญ่ของการใช้แฟลชถ่ายภาพ คือ การใช้แฟลชเป็นแสงหลักหรือใช้แฟลชเป็นแสงเสริม

การใช้แฟลชเป็นแสงหลัก


เทคนิคการถ่ายภาพ


          เมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงธรรมชาติแล้วอยู่ในสภาพแสงน้อย แสงไม่เพียงพอในการถ่ายภาพ ความเข้มแสงของแสงธรรมชาติต่ำเกินไป ค่าความไวชัตเตอร์ที่กล้องวัดแสงได้มีค่าต่ำเกินไปที่จะถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือ หรือค่าความไวชัตเตอร์นั้นไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพได้ แฟลชจะเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงหลักในการถ่ายภาพ

          แสงหลัก หมายถึง แสงที่มีอิทธิพลต่อการบันทึกแสงของกล้องมากที่สุด ซึ่งอาจจะมีแหล่งกำเนิดมาจากหนึ่งแหล่งหรือมากกว่าก็ได้ ดังนั้นการใช้แสงแฟลชเป็นแสงหลักในการถ่ายภาพ จึงหมายถึงแสงที่วัตถุได้รับนั้นมีที่มาจากแสงแฟลชเป็นหลัก สถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้แสงแฟลชเป็นแสงหลัก คือ ค่าความเข้มแสงของแสงธรรมชาติมีน้อยมาก เช่น ในเวลากลางคืน

          เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่แสงธรรมชาติมีความเข้มแสงน้อยวัดแสงแล้วพบว่า ค่าความไวชัตเตอร์มีค่าต่ำเกินไป ต้องใช้แฟลชในการถ่ายภาพ ในกรณีที่ไม่มีแฟลช Hot Shoe ภายนอก กล้องบางรุ่นหรือกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค จะมีแฟลชที่ติดตั้งมากับตัวกล้อง เปิดระบบแฟลชให้แฟลชทำงาน หรือกดปุ่มเพื่อให้แฟลชยกตัวขึ้นสำหรับกล้องที่มีแฟลชแบบ Pop up กล้องดิจิตอลและแฟลชรุ่นใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันจะมีระบบทำงานแบบ TTL ซึ่งจะทำงานยิงแสงแฟลชให้มีค่าแสงที่พอดีโดยอัตโนมัติ

          หลักการทำงานของแฟลชแบบ TTL คือแฟลชจะยิงแสงพรีแฟลชออกไปเบา ๆ ก่อนยิงแสงแฟลชจริง แล้ววัดค่าแสงแฟลชที่สะท้อนวัตถุผ่านเลนส์เข้ามา พร้อมกับนำค่าระยะห่างของวัตถุและค่าขนาดช่องรับแสงมาคำนวณก่อนที่ยิงแสงแฟลชจริงออกไป ในบางระบบบันทึกภาพแฟลชจะทำงานเองโดยอัตโนมัติ ที่กล่าวมานั้นเป็นการใช้งานในระบบบันทึกภาพแบบ Creative (P, S, A, M) ซึ่งเป็นระบบที่นักถ่ายภาพต้องควบคุมระบบแฟลชเอง

          ระบบแฟลชที่ทำงานแบบ TTL จะทำงานร่วมกับกล้องโดยปล่อยปริมาณแสงแฟลชให้วัตถุได้รับแสงพอดี สิ่งที่นักถ่ายภาพต้องระวังเมื่อใช้แฟลชในการถ่ายภาพ คือ ต้องปรับค่าความไวชัตเตอร์ให้สูงพอที่จะถือกล้องถ่ายภาพได้ ที่สำคัญคือ จะต้องอยู่ในระยะการทำงานของแฟลช เพราะถ้าอยู่นอกระยะทำงานของแฟลช ภาพจะได้รับแสงที่น้อยกว่าพอดี ถ้าค่าแสงในการบันทึกภาพแตกต่างกับค่าแสงจริงของธรรมชาติมากเกินกว่า 3 Stop ขึ้นไป ก็จะไม่เห็นผลของแสงธรรมชาติเข้ามาในภาพ ฉากหลังของภาพจะเข้มดำ ไม่มีรายละเอียด

          นอกจากนี้ การทำงานของแฟลชโดยส่วนใหญ่ที่มีระบบการทำงานแบบ TTL มักจะทำงานได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำ ยกเว้นในบางครั้งที่วัตถุบางอย่างในภาพมีการสะท้อนแสงสีที่แตกต่างกันมาก ๆ เช่น วัตถุที่มีความมันวาว กระทกเงา ก็จะสะท้อนแสงกลับมามากกว่าปกติ ทำให้ระบบวัดแสงแฟลชภายในตัวกล้องคิดว่าวัตถุได้รับแสงพอดีแล้ว ภาพที่ได้จะอันเดอร์ ในทางตรงข้ามถ้าพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพมีการดูดกลืนแสงมากกว่าปกติ เช่น ในห้องที่ทาสีผนังในโทนเข้ม หรือบุผนังด้วยวัสดุสีโทนเข้ม ก็อาจทำให้ภาพที่ได้สว่างโอเวอร์ แฟลชจึงมีระบบชดเชยแสงแฟลชมาด้วย

การเบ๊าซ์แฟลช (Bounce Flash)


เทคนิคการถ่ายภาพ
การเบ๊าซ์แฟลช


          การเบ๊าซ์แฟลช (Bounce Flash) เป็นเทคนิคที่ทำให้แสงแฟลชนุ่มนวลขึ้นเมื่อถ่ายภาพในอาคาร สาเหตุที่ส่งผลทำให้แสงนุ่มหรือแสงแข็ง มีอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือขนาดของแหล่งกำเนิดแสงเมื่อเทียบกับขนาดวัตถุที่ได้รับแสง ประการที่สองคือ ระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดแสงถึงวัตถุที่โดนแสง ซึ่งขนาดของแหล่งกำเนิดแสง คือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดเงาของภาพ ขนาดของแหล่งกำเนิดที่มีขนาดใหญ่กว่าจะส่งผลให้เกิดเงาน้อยกว่าแหล่งกำเนิดแสงที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะเงาที่กระทบลงบนฉากหลังจะถูกแสงหักล้างซ้อนทับกันบนฉากหลัง

          ด้วยหลักการนี้ การใช้แฟลชถ่ายภาพในอาคารถ้าแฟลชสามารถปรับก้มเงยได้ก็ควรเบ๊าซ์แฟลชกับเพดานเพื่อให้ได้แสงที่นุ่มนวลขึ้น ยิงแสงแฟลชให้สะท้อนกับผนังหรือเพดานเมื่อแสงแฟลชตกกระทบกับเพดานก็จะกระจายแสงลงมาเปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดแสง

          ในการเบ๊าซ์แฟลช มีข้อควรระวังคือ ต้องดูว่าผนังหรือเพดานที่ต้องการยิงแสงแฟลชออกไปให้สะท้อนแสงมานั้นมีสีขาวหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นสีอื่นก็จะสะท้อนแสงออกมาตามสีนั้น ส่งผลทำให้ภาพได้รับแสงสีนั้นด้วย และอีกประการคือ เมื่อใช้แฟลชเบ๊าซ์สะท้อนเพดาน กำลังไฟของแฟลชจะถูกใช้มากกว่าการยิงแสงแฟลชตรงแบบปกติ แสงบางส่วนอาจถูกดูดกลืนไปบ้างตามความสามารถในการสะท้อนแสงของสี ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบด้วยว่าเพดานมีความสูงมากเกินไปจนแฟลชมีกำลังไฟพอหรือไม่ โดยสังเกตจากไฟสัญลักษณ์ด้านหลังแฟลชหรือดูภาพจากจอ LCD ก็ได้

การใช้แฟลชเป็นแสงเสริม (Fill In Flash)

          การถ่ายภาพโดยใช้แฟลชเป็นแสงเสริม (Fill In Flash) หมายถึง การถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติเป็นแสงหลัก ซึ่งมีค่าแสงเพียงพอในการถ่ายภาพแล้ว แต่ใช้แฟลชร่วมในการถ่ายภาพด้วย เพื่อให้แฟลชไปเปิดรายละเอียด เพิ่มมิติ เพิ่มความสดใสขึ้นให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายภาพแบบย้อนแสง

          เมื่อเราถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติเป็นแสงหลัก การควบคุมกล้องจะไม่ซับซ้อน เลือกใช้ระบบบันทึกภาพที่ถนัด วัดแสงใช้ค่าแสงที่วัดได้นั้นจะเป็นค่าแสงในการบันทึกภาพเปิดแฟลชให้มีการทำงาน ยิงแสงแฟลชออกไปแม้ว่าแสงธรรมชาติจะเพียงพอแล้วก็ตาม สิ่งควรระวังเมื่อใช้แฟลชเป็นแสงเสริม คือ ในสภาพแสงที่มีค่าความเข้มแสงสูงมาก ๆ

          โดยปกติแล้วกล้องจะมีค่าความไวชัตเตอร์สัมพันธ์แสงแฟลชที่ 1/200-1/250 วินาที แต่เมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีความเข้มแสงสูง ระบบแฟลชแบบ Hi Speed Sync จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถถ่ายภาพด้วยแสงที่มีความไวชัตเตอร์สูงเกินค่าความไวชัตเตอร์สัมพันธ์แสงเฟลช แต่เมื่อใช้ระบบแฟลช Hi Speed Sync ระยะการทำงานของแฟลชจะลดลงมาก นักถ่ายภาพต้องหมั่นตรวจสอบค่าความไวชัเตอร์ว่ามีค่าสูงเกินกว่าค่าความไวชัตเตอร์สัมพันธ์แสงแฟลชหรือไม่ ถ้าเกินจะต้องเปิดระบบแฟลชให้มีการทำงานแบบ Hi Speed Sync ด้วย และดูสแกลแสดงระยะการทำงานของแฟลชด้วยอยู่ในระยะทำงาน

การชดเชยแสงแฟลชร่วมกับการชดเชยแสงธรรมชาติ 

          หลักการทำงานร่วมกันเมื่อต้องชดเชยแสงร่วมกัน ก็คือ การชดเชยแสงนั้นเป็นการชดเชยแสงให้กับแสงธรรมชาติ (Ambient Light) ซึ่งมีผลกับฉากหลังของภาพ เมื่อวัดแสงเพื่อถ่ายภาพแล้วต้องคิดว่าอยากให้ฉากหลังมืดลงหรือสว่างขึ้น จากนั้นก็ชดเชยแสงให้กับฉากหลังตามต้องการ ส่วนการชดเชยแสงแฟลชนั้น เป็นการชดเชยแสงให้กับซัปเจกต์ในภาพ การชดเชยแสงแฟลชจะไม่มีผลต่อแสงฉากหลัง ยกเว้นว่าแฟลชยิงแสงไปถึงฉากหลังด้วย

          ทั้งนี้ การชดเชยแสงแฟลชให้เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในการถ่ายภาพว่าสภาพแสงธรรมชาติขณะนั้นเป็นอย่างไร และความต้องการของช่างภาพว่าอยากให้ภาพมีลักษณะออกมาเป็นอย่างไร

          ทั้งหมดนี้เป็นระบบการทำงานพื้นฐานของแฟลชที่ใช้งานอยู่ประจำ เมื่อฝึกฝนได้ดีแล้วนักถ่ายภาพก็จะสามารถเลือกนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมและได้ภาพที่ดีมากขึ้น รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ภาพแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย


เทคนิคการใช้แฟลชในการถ่ายภาพ

บีบมุมแสงแฟลช เพื่อเน้นจุดเด่น


เทคนิคการถ่ายภาพ


          ทุกวันนี้เทคนิคการแยกแฟลชเป็นเรื่องที่นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ ๆ คุ้นเคยกันดี ด้วยความก้าวหน้าของระบบแฟลชที่ทำให้ผู้ใช้สามารถแยกแฟลชออกจากตัวกล้องโดย ไม่ต้องใช้สายซิงค์ และการทำงานก็ยังเป็น TTL แฟลช ทำให้เราสามารถถ่ายภาพด้วยการแยกแฟลชออกจากตัวกล้องกันได้อย่างง่าย ๆ 

          แต่ภาพช็อตนี้ เทคโนโลยีช่วยทำให้ความยากกลายเป็นเรื่องกล้วย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ถ่ายกันได้ด้วยระบบ WIRELESS REMOTE FLASH ที่สั่งการทำงานจากแฟลชบ๊อปอัพ ก็ทำให้ภาพที่ดูเหมือนต้องจัดแสงวุ่นวายภาพนี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพที่บันทึกในเวลาไม่ถึง 15 นาที

          ด้วยความต้องการใช้แฟลชส่องแสงทะลุผ่านพื้นผิวของผลไม้ ผมจึงนำผลไม้มาฝานให้บาง ๆ แล้ววางบนกระดาษปอนด์สีขาว (กระดาษถ่ายเอกสาร) ขนาด A4 และเพื่อให้ภาพดูไม่ธรรมดาเกินไป ผมจึงนำแฟลชไปวางบนพื้น (ด้านล่างกระดาษ) โดยใช้มือซ้ายถือกระดาษ และมือขวาถือกล้อง ปรับตั้งแฟลชในโหมด WIRELESS TTL แล้วใช้แฟลชป๊อปอัพในการสั่งการทำงานของแฟลชแยก

          และเพื่อเน้นบางส่วนของภาพให้เด่นขึ้นมา ผมจึงซูมหัวแฟลชไปที่ช่วง 105 มม. เพื่อบีบแสงให้แคบลง และเล็งแฟลชให้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการคือ ที่ช่องว่างระหว่างกีวีกับส้ม แสงจะตกบริเวณนี้แรงกว่าขอบภาพ ทำให้ภาพดูแปลกตาขึ้นลวดลายบริเวณขอบภาพคือ พื้นผิวของกระดาษ

          แสงหลักจะมาจากด้านหลังของซับเจกต์ โดยมีแสงจากแฟลชป๊อปอัพเปิดเงาด้านหน้า ซึ่งจะสังเกตได้จากเปลือกของกีวี การยิงแสงแฟลชผ่านวัตถุแบบนี้เป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพมาโคร หลักสำคัญอยู่ที่แสงต้องผ่านได้ และความเข้มแสงต้องเหมาะสม

ใช้แฟลชหยุดภาพ


เทคนิคการถ่ายภาพ


          ไฟแฟลชที่ฉายแสงออกไปพร้อม ๆ กับที่เรากดชัตเตอร์นั้น มีความไวสูงมากพอที่จะหยุดทุกอย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ ให้หยุดนิ่ง ให้เกิดภาพได้ ผมมักใช้คุณสมบัตินี้มาใช้สร้างภาพอยู่เป็นประจำ เมื่อต้องถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนที่เร็ว ๆ ในสภาพแสงที่ไม่มากนัก

          การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ก็คงต่ำกว่า 1/15 วินาที ลงมา ไม่ควรต่ำกว่า 1 วินาที ใช้แก้ปัญหาในสภาพแสงน้อยแต่วัตถุเคลื่อนไหวเร็ว และเราต้องการให้ภาพแสดงความเคลื่อนไหว ขณะบันทึกภาพต้องแพนกล้องตามวัตถุไปในทิศทางเดียวกัน คือวัตถุเคลื่อนผ่านหน้าเรา เราต้องเริ่มจับภาพก่อนจะผ่านหน้าเราไป และกดชัตเตอร์บริเวณที่อยู่ตรงหน้าเรา พร้อมกับแพนเลยไปอีกเล็กน้อย

          อ่านดูเหมือนจะยากแต่ลองปฏิบัติดูไม่ยากครับ ซ้อมสักรอบสองรอบก็ใช้ได้แล้ว ส่วนที่ไฟแฟลชฉายไปกระทบวัตถุก็จะหยุดนิ่ง ส่วนที่ไฟแฟลชยังไม่ฉายไปกระทบ ก็จะเกิดการบันทึกภาพเป็นภาพที่พลิ้วไหว สร้างความเคลื่อนไหวให้กับภาพ และฉากหลังที่อยู่ไกลออกไปก็ไม่ถูกรบกวนจากแสงแฟลชที่ฉายแสงไปไม่ถึง

          และมีบ่อยครั้งที่มีใช้ไฟแฟลชเพื่อลดแสงให้กับฉากหลังของภาพให้มืดครึ้มลง มีหลายทริปที่ผมต้องถ่ายภาพกลางวันที่มีแสงเจิดจ้ามาก ท้องฟ้าก็มีสีขาวอมทุกข์ ผมนำไฟแฟลชขึ้นเสียบกับฮอทชูของกล้องปรับระบบบันทึกภาพของกล้องมาที่ตัว M วัดแสงโดยรวมให้มีฉากหลังของท้องฟ้าร่วมอยู่ในเฟรม ซึ่งน่าจะได้สภาพแสงที่ 1/250 รูรับแสง f/11 ที่ ISO-100 คราวนี้ก็มานึกว่าจะให้ภาพโดยรวมมืดลงสักเท่าไหร่ เอาเป็นสองรูรับแสงแล้วกัน ผมก็รี่รูรับแสงมาที่ f/22 เพื่อให้ภาพมืดลง แต่ไม่ใช่การปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้นนะครับ เพราะกล้องกำหนดมาแล้วว่าไม่ให้ใช้เกิน 1/250 อยู่แล้ว ส่วนแฟลชก็ตั้งรูรับแสงไว้ที่ f/22 หรือจะกว้าง หรือแคบกว่านั้น ตามชอบใจ สามารถตรวจได้ทันทีอยู่แล้ว เพียงดูที่จอมอนิเตอร์ของกล้อง

          ข้อควรระวังคือ ต้องวางวัตถุที่ต้องการจะบันทึกภาพไม่ว่าจะเป็นคน หรือดอกไม้ หรืออื่นๆ ที่เป็นฉากหน้าให้อยู่ใกล้พอที่ไฟแฟลชจะฉายไปถึง ต้องใกล้พอนะครับ ตรวจดูที่สเกลด้านหลังแฟลชก็ได้ครับว่า f/22 ไฟแฟลชฉายไปได้ไกลใกล้แค่ไหน ต้องอยู่ในช่วงนั้น ปัญหามักจะมืดหรือสว่างไปก็ตรงที่วัตถุที่เราจะถ่ายภาพอยู่ใกล้หรือไกลเกิน กว่าที่สเกลของไฟแฟลชระบุไว้

          สุดยอดของวิชาการใช้แฟลชคือ ต้องไม่ให้คนดูภาพรู้ว่าเราใช้แฟลช

Drop Background


เทคนิคการถ่ายภาพ


          เทคนิคในการใช้แฟลชถ่ายภาพนั้นหลากหลายมาก แฟลชเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในเรื่องแสง โดยเฉพาะเรื่องความเข้มแสงและทิศทางแสงในการถ่ายภาพเราสามารถใช้แฟลชสร้าง ความโดดเด่นกับซับเจกต์ให้ได้รับค่าแสงที่แตกต่างกับแสงธรรมชาติ ทั้งเรื่องของปริมาณแสงและทิศทางแสง

          ในการถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป เทคนิคขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้ได้ภาพที่น่าสนใจ เมื่อถ่ายภาพในขณะที่ฉากหลังมีรายละเอียดมากเกินไปหรือเรียกแบบชาวบ้านว่า "รก" ซับเจกต์หลักจมไปกับฉากหลัง เนื่องจากถูกแย่งความน่าสนใจ รายละเอียดของฉากหลังเบี่ยงเบนดึงดูดสายตาไปบ้าง แฟลช คืออุปกรณ์ที่ช่วยจัดฉากหลังที่ไม่ต้องการไปได้ โดยมีหลักการใช้งานง่าย ๆ ก็คือให้ซับเจกต์ได้รับแสงจากแสงแฟลช และเปิดรับค่าแสงธรรมชาติซึ่งเป็นค่าแสงของฉากหลังที่ต่ำกว่าค่าพอดี ส่วนจะมากน้อยเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ เราเรียกว่าเป็นการ Drop Background เป็นเทคนิคง่ายที่ใช้ได้ผลดีเสมอ การ Drop Background นั้น ก็เพื่อลดรายละเอียดและค่าความสว่างของฉากหลังซึ่งอาจรวมไปถึงสีด้วย

          การทำให้แสงเกิดความแตกต่างกันในภาพโดยเทคนิคขั้นพื้นฐานซึ่งง่ายและได้ใช้งานบ่อยมาก แต่ทั้งหมดก็มีที่มาจากการชดเชยแสงแฟลชร่วมกับการชดเชยแสงฉากหลัง ซับเจกต์หลักจะได้รับแสงจากแฟลช ส่วนฉากหลังก็จะได้แสงจากแสงธรรมชาติ เมื่อเราต้องการกดแสงฉากหลังให้มีค่าแสงลดลงก็เพียงแค่ชดเชยแสงที่กล้องวัด ได้ โดยสังเกตจากสเกลวัดแสง

          แต่ถ้าต้องการให้มืดดำสนิทก็อาจเลือกใช้ระบบบันทึกภาพแบบ M แล้วปรับค่าแสงโดยให้แสงธรรมชาติต่ำมากกว่า 2 สต๊อปส่วนซับเจกต์นั้นก็จะได้รับแสงจากแฟลช ปริมาณแสงที่ซับเจกต์นั้นจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการปรับค่าแสงแฟลช ในระบบ TTL ซึ่งง่ายและสะดวกที่สุดคุณก็เพียงแค่ปรับชดเชยแสงแฟลชที่ตัวแฟลชหรือที่ตัว กล้องในบางรุ่น (ซึ่งไม่ใช่ค่ารับแสงธรรมชาติ)

          ทั้งหมดคือหลักการง่าย ๆ เรื่องการควบคุมแสงแฟลชและแสงฉากหลังแต่หัวใจสำคัญในการ Drop Background ให้เข้มขึ้นนั้น คือการพยายามปรับแสงให้ให้ดูเป็นธรรมชาตินุ่มนวล ซับเจกต์ไม่ดูแตกต่างจนโดด ภาพดูแข็งเกินไปฉากหลังไม่จำเป็นต้องเข้มดำมืดสนิทถึงขั้นไม่มีรายละเอียด บางครั้งเพียงแค่มืดลงต่ำกว่าราว 1-2 สต็อป ก็ได้ภาพที่น่าสนใจแล้ว ส่วนบางภาพก็อาจจะลดลงจนเข้าดำก็ได้ อย่างเช่นในกรณีของภาพมาโคร บางครั้งภาพที่ดีไม่ได้มาจากเทคนิคยุ่งยากพิสดาร เทคนิคพื้นฐานง่าย ๆ ถ่ายภาพให้ดูดีไม่ยากครับ

Create Silhouette With Flash


เทคนิคการถ่ายภาพ


          ภาพตัวอย่างข้างบนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการใช้แฟลชที่ผมนำมาใช้บ่อย ๆ นั่นคือการใช้แฟลชสร้างภาพแบบซิลลูเอท ซึ่งภาพนี้จริง ๆ แล้วเกิดจากการผิดแผนในเรื่องของดินฟ้าอากาศ ความตั้งใจจริง ๆ ของผมหวังว่าจะได้ท้องฟ้าในช่วงทไวไลน์ที่เป็นสีน้ำเงินเข้ม ๆ แต่กลับเป็นเจอเมฆฝนทะมึนสีเทาแทน เลยต้องเปลี่ยนแผนมาใช้เลนส์มุมกว้างแล้วลงไปยืนในสระที่น้ำสูงเกือบถึงคอ วางกล้องในระดับเหนือน้ำนิดนึง แล้วจึงถ่ายงัดขึ้นเพื่อเก็บบรรยากาศริ้วเมฆฝน ใจนึงก็อยากได้เงาสะท้อนของตัวแบบบนผิวน้ำแบบเต็มตัว แต่ผมอยากได้เงาดำของต้นไม้ทั้งสองข้างด้านบนมาเป็นกรอบให้ภาพมากกว่า บวกกับข้อจำกัด ความลึกของระดับน้ำในสระที่ผมยืน จึงต้องยอมสัดส่วนของเงาสะท้อนบางส่วนไป

          จากนั้นให้ผู้ช่วยแยกแฟลชไว้หลังตัวแบบ ตั้งแฟลชระบบแมนนวลกำลังแฟลช 1 : 1 เพราะชุดเจ้าสาวค่อนข้างหนาผมกลัวว่าหากแฟลชเบาไปแสงจะไม่ทะลุผ่านและเนื่อง ด้วยผมต้องทำงานแข่งกับฝนที่กำลังลงเม็ดมา จึงใช้วิธีปรับค่าการรับแสงที่ตัวกล้องแทนการปรับกำลังไฟที่ตัวแฟลชอย่างที่ เคย จากนั้นก็เช็คแสงที่ผ่านออกมารวมถึงโครงสร้างรูปร่างของตัวแบบว่ารูปหน้ารูป ร่างชัดเจนไม่ปิดเบี้ยว จากนั้นนำมาปรับ WB และ Tint ในกระบวนการแปลงไฟล์ให้ออกสีชมพูอย่างที่เห็นในภาพ

          จริง ๆ แล้วเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ไม่ยุ่งยาก มีแฟลชตัวเดียวก็สามารถทำได้ และสามารถทำงานคนเดียวได้ (หากไม่ต้องลงไปแช่น้ำแบบผมนะครับ) แต่ต้องระวังเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการแยกแฟลช หากคุณใช้อุปกรณ์แยกแฟลชที่ทำงานด้วยระบบอินฟราเรด แฟลชมักจะไม่ทำงานเพราะโดนตัวแบบบัง ควรใช้อุปกรณ์แยกแฟลชที่ทำงานด้วยคลื่นวิทยุดีกว่า

          ผมเชื่อว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยให้คุณสนุกไปกับการใช้แฟลชถ่าย ภาพ และจะทำให้คุณได้รูปที่สวยและแปลกตาได้ไม่ยาก ลองเล่นกันดูนะครับ





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคการใช้แฟลชในการถ่ายภาพ อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2554 เวลา 22:53:12 50,238 อ่าน
TOP