x close

เปิดอันดับ 5 ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ

ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุด

          ความฝันของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกคงหนีไม่พ้นการพบสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็ต้องเป็นการพบดาวดวงใหม่ อันเป็นที่อยู่ของบรรดาสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการพบโลกใบใหม่นั่นเอง

          และตอนนี้ดูเหมือนว่าความฝันของเหล่านักดาราศาสตร์ในอดีตจะเริ่มมีความหวังขึ้นมาแล้ว เมื่อเทคโนโลยีที่ก้าวไกลช่วยให้มนุษย์สามารถสังเกตการณ์อวกาศได้ง่ายขึ้น จนพบดาวใหม่ ๆ ในเอกภพ ที่ดาวเคราะห์จำนวนหนึ่งในหลายหมื่นล้านดวงนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีสภาพใกล้เคียงโลกของเราจนน่าตกใจ

          กระปุกดอทคอมหยิบยกเรื่องราวของ 5 ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกมากที่สุดมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ โดยแต่ละดวงเป็นดาวเคราะห์ที่ได้รับการรับรองแล้วว่ามีสภาพคล้ายโลกมนุษย์มากที่สุด โดยอ้างอิงจากดัชนีชี้วัดความใกล้เคียงโลก (Earth Similarity Index / ESI) แต่จะมีดาวดวงไหนบ้างนั้น ลองไปชมกันเลยดีกว่า

อันดับที่ 1 ดาวเคปเลอร์ 438 บี (Kepler-438b)

Kepler-438b

          ดาวเคปเลอร์ 438 บี ถูกค้นพบเมื่อต้นปี 2015 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ มันเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างไกลออกไปจากโลกราว 470 ปีแสง และโคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดง โดยใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนั้นเพียง 35 วันเท่านั้น

          ดาวเคปเลอร์ 438 บี มีขนาดใกล้เคียงกับโลก โดยมันใหญ่กว่าโลกของเราเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิบนพื้นผิวดาวก็อุ่นกว่าโลกเพียงเล็กน้อย โดยมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 60 องศาเซลเซียส  ด้วยความเหมาะสมหลายประการ ทำให้มันได้คะแนนจากดัชนี ESI ที่ 0.88 (ดัชนี ESI ของโลกคือ 1.00)

อันดับที่ 2 ดาวกลีซ 667 ซีซี (Gliese 667 Cc)

Gliese 667 Cc

          เช่นเดียวกับดาวเคปเลอร์ 438 บี ดาวกลีส 667 ซีซี เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีความคล้ายคลึงกับโลก แต่มีขนาดใหญ่กว่ามากจนต้องจัดอยู่ในหมวดดาวเคราะห์ Super Earth โคจรอยู่ในระบบดาวสามดวง (Triple star system) ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง ห่างจากโลกออกไปราว 22.7 ปีแสง ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2011 โดยกลุ่มองค์การอวกาศยุโรป กลีส 667 ซีซี ได้รับคะแนนในดัชนี ESI อยู่ที่ 0.84

          ดาวกลีส 667 ซีซี มีขนาดใหญ่กว่าโลก 4.5 เท่า ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ในระบบเป็นเวลา 28 วัน เพราะมันตั้งอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ดวงนั้นมาก แต่ด้วยสภาพดาวฤกษ์ที่เป็นดาวแคระแดงซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวกลีส 667 ซีซี มีอุณหภูมิพื้นผิวสูงสุดมากกว่าโลกเพียง 4.3 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต

อันดับที่ 3 ดาวเคปเลอร์ 442 บี (Kepler-442b)

Kepler-442b

          เคปเลอร์ 442 บี เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีพิกัดอยู่ในกลุ่มดาวพิณ ห่างจากโลกของเราออกไปราว 1,120 ปีแสง ถูกค้นพบครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2015 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ขององค์การนาซา

          ดาวเคปเลอร์ 442 บี มีขนาดใหญ่กว่าโลก 33 เปอร์เซ็นต์ โคจรรอบดาวฤกษ์ของมันโดยใช้เวลาในการโคจร 1 รอบที่ประมาณ 112 วัน อุณหภูมิสูงสุดบนพื้นผิวอยู่ที่ราว 60 องศาเซลเซียส นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคปเลอร์ 442 บี น่าจะเป็นดาวเคราะห์หินที่มีความแข็งแรงมากกว่าองค์ประกอบของโลกเราประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ทำให้ดาวเคปเลอร์ 442 บี ได้รับคะแนนจากดัชนี ESI ที่ 0.83

อันดับที่ 4 ดาวเคปเลอร์ 62 อี (Keplor-62e)

Keplor-62e

          เคปเลอร์ 62 อี เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกขนาดใหญ่ หรือ Super Earth มันมีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 1.6 เท่า หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวพิณ เช่นเดียวกับดาวเคปเลอร์ 442 บี แต่มันอยู่ห่างจากโลกไปราว 1,200 ปีแสง

          ดาวเคปเลอร์ 62 อี เดินทางโคจรรอบดาวฤกษ์โดยใช้เวลาราว 122 วัน มันถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ขององค์กรนาซา นักดาราศาสตร์คาดกันว่าบนดาวดวงนี้น่าจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักของพื้นผิวเช่นเดียวกับโลก ดาวเคปเลอร์ 62 อี ได้รับคะแนนในดัชนี ESI อยู่ที่ 0.83 เท่ากันกับดาวเคปเลอร์ 442 บี

อันดับที่ 5 ดาวเคปเลอร์ 452 บี (Kepler-452b)

Kepler-452b

          ดาวเคปเลอร์ 452 บี เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกขนาดใหญ่ หรือ Super Earth เช่นกัน ตั้งอยู่ในระบบดาวฤกษ์ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวหงส์ หรือกลุ่มดาวกางเขนเหนือ มันโคจรรอบดาวฤกษ์ระดับเดียวกับดวงอาทิตย์ โดยใช้เวลาโคจรทั้งสิ้น 385 วัน มันอยู่ห่างจากโลกของเราไปประมาณ 1,400 ปีแสง อยู่ไกลที่สุดในบรรดาดาวผู้เข้าชิงทั้ง 5 หากจะเปรียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ถ้าเรานั่งยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ที่มีความเร็วประมาณ 59,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราจะต้องใช้เวลา 26 ล้านปี เพื่อไปให้ถึงดาวดวงนี้

          ดาวเคปเลอร์ 452 บี มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 60 เปอร์เซ็นต์ ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2015 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ นักดาราศาสตร์คาดว่าบนพื้นผิวของมันมีภูเขาไฟที่ยังปะทุ ส่วนเมฆหมอกบนชั้นบรรยากาศก็หนาทึบและอึมครึม แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์หินหรือดาวเคราะห์แก๊สกันแน่

          อย่างไรก็ดี ดาวเคปเลอร์ 452 บี ได้รับคะแนนในดัชนี ESI อยู่ที่ 0.83 เท่ากันกับดาวเคปเลอร์ 62 อี และดาวเคปเลอร์ 442 บี

ภาพจาก NASA
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดอันดับ 5 ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2558 เวลา 18:14:15 43,808 อ่าน
TOP