20 สุดยอดคนหัวใจแกร่ง ปลุกพลัง แรงบันดาลใจให้สังคม




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


                ในรอบปี 2555 ที่ผ่านมา นิตยสารหลายเล่ม ตลอดจนรายการโทรทัศน์หลายช่อง ได้นำเสนอเรื่องราวของบุคคลต่าง ๆ ที่มีหลักการในการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องของความมีคุณธรรม การอุทิศตัวเพื่อสังคม ความอดทนต่อความยากลำบากเพื่อต่อสู้กับอุปสรรคนานับประการ ชีวิตของใครหลาย ๆ คนที่ถูกถ่ายทอดออกมาสามารถเป็นแบบอย่างในความพยายาม และความมุ่งมั่นที่จะนำพาชีวิตของตนเองและผู้อื่นให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างน่าสนใจ

                อย่างเช่นเรื่องราวของทั้ง 20 คนหัวใจแกร่งต่อไปนี้ หากใครกำลังท้อแท้ เบื่อหน่ายกับปัญหาที่ถาโถมอยู่รอบตัว ลองเปิดใจอ่านเรื่องราวของพวกเขา แล้วคุณจะได้รับกำลังใจดี ๆ ที่จะช่วยปลุกพลังคุณขึ้นมาอีกครั้ง หากเรายึดมั่นและศรัทธาในสิ่งดี ๆ ที่เรากำลังทำ และก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่น เหมือนกับพวกเขาเหล่านี้....
 
พัทธยา เทศทอง
พัทธยา เทศทอง


รุ่งโรจน์ ไทยนิยม

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์



 นักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ทีมชาติไทย

                แม้ร่างกายจะเป็นอุปสรรค แต่หัวใจของเหล่านักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทยนั้นกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น อย่างที่พวกเขาพิสูจน์ให้คนไทยประจักษ์ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ที่ประเทศอังกฤษ ว่า  พวกเขาสามารถทำได้จริง ๆ จากผลงานอันยอดเยี่ยมที่กวาดมาถึง 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จาก พัทธยา เทศทอง และทีมบ็อคเซีย, รุ่งโรจน์ ไทยนิยม, สายสุนีย์ จ๊ะนะ, ประวัติ วะโฮรัมย์, สายชล คนเจน, โสภา อินทเสน และ ศุภชัย โกยทรัพย์ ขณะที่นักกีฬาคนอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้เหรียญรางวัลติดมือกลับมา แต่การที่พวกเขาแต่ละคนต้องฝึกฝนอย่างหนักหน่วงเหนือกว่าคนร่างกายครบ 32 กว่าจะได้ก้าวออกไปต่อสู้ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ก็ทำให้คนไทยภาคภูมิใจ และพร้อมจะปรบมือส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจพวกเขาตลอดไป

ครูสามารถ พ่อพิมพ์ผู้เสียสละแห่งโรงเรียนเรือนแพ

ครูสามารถ พ่อพิมพ์ผู้เสียสละแห่งโรงเรียนเรือนแพ

สามารถ สุทะ...คุณครูผู้เสียสละแห่งโรงเรียนเรือนแพ  

                ไม่บ่อยนักที่จะเห็นใครคนสักคนยอมทิ้งความสุขสบายในเมือง เข้าไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนวิชาความรู้ให้กับอนาคตของชาติ แต่ "สามารถ สุทะ" ก็คือคน ๆ หนึ่งที่คิดเช่นนั้น ทุก ๆ วัน ครูสามารถจะใช้เวลาเกือบ ๆ 7 ชั่วโมง ในการขับรถและพายเรือเข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าแก่งก้อ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง สถานที่ตั้งของ "โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ห้องเรียนสาขาเรือนแพ" กระท่อมไม้ไผ่กลางน้ำแม่ปิง เพื่อขัดเกลาลูกศิษย์ตัวน้อย ๆ ให้มีวิชาความรู้ติดตัว
 
                ตลอด 24 ชั่วโมง ครูสามารถซึ่งเป็นทั้ง "ครู", "ผู้ปกครอง" หรือแม้กระทั่ง "ภารโรง" ของโรงเรียนจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยสอนทั้งวิชาการ และกิจกรรมฝึกทักษะชีวิต เพื่อให้เด็ก ๆ ช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ ครูสามารถ อุทิศชีวิตและทุ่มเทกายใจเพื่อเด็ก ๆ เหล่านี้ ก็เป็นเพราะในอดีตเขาเคยขาดโอกาสเหมือนกับเด็ก ๆ เขาจึงอยากจะเติมเต็มโอกาสให้กับคนอื่นด้วยเช่นกัน ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูผู้ให้อย่างแท้จริง

                "ผมมองตัวเองว่า ผมทำงานที่นี่ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นมืออาชีพ แต่ผมเต็มที่ในสิ่งที่ผมทำ มุ่งมั่นเพื่อเด็ก มุ่งมั่นที่จะเปิดโอกาสให้เด็กมากกว่าที่อยากจะเป็นครูมืออาชีพ" ครูสามารถ ยืนยัน

สุดยอดโค้ชภารโรง จบแค่ ป. 4 แต่สอนเด็กจนได้รางวัลนับไม่ถ้วน

สุดยอดโค้ชภารโรง จบแค่ ป. 4 แต่สอนเด็กจนได้รางวัลนับไม่ถ้วน


ชอบ รุ่งเรือง สุดยอดโค้ชภารโรงวอลเลย์บอล
 
                จากนักการภารโรงธรรมดาคนหนึ่งของโรงเรียนบ้านไทยสันติสุข ในแถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์..."ชอบ รุ่งเรือง" ได้ผันตัวมาเป็นโค้ชสอนวอลเลย์บอลให้กับเด็ก ๆ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นเด็กนักเรียนบ้านไทยสันติสุขแข่งขันกีฬาไม่แพ้เด็กโรงเรียนอื่นอีกต่อไป นั่นจึงทำให้เวลาส่วนใหญ่ของโค้ชชอบหมดไปกับการฝึกสอนวอลเลย์บอลให้กับเด็ก ๆ และยังแบ่งเวลาตอนกลางคืนมาอ่านหนังสือเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอีกด้วย

                อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของโค้ชชอบในช่วงแรกก็คือ เขาไม่ได้มีความรู้เรื่องวอลเลย์บอลเลย แต่ก็หมั่นเรียนรู้ด้วยใจรักไปพร้อมกับเด็ก ๆ และได้ทหารพรานที่มาประจำการแถบชายแดนมาร่วมฝึกสอน ทำให้โค้ชชอบจดจำเก็บเกี่ยวเอาความรู้ต่าง ๆ มาปรับใช้ จนกระทั่งสามารถสอนให้เด็กนักเรียนมีความเป็นเลิศทางกีฬาวอลเลย์บอล จากโรงเรียนที่ได้อันดับบ๊วยในการแข่งขันระดับโรงเรียน ก็สามารถไต่เต้าขึ้นมาจนกวาดรางวัลนับไม่ถ้วน ทั้งแชมป์ตำบล แชมป์อำเภอ แชมป์จังหวัด และแชมป์ระดับภาค สร้างความภูมิใจให้กับตัวเอง และโรงเรียนอย่างที่สุด





ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อดีตเด็กเร่ร่อน ดิ้นรนจนเรียนจบดอกเตอร์

                ใครจะคิดบ้างว่า เด็กเร่ร่อนที่เที่ยวขอข้าวชาวบ้านกิน ประทังชีพด้วยเก็บขยะขายมาตลอดชีวิตในวัยเด็กจะสามารถดิ้นรนต่อสู้กับอดีตที่แสนโหดร้ายของตัวเองจนกลายมาเป็น "ด็อกเตอร์" อย่างเช่น "ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ" อาจารย์ภาควิชาวิศวอุตสาหการ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

                ชีวิตในวัยเด็กของ ดร.กุลชาติ ราวกับนิยายน้ำเน่าที่ผู้ประพันธ์ฝีมือดีบรรจงเขียนขึ้น หากแต่ทุกอย่างคือโลกแห่งความจริง ดร.กุลชาติ ในวัยเด็กไม่ได้เป็นคนรักการเรียนเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เพราะทนเห็นแม่ลำบากมาตลอดชีวิต เขาจึงตัดสินใจ "เรียน" เพื่อหวังให้การศึกษาช่วยยกระดับของพวกเขาสองแม่ลูกให้ดีขึ้น และความตั้งใจจริงของ ดร.กุลชาติ ก็ทำให้เขาขวนขวายจนคว้าปริญญาเอกจากประเทศญี่ปุ่นมาได้สำเร็จ

                ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณแม่ของ ดร.กุลชาติ คือคนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อาจารย์หนุ่มคนนี้เป็นอย่างทุกวันนี้ ด้วยคำสอนที่พร่ำบอกเสมอ ๆ ว่า "คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้" ยังคงเป็นคำที่ ดร.กุลชาติ จดจำไว้ในใจเสมอมา และนี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะจากต้นทุนชีวิตติดลบที่ต้องเกิดมากลายเป็นเด็กเร่ร่อน ขออาหารคนอื่นกินประทังหิวไปวัน ๆ แต่มาถึงวันหนึ่ง เขาตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางที่จะเป็นคนดี และใฝ่เรียน จนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด




 
ชมพู่ ภัทราวรรณ มิสวีลแชร์สาวนักสู้ ผู้ไม่ย่อท้อต่อร่างกายพิการ 

                เมื่อ 5 ปีก่อน ชมพู่ ภัทราวรรณ พานิชชา ในวัย 16 ปี ประสบอุบัติเหตุถูกรถสิบล้อชนขณะนั่งรถจักรยานยนต์ จนต้องสูญเสียขา ไม่สามารถเดินได้อีกต่อไป ทำให้สาวสวยที่กำลังจะมีอนาคตสดใสรู้สึกท้อแท้กับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จนแทบทำใจไม่ได้ แต่เมื่อเธอตั้งสติได้ เธอก็เข้าใจว่าแค่เดินไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นไร และไม่มีเหตุผลอะไรที่เธอจะต้องมานั่งท้อแท้กับโชคชะตาที่เกิดขึ้น เพราะเธอยังมีคนในครอบครัวที่คอยให้กำลังใจอยู่ นับแต่นั้น ชมพู่ ก็ขอลุกขึ้นสู้กับชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยการสอบเข้าไปเป็นนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นลูกแม่โดมดังใจปรารถนา โดยหวังจะจบออกมาทำงานพัฒนาสวัสดิการของคนพิการ และประกาศให้คนในสังคมเปิดใจยอมรับและให้โอกาสกับคนพิการมากขึ้น

                และเมื่อความพิการไม่ใช่ข้ออ้างในการเดินหน้าทำตามความฝัน เราจึงได้เห็น น้องชมพู่ ภัทราวรรณ พานิชชา ในวัย 21 ปี กล้าลุกขึ้นสู้กับตัวเองอีกครั้ง และความพยายามนั้นก็ส่งผลให้เธอสามารถคว้ามงกุฎ มิสวีลแชร์ ไทยแลนด์ 2012 (Miss Wheelchair Thailand 2012) มาเป็นรางวัลของชีวิต โดยสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากตัวน้องชมพู่ก็คือ ความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บวกกับการมีทัศนคติเชิงบวก ทำให้ชีวิตของน้องชมพู่มีความสุขไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเลย






 ฟ้า ฟารีดา สาวบาร์ใจแม่พระ ผู้เป็นนางฟ้าของหมาจรจัด

                ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ "ฟ้า ฟารีดา เยาวะนิจ" สาวบาร์หาค่ำกินเช้าต้องรับผิดชอบดูแลสุนัขจรจัดกว่า 500 ชีวิตที่เป็นทั้งสุนัขเร่ร่อนบ้าง มีคนนำมาทิ้งไว้เธอบ้าง สุนัขได้รับบาดเจ็บบ้าง ทั้งที่เธอจะไม่เลือกรับภาระนี้ก็ได้ หากแต่หัวใจที่เต็มไปด้วยความเมตตา และร่ำรวยไปด้วยน้ำใจเรียกร้องให้เธอทำเช่นนี้

                ทุกวันเธอจะตื่นแต่เช้าขึ้นมาทำความสะอาดสุนัข ทำความสะอาดกรง หาข้าวหาน้ำให้กิน จัดการดูแลทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่เธอจะทำได้ ก่อนจะออกไปทำงานในช่วงกลางคืน กลับเข้าบ้านก็ดึกดื่น เงินที่เธอได้ในแต่ละคืนไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก ทำให้เธอต้องกู้หนี้ยืมเงินมาใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลสุนัข และค่าใช้จ่ายอีกจิปาถะนับหมื่นบาท แต่เธอก็ยอมเพื่อให้สหายสี่ขาได้รอดตาย 

                "ณ ตอนนี้ เรามีชีวิตอยู่ ทำอะไรได้เราทำ เอาแค่วันนี้ให้ดีที่สุด วันนี้เราจะไปหาเงินยังไงให้เขาได้กิน วันนี้เราจะได้ทิปเท่าไหร่ เขาจะได้กินอะไรดี ๆ บ้าง ส่วนตัวเองไม่อะไรมาก แค่กินอิ่มแล้วมีงานทำ ไม่ต้องไปนอนอะไรมากเดี๋ยวก็สว่างแล้ว" นี่คือสิ่งที่นางฟ้าระลึกถึงอยู่เสมอ

ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

ประสงค์ อุไรวรณ์ นายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน
 
                แม้จะย้ายมาประจำอยู่ที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ไม่นาน แต่เวลา 24 ชั่วโมงของ นายอำเภอประสงค์ อุไรวรณ์ ก็อุทิศให้กับชาวบ้านในทุกพื้นที่ที่เขารับผิดชอบ ด้วยการลงพื้นที่ทำงานอย่างจริงจัง ทั้งตรวจงาน ติดตามปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้ามา ช่วยทำฝาย ให้ความรู้กับชาวบ้าน ไม่ใช่เพียงแค่นั่งโต๊ะเซ็นเอกสารไปวัน ๆ แต่เป็นการทำงานในฐานะ "ข้าของแผ่นดิน" สมกับคำกล่าวว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน" อย่างแท้จริง

                หลายคนอาจจะมองว่า คนเป็นถึงนายอำเภอไม่จำเป็นต้องออกมาลงมือลงแรงในหลาย ๆ เรื่องด้วยตัวเองขนาดนี้ แต่สำหรับนายอำเภอประสงค์ เขากลับมองว่า เกียรติและศักดิ์ศรีของนายอำเภอ คือ การที่ประชาชนยอมรับในตัวเขา หาใช่ตำแหน่งในชุดสีกากีไม่

                "ผมว่าเกียรติของการเป็นนายอำเภอ คือการที่ประชาชนยอมรับจากตัวเราจริง ๆ จากการที่ตัวเราเป็นตัวเรา ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมาย ตามตำแหน่งหน้าที่ ก็เหมือนกับที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเคยกล่าวไว้ อำนาจไม่ได้อยู่ที่พระแสงศาสตรา แต่อยู่ที่ราษฎรยอมรับนับถือ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ยั่งยืน และเป็นตัวตนที่แท้จริงของตำแหน่งนี้มากกว่า"
 


เอกชัย วรรณแก้ว

มนุษย์เพนกวิน เอกชัย วรรณแก้ว จิตรกรใช้เท้าวาดภาพ คว้าปริญญาตรี

                "เราต้องทำมากกว่าคนอื่น เช่นคนอื่นทำสองชั่วโมงเราต้องทำมากกว่านั้น เพราะศักยภาพเรามีจำกัด" เอกชัย วรรณแก้ว มนุษย์เพนกวินผู้ซึ่งเป็นจิตรกรไร้แขนใช้เท้าวาดภาพ ให้สัมภาษณ์หลังจากคว้าปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง มาครอบครองได้สมใจ

                เพราะใจรักศิลปะ ทำให้ เอกชัย ผู้ซึ่งพิการไร้แขนมาตั้งแต่เกิดฝึกฝนตัวเองอย่างหนักด้วยการหัดใช้เท้าวาดภาพ กระทั่งได้มีโอกาสเรียนหนังสือเหมือนคนปกติ ก่อนจะได้รับความเมตตาให้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง แน่นอนว่าการเรียนในโรงเรียนเพาะช่างที่เต็มไปด้วยยอดฝีมือ ยิ่งทำให้ เอกชัย ต้องกระตุ้นตัวเองให้ทำให้ได้ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อลบคำสบประมาทของหลาย ๆ คนที่เคยพูดกับพ่อแม่ไว้ว่า "จะส่งเขามาเรียนทำไม เรียนไปก็ไม่จบ จบไปก็ไม่มีงานทำ คนอย่างนี้ใครเขาจะเอาไปทำอะไร"

                ความยากลำบากของการเรียนอาจทำให้มนุษย์เพนกวินคนนี้ท้อแท้ไปบ้าง แต่เขาก็มีวิธีสร้างกำลังใจให้ตัวเอง เพื่อเอาแรงกลับมาเดินหน้าทำงานต่อ โดยไม่เคยต่อว่าโชคชะตาฟ้าดินที่ทำให้มีชีวิตแบบนี้ และ เอกชัย ก็ไม่ปรารถนาจะให้ใครมาสงสารในสิ่งที่เขาเป็น เขาขอเพียงแค่คนในสังคมจะเห็นคุณค่าในตัวของเขาจริง ๆ

                "ผมคงเป็นตัวอย่างให้คนอีกหลายคน ผมคิดว่าโอกาสของคนมันมีอยู่ แล้วแต่ว่าเราจะไขว่คว้ามันยังไง ผมว่าปีหนึ่ง 365 วัน วันหนึ่งมันต้องมีวันของเรา ถ้าเราไม่ท้อไม่ถอยไปเสียก่อน" เอกชัย ย้ำในความเชื่อมั่นที่ทำให้เขามีพลังสู้มาจนถึงทุกวันนี้

ชาวนาเงินล้าน...คำตอบสุดท้ายของชีวิต ชัยพล ยิ้มไทร

ชาวนาเงินล้าน...คำตอบสุดท้ายของชีวิต ชัยพล ยิ้มไทร

 
ชัยพล ยิ้มไทร...ปริญญาทำนา ชาวนาเงินล้าน

                น่าแปลกที่ ชัยพล ยิ้มไทร หนุ่มผิวคล้ำร่างอวบวัย 27 ปี ที่จบการศึกษาด้านกฎหมาย กลับไม่ได้คิดประกอบอาชีพในสายงานที่เรียนมาเลย ตรงกันข้าม เขากลับมานั่งคิดว่าตัวเองควรทำอาชีพอะไรดีจึงจะเหมาะกับคนรักอิสระเช่นเขา และเขาก็ค้นพบว่า อาชีพ "ชาวนา" นี่แหละ คือสิ่งที่เขาปรารถนา หลังจากได้อ่านนิตยสาร ค ฅน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้เขารู้จักกับ "ชัยพร พรหมพันธุ์" ชาวนาเงินล้าน เขาจึงดั้นด้นไปพบ ชัยพร เพื่อขอให้ถ่ายทอดการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนให้กับตัวเขาเอง

                หลังจากได้รับความรู้การทำนาแบบลดต้นทุน ไม่พึ่งปุ๋ย ไม่พึ่งยา จากครูชัยพร หนุ่มร่างอวบคนนี้ก็ตัดสินใจเช่าที่นาในจังหวัดปทุมธานี เพื่อปลูกข้าวทำนาในแบบฉบับของเขาตามคำสอนที่ครูชัยพรให้ไว้..."อย่าฝืนธรรมชาติ" คำ ๆ เดียวที่บันดาลเงินล้านให้ชัยพลตามรอยครูชัยพรได้ แม้จะต้องเจอกับคำสบประมาทกับพ่อแท้ ๆ ที่ไม่เชื่อว่า ชัยพล จะทำนาในวิถีทางนี้ได้สำเร็จ แต่เขาก็อดทน และมุ่งมั่น จนพื้นที่รกร้างกลายเป็นผืนนาสีเขียว และกลายเป็นรวงข้าวสีทองอร่าม สร้างรายได้หลักล้านให้กับเด็กหนุ่มดีกรีนิติศาสตร์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่สิ่งที่เหนือกว่ารายได้หลักล้านก็คือ ความภาคภูมิใจที่ชัยพลยืนหยัดหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินสร้างขึ้นมาเองกับมือทั้งสองข้าง

                เรื่องราวของ ชัยพล ยิ้มไทร ได้พิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นว่า อาชีพชาวนาไม่ใช่อาชีพที่จะทำให้คนยากจนลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มั่นคง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีได้ หากชาวนารู้จักพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งคนอื่น รู้จักแสวงหาความรู้ และไม่หลงไปกับคำโฆษณา อย่างเช่น ชัยพล ที่ปลูกข้าวโดยไม่ฝืนธรรมชาติ แม้ตัวเขาจะเหน็ดเหนื่อยแรงกาย แรงใจ และต้องใช้ความอดทนมากเพียงใด แต่ในที่สุดแล้ว เขาก็ประสบความสำเร็จ และค้นพบความสุขที่แท้จริงจากการเป็นชาวนา

ปลัดตู่ ธำรงค์ ชำนิจศิลป์

ธำรงค์ ชำนิจศิลป์ ปลัดจอมบู๊แห่งบุรีรัมย์ ผู้รักษาความยุติธรรมยิ่งชีพ

                แม้รู้ดีว่าชีวิตต้องตกอยู่ในความเสี่ยงตั้งแต่ที่ย่างก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบลประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ "ปลัดตู่" หรือ ธำรงค์ ชำนิจศิลป์ ก็ยืนหยัดที่จะทำงานอย่างตรงไปตรงมา แม้จะต้องไปขัดแข้งขัดขากลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเข้า จนได้รับผลตอบแทนกลับมาด้วยกระสุน 8 นัดที่สาดเข้าใส่

                การทำงานด้วยความซื่อสัตย์เพื่อชาวบ้านจนได้รับลูกกระสุนกลับมานั้น อาจทำให้ปลัดตู่จอมบู๊รู้สึกเจ็บปวด แม้แต่คนในครอบครัวเองก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากกลุ่มมือปืนที่ไม่พอใจการทำงานอย่างตงฉินของปลัดตู่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ปลัดผู้ทรงความยุติธรรมย่อท้อต่อการทำงานเพื่อตอบแทนแผ่นดินเกิด เขายืนกรานว่า ไม่มีสิ่งใดจะมาทำให้อุดมการณ์ของเขาเปลี่ยนไปได้ เพียงเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองจากกลุ่มที่โกงกินแผ่นดิน เขายังยืนยันจะปกป้องรักษาผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ให้ตกถึงประชาชนมากที่สุดสมกับที่ได้ดำรงตำแหน่งข้าราชการของแผ่นดินไทย


ปลัดเหมียว ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล


ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ปลัดฝ่ายบุ๋นผู้พิทักษ์ชาวบ้านปราณบุรี

                การดำรงตำแหน่งปลัด อบต.ปากน้ำปราน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นทำเลทองของการท่องเที่ยวที่เปรียบประดุจขุมทรัพย์ของนักกอบโกย ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะ "ปลัดเหมียว" หรือ ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ต้องเผชิญหน้ากับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่คิดจะกอบโกยผลประโยชน์จากชายหาดปราณบุรี กระทั่งรุกล้ำชาวบ้านที่เกิด กิน นอน ตาย อยู่ในพื้นที่ของพวกเขามานานนับร้อยปี จึงเป็นหน้าที่ของปลัดตงฉินที่จะคอยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องชาวปากน้ำปราณให้ได้มากที่สุด

                ทั้งนี้ วิธีการที่ปลัดเหมียวใช้ก็คือ การใช้วิธีประนีประนอม ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ เปรียบเหมือนปลัดฝ่ายบุ๋นที่ไม่เน้นการปะทะ แต่อาศัยการเจรจาอย่างรับฟังและเข้าใจ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่เมื่อวันหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปรื้อถอนรีสอร์ทที่สร้างรุกล้ำพื้นที่ส่วนรวม ปลัดผู้ซื่อสัตย์คนนี้จะใช้ความเด็ดขาดเข้าไปปะทะกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลอย่างไม่เกรงกลัว หลายครั้งปลัดเหมียวต้องเสี่ยงชีวิต แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นจะทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุด ด้วยเลือดรักชาติที่ต้องทำหน้าที่รักษาผืนแผ่นดินเกิดของตัวเองตราบที่ลมหายใจยังอยู่

ครูนาง นริศราภรณ์ แม่พระของเด็กสะพานพุทธ

ครูนาง นริศราภรณ์ แม่พระของเด็กสะพานพุทธ



 ครูนาง นริศราภรณ์ แม่พระของเด็กสะพานพุทธ

                "เด็กเร่ร่อน" อาจเป็นกลุ่มคนที่สังคมเพิกเฉย ไม่สนใจใยดี เพราะเกรงว่าพวกเขาจะนำความเดือดร้อนมาให้ แต่สำหรับ นริศราภรณ์ อสิพงษ์ หรือ ครูนาง แห่งมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ในพระอุปถัมภ์ฯ หรือศูนย์เมอร์ซี่ ในฐานะครูข้างถนน เธอเป็นบุคคลหนึ่งที่พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เด็กเร่ร่อนได้หลุดพ้นจากคำว่า "เด็กเร่ร่อน" พร้อมกับเข้าไปช่วยเหลือให้เด็ก ๆ เหล่านี้ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

                เชื่อไหมว่าตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ ครูนาง ลงพื้นที่คลุกคลีกับเด็ก ๆ ทำให้เธอรู้ว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนก้าวร้าวอย่างที่ใคร ๆ มอง เธอจึงพยายามทำงานแก้ปัญหาและช่วยเหลือเด็ก ๆ ในทุกเรื่อง ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเห็นพวกเขาหลุดพ้นจากวังวนชีวิตเช่นนี้ ที่ผ่านมา ครูนาง ส่งเด็ก ๆ เหล่านี้ไปเรียนหนังสือ สอนให้ทำงาน รวมทั้งใช้ธรรมะขัดเกลาจนเด็ก ๆ ได้บวชเรียน ผ่านการลองผิดลองถูกมามากมาย ทำให้ครูนางผู้เสียสละคนนี้เปรียบเสมือนเป็นแม่พระของเด็กเร่ร่อนก็มิปาน



เจสซี่ คนค้นคน หนุ่มน้อยลูกครึ่งไทย หัวใจกตัญญู  
 
                ในขณะที่เพื่อน ๆ วัยเดียวกัน มีเวลาว่างได้ไปเที่ยว เล่นกีฬา ในช่วงหลังเลิกเรียน หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่สำหรับ เจสซี่ เครเมอร์ หนุ่มน้อยลูกครึ่งเยอรมัน-ไทย วัย 12 ปี ต้องมาช่วยแม่ทำงานด้วยการเดินขายขนมเค้กตามชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง หลังจากพ่อเลิกรากับแม่ จนแม่ต้องพาเจสซี่มาอยู่ที่เมืองไทยตั้งแต่เขามีอายุเพียง 7 ขวบ

                ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เจสซี่ รู้ดีว่าแม่ของเขาลำบากแค่ไหนในการหาเลี้ยงชีพ เขาจึงคิดจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับแม่ และเพราะความที่เจสซี่เป็นคนสุภาพอ่อนน้อม มีอัธยาศัยดี นักท่องเที่ยวจึงช่วยอุดหนุนขนมเค้กของเจสซี่บ่อย ๆ และ เจสซี่ ก็ยังหมั่นฝึกฝนค้นคว้าหาความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ จนรับจ๊อบช่วยลงโปรแกรม และซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ให้กับลูกค้าได้ด้วย ซึ่งเด็กชายวัย 12 ปีคนนี้ก็ทำได้อย่างช่ำชองในราคาย่อมเยา และอาจจะเป็นเพราะความกตัญญูนี่ล่ะที่ทำให้ เจสซี่ มีแฟนคลับมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเรื่องราวของเขาออกอากาศในรายการคนค้นฅนจนเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่ง เจสซี่ ก็ได้ขอบคุณแฟนคลับทุกคนอย่างใจจริงว่า

                "ดีใจมากครับที่ได้รับความเมตตาจากแฟนคลับ ทุกคนมีบุญคุณกับเจส ขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่มาเจอ มาช่วยเจสขึ้นมาจากน้ำทะเลนะครับ" คำขอบคุณของเด็กน้อยที่ดูภายนอกเหมือนจะไร้เดียงสาตามประสาเด็กทั่วไป แต่ภายใน เขาคือเด็กฉลาดที่มีความคิดเกินวัย และเต็มไปด้วยจิตใจมุ่งมั่นเกินร้อยที่จะลิขิตชีวิตใหม่ด้วยตัวเอง...


น้องฟ้าใส

ฟ้าใส...นางฟ้าของแม่ กับการต่อสู้ในโลกอันมืดมิด 

                "ไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบ" แต่ก็ไม่มีใครในโลกใบนี้ที่จะโชคร้ายไปเสียทุกอย่าง...ชีวิตของ "ฟ้าใส" เด็กหญิงพรรณรมณ แสงสุรัตน์ วัย 4 ขวบ ก็เช่นกัน แม้ว่าโลกอันงดงาม บริสุทธิ์ สดใส และก้องกังวานไปด้วยเสียงเพลงของเธอจะเป็นโลกที่มืดมิด แต่เธอก็ยังโชคดีที่มีคุณแม่หัวใจแกร่ง ซึ่งรักเธอปานแก้วตาดวงใจคอยเป็น "ดวงตา" เปิดโลกที่สวยงามให้กับนางฟ้าตัวน้อย ๆ ได้สัมผัส

                น้องฟ้าใส เธอป่วยเป็นมะเร็งสมอง ระยะที่ 4 ตั้งแต่มีอายุแค่เพียง 5 เดือน แต่แพทย์ก็ผ่าตัดช่วยชีวิตรอดมาได้ราวกับปาฏิหาริย์ แม้การผ่าตัดจะส่งผลให้เธอต้องตาบอดทั้งสองข้าง แต่ฟ้าใสกลับไม่ได้เกรงกลัวต่ออนาคตที่มืดมิด เธอเติบโตขึ้นเป็นเด็กน้อยที่เฉลียวฉลาด ช่างพูดช่างเจรจา ใครเห็นใครก็หลงรัก ให้กำลังใจเธอ และพร้อมที่จะเรียนรู้สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว โดยมีคุณแม่ปวีณาคอยปลูกฝังให้ลูกสาวเข้มแข็ง ต่อสู้กับโรคร้าย และหัดช่วยตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของใคร ๆ

                "รู้สึกภูมิใจในตัวเขา ทุกวันนี้ที่เขาอยู่ได้ เพราะเขาเป็นคนอึดมาก อดทนสุด ๆ ก็เลยรู้สึกว่าลูกเก่งมากเลย ลูกสู้ไปกับแม่นะ ลูกสู้ได้ขนาดไหน ทำให้แม่ยิ่งต้องสู้ไปกับลูก
เขาก็เป็นกำลังใจให้เราเป็นอดทนสูงมาก เขาสู้ได้ขนาดนี้ เราจะท้อไม่ได้ ต้องเป็นกำลังใจให้ลูก ลูกก็เป็นกำลังใจให้เรา" คุณแม่ปวีณา บอกอย่างมีความสุข 

                แม้ฟ้าใสจะมิอาจมองเห็นโลกที่สวยงาม หรือแม้กระทั่งใบหน้าของแม่ผู้ที่รักเธออย่างสุดหัวใจ แต่เชื่อได้เลยว่า นางฟ้าตัวน้อยคนนี้จะสัมผัสได้ถึงความรัก และความอบอุ่นที่ผู้เป็นแม่ส่งผ่านมาให้เธอด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์แน่นอน



แม่ใหญ่ ผู้มอบชีวิตใหม่ให้เด็กกำพร้าชาวกะเหรี่ยง  
 
                "แม่" คือ สตรีที่ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อให้เลือดในอกได้รับความสุขสบาย นิยามคำนี้ไม่ต่างไปจากชีวิตของ "แม่ใหญ่ ทัศนีย์ คีรีประณีต" หญิงชาวกะเหรี่ยงที่เพียบพร้อมไปด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ที่เธอมอบให้กับเด็กกำพร้ากว่า 60 คน เด็ก ๆ เหล่านี้ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เพียงเพราะพวกเขาเป็นเด็กที่เกิดมาแล้วทำให้แม่เสียชีวิต ซึ่งตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงบ้านระเมิง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ได้พิพากษาว่า เด็กที่ทำให้แม่เสียชีวิตถือเป็น "เด็กอัปมงคล" หากใครชุบเลี้ยงไว้ก็จะถูกขับไสออกจากหมู่บ้าน

                เพราะไม่อาจทนเห็นเด็กน้อยตาดำ ๆ ถูกทอดทิ้งได้ "แม่ใหญ่" จึงตัดสินใจโอบอุ้มทารกเอาไว้ด้วยความเมตตาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แม้เธอจะเป็นเพียงชาวกะเหรี่ยงยากจนคนหนึ่งมี่อาศัยอยู่ในป่าเขา แต่ก็ยอมอุทิศชีวิตมาดูแลเด็ก ๆ ซึ่งก็คงไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าการที่ "แม่ใหญ่" เองก็เข้าใจความรู้สึกของการเป็นเด็กกำพร้าเหมือนกัน นั่นเพราะเธอเติบโตมาโดยที่ไม่ได้รับความอบอุ่นจากพ่อ จึงรู้ดีว่าความปวดร้าว ว้าเหว่นั้น เจ็บปวดเพียงใด เธอจึงขอเติมเต็มความอบอุ่นให้กับลูก ๆ ด้วยความรักของเธอเอง

ครูเข็ม ผู้ทุ่มเทจิตวิญญาณ ปั้นเด็กให้เป็นคนดีของสังคม

ครูเข็ม ผู้ทุ่มเทจิตวิญญาณ ปั้นเด็กให้เป็นคนดีของสังคม

ครูเข็ม ผู้ทุ่มเทจิตวิญญาณ ปั้นเด็กให้เป็นคนดีของสังคม 

                คำว่า "ครู" นั้น ไม่จำเป็นต้องแสดงบทบาทหน้าที่เฉพาะเพียงในโรงเรียนเท่านั้น แต่ "ครูที่ดี" ควรสวมจิตวิญญาณความเป็นครูในทุกวินาทีที่ดำรงชีวิตอยู่ อย่างเช่น คุณครูสุภาณี ยังสังข์ หรือ คุณครูเข็ม ครูผู้เสียสละจากโรงเรียนเทศบาลวัดนางลาด จังหวัดพัทลุง ที่ไม่ใช่แค่อบรมสั่งสอนความรู้ด้านวิชาการให้กับเด็กนักเรียน แต่เธอยังทุ่มเทเวลาให้กับเด็กเหลือขอ เด็กนอกคอก เด็กแว้น ที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม เพราะครูเข็มมีความเชื่อมั่นว่า เด็กเหล่านี้ก็เป็นความหวังและพลังของสังคมเช่นกัน เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สามารถขัดเกลาให้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ได้หากได้รับโอกาสและการเอาใจใส่ ครูเข็ม จึงได้ตั้งโรงเรียนปลายข้าว ซึ่งเป็นโรงเรียนนอกระบบแห่งหนึ่งขึ้นมา

                แต่ละวัน ครูเข็ม จะเป็นผู้ออกไปลากตัวลูกศิษย์ที่คนมองเป็นเด็กเหลือขอให้ลุกขึ้นมาจากเตียง เพื่อมาเรียนหนังสือ และยังตามไปสอนลูกศิษย์หลาย ๆ คนถึงที่บ้านด้วยเทคนิคหลาย ๆ อย่างที่ช่วยเปิดใจเด็กเกเรให้สนใจการเรียนได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนนับถือครูเข็มเปรียบเสมือน "แม่" อีกคนหนึ่งซึ่งช่วยชุบชีวิตใหม่ให้กับพวกเขา โดยครูเข็มบอกว่า สิ่งสำคัญคือการเปิดใจเข้ามาสัมผัสชีวิตเด็กเหล่านี้ ไม่ปล่อยให้พวกเขาเผชิญชีวิตตามยถากรรม

                สิ่งที่ ครูเข็ม ทำ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บทบาทของครูไม่ได้หมายความเพียงแค่ผู้ที่ให้ความรู้และสอนบทเรียนต่าง ๆ ในห้องเรียนแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ครูยังต้องเป็นผู้อุทิศตนเองให้กับลูกศิษย์ มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กเป็นคนดีของสังคม โดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน....

พระป๊อก คนค้นฅน

พระป๊อก คนค้นฅน

พระป๊อก โค้ชฟุตบอลผ้าเหลือง ที่พึ่งของเยาวชน  

                เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พระสมุห์โกศล ญาณวโร หรือ พระป๊อก เจ้าอาวาสวัดป่าท่านุ่น ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา คือผู้ที่ชักชวนให้เยาวชนในชุมชนมาเล่นกีฬา โดยปลุกปั้นทีมฟุตบอลเยาวชนขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ด้อยโอกาสได้ทำกิจกรรมที่พวกเขารัก ดีกว่าหันไปพึ่งยาเสพติด และผลจากความพยายามครั้งนั้น ทำให้ทุกวันนี้ เยาวชนที่เคยมีเรื่องบาดหมางคลางแคลงใจกันกลับกลายมาเป็นเพื่อนร่วมทีมที่เข้าอกเข้าใจกันได้ สร้างความปลื้มใจให้กับชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านคือความหวังของชุมชนที่ทุกคนต่างไว้ใจ เพราะท่านช่วยเหลือและพัฒนาเด็ก ๆ ในชุมชนได้อย่างเห็นผล

                อย่างไรก็ตาม คนอาจจะมองว่าความเป็นพระสงฆ์ที่ต้องสำรวมกิริยากับการเล่นฟุตบอลดูค่อนข้างจะสวนทางกัน แต่พระป๊อกก็อยากให้ดูที่เจตนา เพราะสิ่งที่ท่านทำอยู่ทุกวันนี้คือการทำเพื่อเด็ก ๆ ให้เรียนรู้ความมีระเบียบวินัย และน้ำใจนักกีฬา ไปพร้อม ๆ กับการมุ่งมั่นตั้งใจ ที่ทำให้ห่างไกลจากสิ่งยั่วยุ และแม้ว่าเด็ก ๆ เกือบทั้งหมดจะเป็นชาวมุสลิม แต่พระป๊อกก็มองว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก ท่านจึงจัดพื้นที่ภายในวัดให้เด็ก ๆ ที่มาเก็บตัวฝึกซ้อมได้ทำละหมาดตามพิธีของชาวอิสลาม ขณะเดียวกันก็พร่ำสอนเด็กชาวพุทธให้รู้จักคุณค่าของสิ่งของ และมีวินัยในตนเอง

                แม้ว่าจะต้องดูแล คอยให้ความรู้ คอยสั่งสอนอบรมบ่มจิตใจกับเด็ก ๆ เยาวชน แต่พระป๊อก ก็ไม่ได้ละเว้นหน้าที่ในทางธรรม ท่านยังคงดูแลวัดป่าท่านุ่น และเผยแพร่ธรรมะแก่พุทธศาสนิกชนอยู่เสมอ ชาวบ้านแถวนั้นต่างก็ตื้นตันใจในสิ่งที่พระสงฆ์รูปนี้ทุ่มเทเพื่อวัดและคนในชุมชน พร้อมกับยกย่องให้เป็นพระนักพัฒนาตัวจริง

สิน

สิน

แม่ชีเพ็ญ ผู้ชุบเลี้ยง น้องสิน เด็กพิการสายตาที่รอวันอยู่ในโลกมืด

                ในสังคมปัจจุบันที่แม่วัยรุ่นตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมีเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน ทำให้เด็กหลายคนถูกผลักไสจากแม่แท้ ๆ ซึ่ง "น้องสิน" เด็กผู้ชายรูปร่างผอมบาง วัย 10 ขวบ ก็คือเหยื่อคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากความพยายามทำแท้งของแม่วัย 14 ปี แต่ทว่า "น้องสิน" กลับเกิดมาพร้อมกับความพิการ และดวงตาข้างขวาที่บอดสนิท ส่วนดวงตาข้างซ้ายนั้นสั้นถึง 2,100 และมันจะค่อย ๆ มืดลงเรื่อย ๆ จนถึงบอดสนิทเมื่อถึงวันที่น้องสินจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

                แม่ชีเพ็ญ ชญาณ์พิมพ์ ชินปิติวงษ์ เป็นผู้ชุบเลี้ยงน้องสินมาตั้งแต่แบะเบาะ และเป็นคนที่น้องสินเรียกว่า "แม่" แม่ชีเพ็ญรู้ดีว่าอีกไม่ถึง 10 ปี ลูกชายคนนี้จะต้องอยู่ในโลกที่มืดมิด เธอจึงให้ความรักกับน้องสินประดุจเลือดในอก และสั่งสอนให้น้องสินรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ทั้งคู่ผูกพันจนไม่อาจแยกจากกันได้ แต่แล้วในที่สุด แม่ชีเพ็ญก็ตัดใจส่งน้องสินไปเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ เพื่อให้น้องสินได้เตรียมความพร้อมกับอนาคตที่ต้องอยู่ในโลกมืดในวันข้างหน้า โดยเชื่อว่านี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดแล้ว แม้น้องสินจะร่ำร้องไม่อยากจากแม่ผู้เป็นที่รักไปไกล

                "เขาเหมือนต้นไม้ ตอนนี้เขายังไม่รู้เลยว่าควรจะไปอยู่ดินแบบไหน เขาเป็นต้นอะไร ถ้าเขาเป็นต้นกระบองเพชร เขาก็ต้องไปอยู่ดินทราย เราจะเอาเขาไปอยู่ดินที่มีน้ำ เขาก็ตาย ตอนนี้เขากำลังไปหาดินที่เขาไปอยู่ ว่าเขาควรจะไปโตที่ไหน เราหาความเจริญเติบโตให้เขาได้แค่อาหาร แต่การที่เขาจะโตและดำรงชีวิตต่อไปเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าเรารักและโอบอุ้มเขาอยู่ในบ้าน เราก็ได้แค่เด็กตาบอดคนหนึ่งที่อยู่ในบ้าน ถ้าแม่ตายก็ไปเป็นภาระให้คนอื่น สู้ให้เขาเป็นคนตาบอดที่มีศักยภาพ และดูแลตัวเองดีกว่า เพราะขนาดเราหลับตา เรายังทุกข์เลย แต่เขาต้องหลับตาไปตลอดชีวิต ทางโรงเรียนต้องสอนให้เขาดูแลตัวเองได้ได้ดีกว่าเราแน่" แม่ชี เผยความในใจที่ปรารถนาให้สินไปโรงเรียน


                ชีวิตในโรงเรียนสอนคนตาบอดไม่ได้เลวร้ายอย่างที่น้องสินคิด น้องสิน มีเพื่อน มีพี่ มีคุณครูที่คอยดูแล ทุกคนรักและเอ็นดูน้องสินมาก เพราะน้องสินเป็นเด็กดีมีน้ำใจ เชื่อได้เลยว่า แม้ว่ากาลเวลาข้างหน้าจะทำให้น้องสินไม่สามารถมองเห็นความสวยงามของโลกใบนี้ได้อีก แต่ชีวิตของเด็กชายที่เปี่ยมไปด้วยจิตใจที่งดงามและใสสว่าง เพราะถูกปลูกฝังให้เป็นคนดีของสังคมมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ คนนี้ จะมีชีวิตที่สดใส และมีดวงใจที่ไม่มืดบอดเฉกเช่นดวงตาอย่างแน่นอน

เขียว ศิริธร โยธิน ชายเร่ร่อนผู้รักในหลวงยิ่งชีพ

เขียว ศิริธร โยธิน ชายเร่ร่อนผู้รักในหลวงยิ่งชีพ

เขียว ศิริธร โยธิน ชายเร่ร่อน ผู้รักในหลวงยิ่งชีพ

                การแต่งตัวซอมซ่อ เนื้อตัวมอมแมม ผมเผ้ารุงรัง หน้าตาน่ากลัว อาจทำให้หลายคนมองว่า "เขียว ศิริธร โยธิน" ไม่ต่างจากคนบ้าคนหนึ่ง เขาไม่มีบ้านให้อาศัย ไม่มีครอบครัว ไม่มีเพื่อนฝูงให้พูดคุยปรับทุกข์ แต่ทว่าเขายังมี "พ่อ" คนหนึ่งที่เขาเทิดทูนอยู่ในดวงใจไม่ต่างจากคนไทยทุกคน...พ่อหลวงของชาวไทย

                ชีวิตของเขียวกลายเป็นคนเร่ร่อนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากเขาทำตัวไม่ดีประชดพ่อแม่จนรู้สึกได้ว่าไม่ควรจะมีครอบครัวอีกต่อไป เขาจึงบอกเลิกกับภรรยาและลูกวัย 3 ขวบ พลิกชีวิตออกมาขี่ซาเล้งคุ้ยขยะหาของเก่า และมีอยู่ 2 สิ่งที่ เขียว จะเก็บไว้อย่างดีหากเจอตกหล่นอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ สิ่งแรกก็คือ หนังสือ ที่เขียวจะเก็บมาอ่านทุกเล่ม เพื่อจดจำและเรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ หนังสือหลายเล่มที่ถูกทิ้งขว้างไปเปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง อย่างเช่นครั้งหนึ่งเขาเก็บหนังสือธรรมะได้ และเปิดอ่าน จนทำให้เขาเลิกทำตัวสำมะเลเทเมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

                ส่วนอย่างที่ 2 คือ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เป็นภาพตามปฏิทินเก่า ๆ เขียว จะเก็บมาเช็ดทำความสะอาด ซ่อมแซมภาพที่ชำรุดแล้วเก็บสะสมเอาไว้ บางภาพก็นำมาติดเอาไว้ที่หน้ารถซาเล้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนภาพอื่น ๆ เขาจะตั้งไว้บริเวณหัวนอน เพื่อกราบไหว้ พร้อมกับสวดพระคาถาชินบัญชรขอพรให้ท่านทุกครั้ง ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่า เราควรเคารพบูชาพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณของพระองค์ เพราะเราอาศัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวอยู่

                ไม่ว่าใครจะมองเขาด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทว่าเป็นคนบ้า แต่เขียวยืนยันว่าจะไม่โกรธ และยังคงเดินหน้าทำมาหากินด้วยการเก็บขยะขายต่อไป รวมถึงจะแสดงออกถึงความรักที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัว ตราบเท่าที่เขายังมีลมหายใจอยู่ แม้จะไม่มีใครมองเห็นหัวใจที่ดีงามของเขาก็ตาม

น้องเดียว นายหนังตะลุงตาบอด

น้องเดียว นายหนังตะลุงตาบอด

พรสวรรค์บันดาล น้องเดียว นายหนังตะลุงตาบอด ผู้สร้างเงาในโลกมืด 

                แฟนหนังตะลุงเมืองคอน คงไม่มีใครไม่รู้จัก "น้องเดียว" หรือ บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง นายหนังตะลุงชื่อดังจาก "คณะน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม" วัย 23 ปี เขาเป็นผู้สร้างเสียงหัวเราะและความสุขให้กับผู้ชมทุกรุ่นทุกวัย น่าพิศวงไม่น้อยที่ "น้องเดียว" เป็นผู้พิการทางสายตามาตั้งแต่ 2 ขวบ และใช้ชีวิตอยู่ในโลกไร้แสงสว่างมาตลอด 20 กว่าปี แต่เขาสามารถฝึกฝนตัวเองในกลายเป็นนักพากย์หนังตะลุงได้ช่ำชอง จนกลายเป็นขวัญใจพ่อยกแม่ยกไปทั่วภาคใต้

                "สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องทำให้ผู้ชมที่มาดูมีความสุขให้ได้ เพราะพวกเขาเสียสละเวลาพักผ่อนมาให้กำลังใจเรา เราจึงต้องมอบอะไรให้กับเขากลับไป จะได้ไม่เป็นการเอาเปรียบประชาชน" น้องเดียว บอก และพูดอีกว่า สิ่งที่ทำให้เขามีความสุขที่สุดก็คือ เสียงหัวเราะของผู้ชม เพราะยิ่งคนหัวเราะมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นที่ทำให้คนปลดทุกข์ได้ จนมีกำลังใจตามไปด้วย

                เชื่อไหมว่าหนังตะลุงที่ซบเซาไปช่วงหนึ่ง บัดนี้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยฝีมือของน้องเดียว เด็กหนุ่มผู้มุ่งมั่นและหลงรักในศาสตร์หนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจ แม้ว่าสิ่งที่เขา "ขาด" หายไปคือ ดวงตาทั้ง 2 ข้าง แต่มาวันนี้ เขากลับ "ได้" หัวใจของคนอีกเป็นร้อยเป็นพันที่ปลาบปลื้มและชื่นชมหนุ่มพิการผู้เข้มแข็ง และมีหัวใจเกินร้อยคนนี้มาแทนที่

                จากเรื่องราวทั้ง 20 ชีวิตที่กระปุกดอทคอมยกมานำเสนอนี้ คงจะทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น ว่า ไม่มีใครไม่เคยพบเจอกับอุปสรรค แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะใช้อุปสรรคที่แตกต่างกันนั้นเพื่อการเรียนรู้ และเป็นพลังต่อสู้ต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างไร ใครที่ได้สัมผัสชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ คงจะได้ข้อคิด และเกิดแรงบันดาลใจดี ๆ ในการดำรงชีวิตต่อไปนะคะ




ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube.com โพสต์โดยคุณ  karaba90, รายการ วีไอพี โพสต์โดย คุณ CutelyBearEntTV1 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม, คุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม, รายการคนค้นฅน , ทีวีบูรพา, รายการคนค้นฅน โพสต์โดย คุณ CutelyBearEntTV1 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอมเฟซบุ๊ก คนค้นฅน , รายการวีไอพี โพสต์โดยคุณ CutelyBearEntTV1 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
20 สุดยอดคนหัวใจแกร่ง ปลุกพลัง แรงบันดาลใจให้สังคม โพสต์เมื่อ 24 ธันวาคม 2555 เวลา 15:56:59 70,488 อ่าน
TOP
x close