ความหมายของคนพิการ
คำว่า "คนพิการ" ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ได้ระบุไว้ว่า "คนพิการ หมายถึง บุคคลซึ่งมีความสามารถถูกจำกัดให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้โดยวิธีการทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้ และมีความต้องการจำเป็นพิเศษด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป" โดยประเภทของความพิการจะแบ่งออกเป็น 6 ประเภท และมีรายละเอียดลักษณะความพิการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ดังนี้
1. คนพิการทางการมองเห็น คือ คนที่มีสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้วมองเห็นน้อยกว่า 6/18 หรือ 20/70 ลงไป จนมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือคนที่มีลานสายตาแคบกว่า 30 องศา
2. คนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย คือ คนที่ได้ยินเสียงที่ความถี่ 500 เฮิรตซ์ 1,000 เฮิรตซ์ หรือ 2,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ดีกว่าที่มีความดังเฉลี่ยดังต่อไปนี้
- เด็กอายุไม่เกิน 7 ขวบ เกิน 40 เดซิเบลขึ้นไป จนไม่ได้ยินเสียง
- คนทั่วไป เกิน 55 เดซิเบลขึ้นไป จนไม่ได้ยินเสียง
หรือคนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องในการเข้าใจหรือการใช้ภาษาพูดจนไม่สามารถสื่อความหมายกับคนอื่นได้
3. คนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว คือ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจนและไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันได้ หรือคนที่มีการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวมือ แขน ขา หรือลำตัว อันเนื่องมาจากแขนหรือขาขาด อัมพาตหรืออ่อนแรง โรคข้อหรืออาการปวดเรื้อรัง รวมทั้งโรคเรื้อรังของระบบการทำงานของร่างกายอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันหรือดำรงชีวิตในสังคมเยี่ยงคนปกติได้
4. คนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม คือ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ ความคิด จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จำเป็นในการดูแลตนเองหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น
5. คนพิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ ได้แก่ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางสติปัญญาหรือสมองจนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้
6. คนพิการซ้ำซ้อน คือ คนที่มีความพิการมากกว่า 1 ลักษณะขึ้นไป
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวันคนพิการแห่งชาติ
ตามที่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของคนพิการว่า กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนต่างมีความสามารถ และควรได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ กำหนดให้ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันคนพิการแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการในประเทศไทยได้พบปะ พูดคุย และแสดงความสามารถ ให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ศักยภาพของคนพิการที่มีไม่แพ้คนปกติ รวมถึงให้ผู้พิการไทยได้เรียนรู้ถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยรักษา บำบัด ป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข
นอกจากนี้ยังถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญและการสนับสนุนทั้งในด้านคุณภาพชีวิต รวมทั้งช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้พิการและคนใกล้ชิด เพื่อให้เขาเหล่านั้นไม่รู้สึกว่าความพิการเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด
สัญลักษณ์ประจำวันคนพิการแห่งชาติ
สัญลักษณ์ของวันคนพิการแห่งชาติ ได้แก่ ดอกแก้วกัลยา โดยดอกไม้ดังกล่าวเป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดอกไม้ที่ประดิษฐ์โดยผู้พิการของศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ
โดยดอกแก้วกัลยานั้นมีที่มาจากดอกไม้ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ดอกแก้ว และดอกแก้วเจ้าจอม ซึ่งความหมายโดยรวมของดอกแก้วกัลยา หมายถึง ดอกไม้จากนางแก้ว ที่มีน้ำพระหฤทัยสดใสและให้แสงสว่างอบอุ่นกับมวลหมู่คนพิการในแผ่นดินไทย ดั่งน้ำพระทัยจากองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
กิจกรรมในวันคนพิการแห่งชาติ
กิจกรรมในปีนี้จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และเปิดโอกาสให้คนพิการทั่วประเทศได้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ได้แสดงความสามารถ ได้รับรู้วิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับการป้องกันความพิการ การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานจัดกิจกรรมและบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการ
แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพ แต่คนพิการนั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีศักยภาพทั้งนั้น หากเขาได้รับโอกาสในการแสดงออกซึ่งความสามารถของตนเอง เราก็จะได้เห็นว่าพวกเขาก็คือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติเช่นกัน ดังนั้น การตระหนักถึงความเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อทุกคนในสังคม
เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ