ครูสมบูรณ์ ผู้ร่างความงดงาม ความทรงจำ แห่งคลองรังสิต


สมบูรณ์ พวงดอกไม้
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          "สมัยก่อนเราข้ามเรือไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว หมดแล้ว คุณจะทำถนนก็ทำไป แต่ก็เก็บวิถีเก่าไว้ด้วยสิ แล้วจัดการให้เรือนให้แพที่สร้างใหม่มาอยู่ใกล้ ๆ กัน ในอนาคตจะจัดล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลองก็ได้"

          เสียงของ "สมบูรณ์ พวงดอกไม้" หญิงร่างผอมในวัยใกล้หกสิบ แสดงถึงความไม่พอใจนัก เมื่อทราบข่าวว่า ผู้บริหารท้องถิ่นของเทศบาลเมืองรังสิตกำลังจะเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาว "รังสิต" ที่แสนงดงามแห่งนี้ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

          แม้ว่า "สมบูรณ์ พวงดอกไม้" จะไม่ได้เกิดและเติบโตในสถานที่แห่งนี้ แต่อดีตครูสอนศิลปะแห่งไทยวิจิตรศิลป์อาชีวะศึกษาคนนี้ ได้โยกย้ายเข้ามาพักอาศัยอยู่ ณ ริมคลองรังสิตเป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้ว เธอจึงผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ไม่แพ้ชาวรังสิตดั้งเดิมเลย ดังนั้นแล้ว เมื่อกำลังจะมีใครเข้ามาเปลี่ยนแปลงที่แห่งนี้ ให้เป็น "ตลาดน้ำริมคลองรังสิต" โดยที่คิดถึงแต่คนข้างนอก แต่ไม่เคยคิดถึงจิตใจของคนข้างใน จึงทำให้เธอขุ่นเคืองใจอยู่ไม่น้อย

          ชาวบ้านหลายคนถูกสั่งให้ย้ายออกจากบ้าน แล้วไปอยู่ "บนบก" ริมทางรถไฟที่ทางการจัดไว้ให้ ก่อนที่บ้านของพวกเขาจะถูกรื้อถอนทิ้ง สิ่งเหล่านี้ ทำให้ครูสมบูรณ์บอกว่า แม้ว่าสังคมกำลังมุ่งไปสู่ความเจริญ แต่ทว่าเราก็ไม่ควรละทิ้งอดีต ไม่ควรละทิ้งสิ่งที่เป็นตัวตนของท้องถิ่น เพราะไม่เช่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะสูญหายไปหมด


สมบูรณ์ พวงดอกไม้ สมบูรณ์ พวงดอกไม้

          ภาพการรื้อถอนของบ้านเรือนริมน้ำที่หายไปทีละหลัง ทีละหลัง ก็ทำให้ครูสมบูรณ์ ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำงานของเธอ ด้วยการบันทึกภาพความงามแห่งชีวิตของสองฝั่งคลองรังสิตก่อนจะสายเกินไป ด้วยเส้นสายลายพู่กันที่เธอสั่งสมมาจนเชี่ยวชาญ

          "ตอนแรกเริ่มวาดด้วยสีน้ำเล่น ๆ ก่อน ไม่นึกว่าจะเขียนทุกหลัง พอมาเห็นบ้านหายไปเรื่อย ๆ ก็เลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว" ครูสมบูรณ์ บอก

          นับตั้งแต่วันจักรีเมื่อปี พ.ศ.2553 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ที่ครูสมบูรณ์เดินทางมาพร้อมกับสมุดสเก็ตช์ภาพขนาด 39x26 นิ้ว และปากกาหมึกดำ เพื่อร่างภาพแห่งความทรงจำลงไปบนกระดาษ เพื่อบันทึกทุกอย่างเอาไว้ในแบบที่คนทั่วไปสัมผัสได้ แทนที่จะปล่อยให้เป็นเพียงภาพประทับใจในความทรงจำ


สมบูรณ์ พวงดอกไม้


          หลายคนที่เดินผ่าน ครูสมบูรณ์ อดจะแอบมอง หรือกระทั่งมุงดูสิ่งที่หญิงชราคนนี้ทำไม่ได้ แต่เธอก็ยังคงนั่งวาดภาพต่อไป เพื่อเก็บรายละเอียดและความงามในสิ่งที่เธอประจักษ์อยู่ตรงหน้า แม้ว่าภาพเบื้องหน้าของเธอ จะเต็มไปด้วยความแออัดพลุกพล่านจากยวดยานพาหนะที่แล่นผ่านไป แต่ก็ไม่สามารถทำลายสมาธิที่เธอมีต่อลายเส้นเบื้องหน้าได้ แม้กระทั่งในยามนั่งรถเมล์ ครูสมบูรณ์ ก็ยังหยิบสมุดปากกาขึ้นมาสเก็ตช์รูปได้อย่างไม่ยากเย็น

          แต่ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาสู่คลองรังสิตแห่งนี้ช่างรวดเร็วยิ่งนัก การเพ้นต์ภาพด้วยสีน้ำของครูสมบูรณ์ อาจไม่ทันการณ์ ทำให้ครูสมบูรณ์เปลี่ยนมาใช้การดรอว์อิ้งลายเส้นด้วยหมึกแทน ด้วยความตั้งใจว่า จะบันทึกภาพที่หลงเหลือตลอดฟากฝั่งคลองรังสิตจากคลองหนึ่งไปจนถึงครองสิบสี่ ชนิดที่เก็บรายละเอียดทุกเม็ด เสาทุกต้น ระเบียงทุกซี่ที่เธอสามารถมองเห็นผ่านสายตา

          "วาดมาได้หลังที่ห้า มีป้าคนหนึ่งแกคงอดรนทนไม่ไหว ก็เลยข้ามคลองมาคุยด้วย แล้วก็เล่าให้ฟังว่า บ้านของแกอยู่กันมาเกือบร้อยปี ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ไม่อยากจะย้ายไปเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เราก็ได้แต่บอกว่า ทำไมไม่ลองรวมกลุ่มกันมาก ๆ ไปบอกเทศบาลให้เขารู้ว่า ทำไมไม่เก็บอดีตเอาไว้ ป้าแกก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้"

          หลังจากได้พูดคุยกับคุณป้าคนนั้น ก็ทำให้ครูสมบูรณ์ยิ่งตั้งใจ จะเดินหน้าวาดภาพเก็บความงาม ณ ที่แห่งนี้ต่อไป เพราะเธอได้ค้นพบแล้วว่า สิ่งนี้ทำให้เธอมีความสุข และยิ่งเห็นก็ยิ่งหลงใหล แม้ว่าบางครั้ง ลมแดด ลมฝน จะเป็นอุปสรรคในการทำงานของเธอ หรือกระทั่งการเดินทางเข้าไปในพื้นที่จุดเปลี่ยวเพื่อเก็บรายละเอียดของภาพให้ครบถ้วน แต่เธอก็สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการผูกมิตรกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้เป็นบอดี้การ์ดคอยช่วยเหลือ และดูแลเธอ ณ ยามนั้นชั่วคราว


สมบูรณ์ พวงดอกไม้


          จวบจนถึงวันนี้ แม้ว่า ครูสมบูรณ์ จะเริ่มลงมือบันทึกภาพความทรงจำของเรือนไม้เก่าแก่ที่อยู่ตามถนนสายรังสิต-องครักษ์ ไปได้ไม่น้อยแล้ว แต่เธอก็ยังบ่นเสียดายที่ไม่คิดลงมือให้เร็วกว่านี้ เพราะหากเธอลงมือวาดภาพให้เร็วกว่านี้ ก็คงทันได้เห็นสิ่งที่สวยงามอีกมากมาย

          "มีความคิดที่จะเอาภาพทั้งหมดที่วาดมาต่อกัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนชายคลอง เอาให้ยาวร้อยสองร้อยเมตรเลย คิดไปถึงว่าจะเสนอให้ไปลงกินเนสส์บุ๊กเวิล์ด ออฟ เรคคอร์ด ว่าภาพเขียนจากริมคลองที่ยาวที่สุดในโลก" ครูสมบูรณ์ พูดด้วยความมุ่งมั่น

          และหากเธอทำสำเร็จ นี่ก็คงเป็นภาพยาวที่สุดในโลกที่ผู้หญิงเพียงคนเดียวสร้างมันขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากเห็นความงามเหล่านี้สูญหายไปกับความเจริญที่กำลังแทรกเข้ามาเบียดบังวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ และกำลังค่อย ๆ พร่องหายลงไปทุก ๆ วัน





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

นิตยสาร ค ฅน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครูสมบูรณ์ ผู้ร่างความงดงาม ความทรงจำ แห่งคลองรังสิต อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2554 เวลา 18:14:27 33,788 อ่าน
TOP
x close