วิกรม กรมดิษฐ์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก BE Magazine
เอ่ยชื่อผู้ชายคนนี้ "วิกรม กรมดิษฐ์" หลายคนคงรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขาดี แม้ว่าเขาจะถูกจัดอันดับจากนิตยสารต่างประเทศ ให้ติดอันดับเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย แต่หากมองข้ามเรื่องเงินทองและฐานะไป ผู้ชายคนนี้เป็นคนที่มีมุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจ ชวนให้รับฟังไม่น้อย
เมื่อไม่นานมานี้ "วิกรม กรมดิษฐ์" ได้ออกเดินทางกับคาราวานท่องประเทศลุ่มน้ำโขง ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 75 วัน เพื่อไปสัมผัสสังคมในอีกมุมมองหนึ่ง บนเส้นทางกว่าสองหมื่นกิโลเมตร "วิกรม" ได้รับรู้และสัมผัสชีวิตของผู้คนในเชิงลึกมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
"ปกติเวลาเราบินขึ้นจากสนามบินมันก็มองอะไรไม่เห็นแล้ว จะกี่หมื่นกิโล เราเดินทางแล้วมันก็จะเป็นแค่ก้อนเมฆกับสนามบิน แต่ไอ้อันนี้มันละเอียด เพราะทุก ๆ หนึ่งกิโล เราจะได้เห็นได้สัมผัสกับสองข้างทางที่เราไป ฉะนั้น ในหนึ่งพันกิโลมาเปรียบเทียบกับหนึ่งหมื่นกิโลของการเดินทางเครื่องบินแล้ว เทียบกันไม่ติดเลย" คุณวิกรม บอก
การเดินทางที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตเชิงลึกของผู้คน ทำให้ชายผู้นี้ได้รับรู้ว่า ทุกชีวิตต้องมีการขยับเพื่อความอยู่รอด และโลกที่หมุนในทุกวินาทีก็จะมีผู้คนอีกกว่า 7 พันล้านคนขยับตามไปพร้อม ๆ กัน สะท้อนให้เห็นว่า โลกใบนี้ช่างละเอียดนัก แถมยังกว้างใหญ่มากกว่าที่เรามีความรู้สึกในแต่ละวัน ขณะที่คนไทยเองยังล้าหลัง เพราะเราเห็นกันอยู่แค่นี้
วิกรม กรมดิษฐ์
นอกจากความคิดข้างต้นแล้ว คุณวิกรม ยังเห็นว่า 75 วันบนเส้นทางที่เขาเดินทางไปนั้น ทำให้เห็นว่าภูมิภาคนี้มีการขยับตัว มีการเปลี่ยนแปลงกันแล้ว แต่ประเทศไทย กำลังปล่อยให้มันผ่านไป ไม่แข่งขันกับคนอื่น อย่างเช่นประเทศจีน ที่เมื่อยี่สิบปีก่อนเคยเป็นประเทศยากจนกว่าไทย แต่ 5 ปีที่ผ่านมานี้ จีนรวยกว่า และกำลังจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำของโลก เพราะเขาต้องการวิ่งให้เร็วกว่าเข็มนาฬิกา ส่วนประเทศไทยอาจสบายเกินไป
เมื่อถามว่า อะไรที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเติบโตได้เท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน คุณวิกรม มองว่า เป็นเพราะ "ความคิด" ของคนไทย และถือเป็นปัญหาในสังคมไทยที่น่าห่วงที่สุด โดยปกติคนไทยคิดอยู่ 3 เรื่อง คือ "เห็นแก่ตัว" นำมาซึ่งความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก และการคอร์รัปชั่น หลายคนไปอวดร่ำอวดรวย ไปกดขี่ข่มเหงเขา และมีหลายคนพยายามจะเข้าไปทำงานราชการเพื่อกดขี่ชาวบ้าน อย่างที่สองก็คือ "มุมมองที่แคบเกินไป" ทำให้คนไทยคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ลำบาก และยาก ซึ่งเป็นทัศนคติในแง่ลบ และอย่างสุดท้าย คือ "อิจฉาตาร้อน" เมื่อเห็นใครทำดีได้ดี
"ทั้งสามตัวนี้เป็นตัวฉุดให้ประเทศต่ำ ล่าช้า ขัดแย้ง แบ่งแยก แล้วคนดีก็ไม่กล้าออกมาทำอะไร พอออกมาทำอะไรก็จะมีคนติ คนว่า จริง ๆ ในสังคมไทยมีคนดี ๆ เยอะ เขาก็ไม่อยากเปลืองตัว ทำให้คนเลว ๆ ครองเมืองเยอะ" คุณวิกรม แสดงความคิดเห็น และยังบอกอีกด้วยว่า ปัญหาหนึ่งของสังคมไทยคือไม่มองล่วงหน้า มักจะทำอะไรวันต่อวัน และเชื่อเรื่องดวง
แล้วหนทางใดที่จะทำให้สังคมไทยก้าวสู่การประสบความสำเร็จได้ล่ะ? สำหรับคำถามข้อนี้ คุณวิกรม ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศมหาอำนาจ เพราะก่อนอื่น สังคมไทยต้องมีความร่ำรวย ความเข้มแข็งเสียก่อน แต่เวลานี้ สังคมไทยกำลังอ่อนปวกเปียก
"คำว่าสังคมไทยนี้ถ้าจะพูดในหนังสือนี้คือ สังคมเมือง แต่ที่จริงสังคมไทยหมายถึงสังคมไทยทั้งประเทศ ประเทศไทยวันนี้เรามีคนจนกว่าค่อนประเทศ ประมาณ 38 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรยี่สิบกว่าล้านคนแค่เก้าถึงสิบเปอร์เซ็นต์ของมวลรวม แสดงว่า ประเทศไทยจนมาก และรายได้เขาต่ำมาก คนไทยส่วนใหญ่คนเชื่อเรื่องดวง โดยเฉพาะในภาคสังคมเกษตร และสังคมในเมืองก็ยังเห็นแก่ตัว และคิดแคบ แต่ถ้าในเมืองมองกว้าง ๆ มันก็จะดี แต่ถ้ายังคิดแบบนี้อยู่ต่อไปก็ยังไม่เจริญ อีกกี่ชาติเราถึงจะเป็นมหาอำนาจได้" คุณวิกรม ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย
วิกรม กรมดิษฐ์
สำหรับ CEO หมื่นล้านผู้รักการเดินทางคนนี้ เขามองว่า การเดินทางคือการไม่ยึดติดอยู่กับที่ เป็นการไปเจอกับความจริง และยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะการเดินทางทำให้เราได้ดูดซึมแล้วนำสิ่งที่พบเห็นมาถ่ายทอดบอกต่อ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น ซึ่งเขาก็ได้ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงในหนังสือหลาย ๆ เล่มด้วยปลายปากกา และความคิดที่กลั่นกรองออกมาจากตัวเขาเอง
"สิ่งที่ผมเก็บมาเขียนต้องมีเหตุผล ไม่งมงาย ทุกอย่างที่เขียนต้องเป็นกลาง และต้องเลือกแบ่งจัดอย่างมีเหตุผลอย่างถูกต้อง และเป็นสิ่งที่หนังสือผมที่ทำทุกเล่มจะยืนอยู่บนคำว่าเหตุผล และความถูกต้องเสมอ ความเป็นประโยชน์ต่อคนที่นำไปใช้ และเพราะผมคิดว่าพวกเขาคือลูกหลานของผม เขาคืออนาคตของผม"
สุดท้ายนี้ คุณวิกรม ยังบอกด้วยว่า ความฝันของเขาคือการทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ เดินทางไปในที่ที่ตัวเองไม่รู้จัก เขียนงานบ้างอะไรบ้าง เพราะอายุย่าง 59 ปีแล้ว ไม่ใช่น้อย ๆ และสิ่งที่จะต้องทำคือความรับผิดชอบ ว่าควรจะทำอะไรให้กับสังคมนี้บ้าง เพราะปัจจุบันนี้สังคมกำลังป่วย และกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตของความคิด ของความสามัคคี และของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้กำลังทำให้ประเทศไทยล้าหลังลงไปเรื่อย ๆ
"ชีวิตคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง เราเป็นผู้กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ดวง ไม่ใช่พระเจ้า แต่เราเป็นผู้กำหนด..." คุณวิกรม ทิ้งท้ายแง่คิดไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่งคนไทยจะขจัดความเห็นแก่ตัว ความแตกแยก และร่วมมือร่วมใจกันนำพาประเทศไทยมุ่งสู่ความเจริญไปพร้อม ๆ กัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
นิตยสาร BE Magazine ฉบับที่ 28