รวม 10 สุดยอดเรือรบทรงพลังที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากกองทัพเรือนานาชาติ เสริมแสนยานุภาพทัพนาวิกโยธิน ให้เกรียงไกร น่าหวั่นเกรง
หลังจากที่เพิ่งมีการเปิดตัว ยูเอสเอส ซัมวอลท์ ว่าที่เรือรบพิฆาตลำล่าสุดของสหรัฐฯ ที่เพิ่งแล่นออกจากอู่ต่อเรือในรัฐเมน มุ่งหน้าสู่ทะเล เพื่อทดสอบประสิทธิภาพก่อนส่งมอบให้กองทัพเรือสหรัฐฯ (อ่านข่าว ยลโฉมเรือรบพิฆาตลำล่าสุดของสหรัฐฯ ทันสมัย-ล่องหนได้ ออกทะเลเตรียมทดสอบแล้ว) ได้ปลุกความสนใจเรื่องเรือรบจากนานาประเทศขึ้นมา ถึงแสนยานุภาพการสู้รบทางน้ำของแต่ละชาติ ซึ่งในปัจจุบันไม่เพียงแต่มีการติดตั้งยุทโธปกรณ์บนตัวเรือ เรือยังบรรทุกอากาศยานได้ คอยเป็นฐานในการจอดและปล่อยอากาศยานเพื่อสู้รบด้วย ในวันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอนำทุกท่านไปพบกับ 10 สุดยอดเรือรบจากทัพเรือนานาชาติที่ทรงพลังและใหญ่ที่สุดในโลก ตามข้อมูลจากเว็บไซต์เทเลกราฟ มาฝากกัน ลองไปดูว่าประเทศไหนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของเรือรบที่น่าเกรงขามมากที่สุดในโลก
ก่อนจะไปเริ่มกันกับเรือรบที่แต่ละประเทศใช้ประจำการอยู่ในปัจจุบัน ขอแนะนำ ยูเอสเอส ซัมวอลท์ (USS Zumwalt) ให้รู้จักกันสักเล็กน้อย ในฐานะเรือรบพิฆาตกำเนิดใหม่ล่าสุด สำหรับ ยูเอสเอส ซัมวอลท์ เป็นเรือรบพิฆาตลำใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการผลิตให้แก่กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้แล่นออกจากอู่ต่อเรือมุ่งหน้าลงทะเลเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเรือเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะทดสอบเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบให้กับทัพเรือสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2559
ยูเอสเอส ซัมวอลท์ มีความยาวถึง 185 เมตร ขนาดระวาง 15,000 ตัน มาพร้อมคุณสมบัติพิเศษสุดโดดเด่น สามารถพรางตัวจากเรดาร์เรืออื่น ๆ ได้ โดยจะถูกจับสัญญาณปรากฏเป็นเรือขนาดเล็กไม่ต่างจากเรือหาปลาทั่ว ๆ ไปเท่านั้น นอกจากนี้ก็ยังติดตั้งยุทโธปกรณ์ประจำเรือที่ทันสมัยและทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าเก่า ทั้งขีปนาวุธพิสัยไกล 100 กิโลเมตร และยังรองรับการติดตั้งอาวุธเลเซอร์และปืนแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Rail Gun) ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้เมื่อประจำการจริง ยูเอสเอส ซัมวอลท์ จะเป็นเรือรบพิฆาตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดลำหนึ่งของโลกในยุคปัจจุบัน
ภาพจาก DENNIS GRIGGS/US NAVY/AFP
1. เรือรบพิฆาตชั้นอิซุโมะ (Izumo-class destroyer)
ภาพจาก Yamada Taro/wikipedia
เรือรบชั้นอิซุโมะ หรือ เจเอส อิซุโมะ ของญี่ปุ่น มีความยาว 250 เมตร และมีพื้นที่ดาดฟ้าสำหรับจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ 14 ลำ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญของประเทศจะมีกำหนดไว้ว่า ญุี่ปุ่นจะต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น ไม่มีการรุกรานเพื่อสงคราม แต่ด้วยความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเรื่องเกาะที่ตกเป็นประเด็นพิพาทที่ยังคงตึงเครียดและทวีความร้อนแรงขึ้น ทำให้การเปิดตัวเรือรบ เจเอส อิซุโมะ ไม่พ้นถูกมองเป็นการเสริมความแข็งแกร่งแก่กองทัพเพื่อต่อกรกับจีน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า เจเอส อิซุโมะ จะถูกใช้ในปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมหรือเพื่อขนย้ายคนในกรณีฉุกเฉิน อาทิ เหตุสึนามิถล่ม เท่านั้น
สัญชาติ : ญี่ปุ่น
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 1 ลำ (กำลังวางแผนสร้างเพิ่มอีก 2 ลำ)
ความยาว : 250 เมตร
ขนาดระวาง : 27,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 30 นอต
ลูกเรือ : 970 คน
ยุทโธปกรณ์ : เฮลิคอปเตอร์ 14 ลำ, ระบบต่อต้านการโจมตีใต้น้ำ
2. เรือรบประจัญบานชั้นยามาโตะ (Yamato-class battleship)
ภาพจาก wikipedia
แม้ปัจจุบันเรือรบประจัญบานชั้นยามาโตะของญี่ปุ่น จะจมแน่นิ่งอยู่ก้นมหาสมุทรทางตอนใต้ของเกาะคิวชู แต่มันก็เป็นเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยมีมา ด้วยขนาดยาว 262 เมตร ขนาดระวาง 70,000 ตัน ทำให้เจเอส อิซุโมะ เล็กลงไปถนัดตา
เรือรบประจัญบานชั้นยามาโตะได้ร่วมปฏิบัติการกับกองเรือผสมแห่งญี่ปุ่นในสงครามเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อปี 1941 ได้ลั่นปืนใหญ่โจมตีคู่ต่อสู้ในสงครามอ่าวเลเต ของฟิลิปปินส์ ในปี 1944 ก่อนจะถูกจมโดยการโจมตีของฝูงบินทัพอเมริกาในปี 1945
สัญชาติ : ญี่ปุ่น
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 2 ลำ
ความยาว : 262 เมตร
ขนาดระวาง : 70,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 27 นอต
ลูกเรือ : 2,332 คน
ยุทโธปกรณ์ : ปืน 9x46 ซม. ปืน 12x155 และ 12x127 มม., อากาศยาน 7 ลำ
3. เรือบรรทุกอากาศยานพลังงานนิวเคลียร์ชั้นนิมิทซ์ (Nimitz-Class nuclear-powered aircraft carrier)
ภาพจาก wikipedia
เรือชั้นนิมิทซ์ ของสหรัฐฯ เป็นเรือบรรทุกอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยมีขนาดยาว 332 เมตร ขนาดระวาง 100,000 ตัน จากการขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้นิมิทซ์สามารถปฏิบัติการได้โดยไม่จำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงยาวนานถึง 20 ปี อย่างไรก็ตามมันประจำการรับใช้ทัพเรือสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1975 โดยคาดว่าจะมีอายุการใช้งานได้ประมาณ 50 ปี แต่กระนั้นทัพเรือสหรัฐฯ ก็ได้เตรียมเรือลำใหม่ที่ใหญ่กว่าเพื่อเข้าประจำการแทนแล้ว คือ เรือบรรทุกอากาศยานชั้นเจอรัลด์-อาร์ ฟอร์ด (Gerald R. Ford-class aircraft carrier)
สัญชาติ : สหรัฐอเมริกา
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 10 ลำ
ความยาว : 332 เมตร
ขนาดระวาง : 100,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 30 นอต
ลูกเรือ : 5,000 คน
ยุทโธปกรณ์ : เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบได้ 85-90 ลำ, ระบบป้องกันขีปนาวุธ
4. เรือบรรทุกอากาศยานชั้นคุซเนทซอฟ (Admiral Kuznetsov-class aircraft carrier)
ภาพจาก wikipedia
เรือบรรทุกอากาศยานชั้นคุซเนทซอฟเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1990 ในขณะที่สหภาพโซเวียตยังไม่ล่มสลาย และกลายเป็นเรือของทัพเรือรัสเซียในเวลาต่อมา ตัวเรือมีขนาดยาว 305 เมตร ขนาดระวาง 55,000 ตัน มียุทโธปกรณ์ประจำเรือ คือ ขีปนาวุธ 192 ลูก จรวด 60 ลูก และอากาศยาน 52 ลำ
นอกจากนี้ ที่จริงแล้วเรือบรรทุกอากาศยานลำนี้ ยังมีพี่น้องในคลาสเดียวกันอีกหนึ่งลำชื่อ วาร์แย็ก (Varyag) ทว่ายูเครนซึ่งเป็นผู้สร้างเรือ ไม่ได้สร้างให้แล้วเสร็จ ก็ได้ขายไปให้กับจีน ซึ่งได้รับไปสร้างต่อให้เสร็จสมบูรณ์ และกลายเป็นเรือบรรทุกอากาศยานในลำดับถัดไป
สัญชาติ : รัสเซีย
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 1 ลำ
ความยาว : 305 เมตร
ขนาดระวาง : 55,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 29 นอต
ลูกเรือ : 2,356 คน
ยุทโธปกรณ์ : อากาศยาน 52 ลำ, จรวด 60 ลูก, ขีปนาวุธ 192 ลูก
5. เรือบรรทุกอากาศยานเหลียวหนิง (Liaoning aircraft carrier)
จีนประมูลซื้อเรือลำนี้มาเมื่อปี 1998 วาร์แย็กมาถึงจีนในสภาพมีแต่โครง ไร้เครื่องยนต์ ไร้หางเสือ และระบบปฏิบัติการใด ๆ ทั้งนี้ ก็ถูกจับต่อเติมสร้างเพิ่มจนเสร็จสมบูรณ์ ในที่สุดก็เกิดเป็นเรือบรรทุกอากาศยานเหลียวหนิง เข้าประจำการรับใช้กองทัพเรือจีนในปี 2012
สัญชาติ : จีน
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 1 ลำ
ความยาว : 304 เมตร
ขนาดระวาง : 66,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 32 นอต
ลูกเรือ : 2,626 คน
ยุทโธปกรณ์ : อากาศยาน 30 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ 24 ลำ, จรวด 60 ลูก, ขีปนาวุธ 192 ลูก
6. ไอเอ็นเอส วิกรมาทิตย์ (INS Vikramaditya)
ภาพจาก indiannavy/wikipedia
เรือไอเอ็นเอส วิกรมาทิตย์ เป็นเรือของทัพเรืออินเดีย ที่รับช่วงต่อมาจากเรือกอร์สคอฟ (Gorshkov) ของสหภาพโซเวียตที่ปลดประจำการลงในปี 1996 เนื่องจากเห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณในการเดินเรือมากเกินไป อินเดียซื้อมันมาในราคา 78 ล้านบาท ทำการต่อเติมใหม่ และนำเข้าประจำการเมื่อปี 2013 ไอเอ็นเอส วิกรมาทิตย์ มีขนาดยาว 282 เมตร ขนาดระวาง 45,400 ตัน มีการติดตั้งระบบกลั่นน้ำเค็มบนเรือ รองรับอากาศยาน 16 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ
สัญชาติ : อินเดีย
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 1 ลำ
ความยาว : 282 เมตร
ขนาดระวาง : 45,400 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 32 นอต
ลูกเรือ : 1,400 คน
ยุทโธปกรณ์ : อากาศยาน 16 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ
7. ชาร์ลส์ เดอ โกล เรือบรรทุกอากาศยานพลังงานนิวเคลียร์ (Charles de Gaulle nuclear-powered aircraft carrier)
ภาพจาก usni
ชาร์ลส์ เดอ โกล ของฝรั่งเศสถือเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเรือรบของประเทศยุโรปตะวันตก และเป็นเรือรบขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกที่ไม่ใช่ของสหรัฐอเมริกา เข้าประจำการรับใช้กองทัพฝรั่งเศสเมื่อปี 2013 มีขนาดหัวถึงท้ายเรือ 261 เมตร ขนาดระวางสูงสุด 42,000 ตัน
ปูมประวัติสมัยก่อสร้างเรือชาร์ลส์ เดอ โกล มีความน่าสนใจไม่น้อย ในปี 1993 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนอ้างว่า วิศวกรกลุ่มหนึ่งที่เข้าเยี่ยมการก่อสร้างเรือเป็นสายลับ MI6 ของอังกฤษ ที่พยายามล้วงข้อมูลทางเทคนิค แต่อย่างไรก็ตาม ในภายหลังเดอะการ์เดียนก็ได้ตีพิมพ์ใหม่ปฏิเสธข่าวดังกล่าวนี้ โดยข้อมูลมาจากทั้งฝ่ายรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสเอง
สัญชาติ : ฝรั่งเศส
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 1 ลำ
ความยาว : 261 เมตร
ขนาดระวาง : 42,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 32 นอต
ลูกเรือ : 1,950 คน
ยุทโธปกรณ์ : อากาศยาน 40 ลำ, ระบบป้องกันขีปนาวุธ
8. เรือโจมตีสะเทินชั้นวาสพ์ (Wasp Class amphibious assault ship)
ภาพจาก wikipedia
เรือโจมตีสะเทินชั้นวาสพ์ของสหรัฐฯ ถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกเฮลิคอปเตอร์โดยเฉพาะ บนดาดฟ้าเรือยังมีลิฟต์ขนอากาศยานที่พับได้อยู่ 2 ตัว ซึ่งจะพับเข้าหาตัวเรือ เพื่อให้สามารถล่องผ่านช่องแคบ อาทิ คลองปานามาได้
สัญชาติ : สหรัฐอเมริกา
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 8 ลำ
ความยาว : 253 เมตร
ขนาดระวาง : 40,500 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 22 นอต
ลูกเรือ : ลูกเรือ 1,298 คน นาวิกโยธิน 1,894 นาย
ยุทโธปกรณ์ : อากาศยานขึ้นลงในแนวดิ่ง 6 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ 24 ลำ, ระบบต่อต้านขีปนาวุธ
9. เรือบรรทุกอากาศยานชั้นอินวิซิเบิล (Invincible class aircraft carrier)
ภาพจาก wikipedia
เรือบรรทุกอากาศยานชั้นอินวิซิเบิลของอังกฤษนับว่าค่อนข้างด้อยหากเทียบกับเรือรบลำอื่น ๆ ในเรื่องของขนาด โดยมีขนาด 209 เมตรเท่านั้น แต่มันก็เป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของของราชนาวีอังกฤษที่มีประจำการอยู่ในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ดี หากว่าที่เรือบรรทุกอากาศยานคลาสควีน-เอลิซาเบธ เข้าประจำการในปี 2018 แล้ว อังกฤษก็จะกลายเป็นประเทศที่มีเรือบรรทุกอากาศยานใหญ่ที่สุดในโลก เป็นรองอยู่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
สัญชาติ : อังกฤษ
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 3 ลำ
ความยาว : 209 เมตร
ขนาดระวาง : 22,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 28 นอต
ลูกเรือ : ลูกเรือ 1,000 คน นาวิกโยธิน 500 นาย
ยุทโธปกรณ์ : อากาศยาน 22 ลำ, ระบบต่อต้านขีปนาวุธ
10. เรือรบพิฆาตชั้นเซจอง (Sejong the Great class destroyer)
ภาพจาก wikipedia
เรือรบพิฆาตชั้นเซจองของเกาหลีใต้ ถูกตั้งชื่อตามจักพรรดิองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซอน นับเป็นเรือรบที่ดีที่สุดที่มีประจำการอยู่ในตอนนี้ และเป็นเรือรบพิฆาตใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเรือชั้นอิซุโมะ ขีปนาวุธนำร่องที่ใช้ในชั้นเซจองถือว่าใหญ่ที่สุดเท่าที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่อีกไม่นานอาจถูกแทนที่ด้วยว่าที่เรือรบพิฆาตซัมวอลท์ของสหรัฐฯ ที่หากเข้าประจำการเมื่อไรก็จะเป็นเรือรบพิฆาตที่ทันสมัยมากที่สุด
สัญชาติ : เกาหลีใต้
จำนวนเรือในชั้นเดียวกัน : 3 ลำ
ความยาว : 164 เมตร
ขนาดระวาง : 11,000 ตัน
ความเร็วสูงสุด : 30+ นอต
ลูกเรือ : 400 คน
ยุทโธปกรณ์ : ปืนใหญ่ 5 นิ้ว 1 กระบอก, เรือต่อต้านขีปนาวุธ 16 ลำ, จรวดร่อน 32 ลูก, ตอร์ปิโด 6 ลูก, เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ