x close

ชักยังไง คนเริ่มตั้งข้อสงสัย รัฐประหารตุรกีที่แท้เป็นแผนเออร์โดกันเอง



ชักยังไง คนเริ่มตั้งข้อสงสัย รัฐประหารตุรกีที่แท้เป็นแผนเออร์โดกันเอง !
นายเฟทุลลาห์ กูเลน
ภาพจาก SELAHATTIN SEVI / ZAMAN DAILY / AFP

ชักยังไง คนเริ่มตั้งข้อสงสัย รัฐประหารตุรกีที่แท้เป็นแผนเออร์โดกันเอง !
ประธานาธิบดีเรเจพ ไทยิป เออร์โดกัน
ภาพจาก MAHMOUD ZAYYAT / AFP

             ชาวโลกออนไลน์เริ่มตั้งข้อสงสัย หรือรัฐประหารตุรกีครั้งนี้แท้จริงเป็นแผนการของประธานาธิบดีเออร์โดกันเอง เพื่อถือโอกาสขจัดเสี้ยนหนามที่เป็นปฏิปักษ์ ขณะนายเฟทุลลาห์ กูเลน ผู้ถูกผู้นำตุรกีกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง โต้ตนไม่เกี่ยวข้อง ซ้ำตั้งข้อสงสัยเป็นฝีมือนายเออร์โดกันด้วยเช่นกัน

             วันที่ 16 กรกฏาคม 2559 เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์ รายงานกระแสอีกด้านที่เกิดขึ้นหลังมีการพยายามก่อรัฐประหารขึ้นในตุรกีที่มีกองกำลังทหารเป็นผู้ปฏิบัติการ ซึ่งสุดท้ายไม่ประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้ทหารผู้เกี่ยวข้องถูกควบคุมตัวไว้โดยทางการแล้วมากกว่า 2,800 นาย โดยในจำนวนนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงรวมอยู่ด้วย โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัวตนรายหนึ่ง ระบุว่า มีนายทหารยศพันเอกถูกจับ 29 นาย และยศพลเอกอีก 5 นายถูกปลดจากตำแหน่ง

             ในโลกออนไลน์เริ่มมีผู้คนแสดงความเคลือบแคลงใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า หรือการก่อรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นฝีมือของประธานาธิบดีเรเจพ ไทยิป เออร์โดกัน เพื่อสร้างช่องทางในการกำจัดเสี้ยนหนามปฏิปักษ์ของตนออกไป

             ผู้คนพากันถกถึงเรื่องดังกล่าว ภายใต้แฮชแท็ก #TheatreNotCoup โดยยังมี ไรอัน ฮีธ  ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Politico อ้างอิงแหล่งข่าวของเขาจากในตุรกี ระบุว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีกลิ่นตุ ๆ และเรียกมันว่า เป็นรัฐประหารเฟค ๆ ที่เอื้อต่อประชาธิปไตยเฟค ๆ ของนายเออร์โดกัน

             ฮีธยังตั้งข้อสันนิษฐานว่า อีกไม่ช้าเราอาจได้เห็นการเลือกตั้งอีกครั้งของตุรกี ที่นายเออร์โดกันจะเคลมคะแนนเสียงชนะอย่างท่วมท้น ซึ่งจะการันตีการครองอำนาจออกไปอีก 10-15 ปี และอาจได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ย่ำแย่ลงของสถาบันการเมืองการปกครอง

             ขณะที่ทางด้านนายเฟทุลลาห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาของตุรกีและปฏิปักษ์ของประธานาธิบดีเออร์โดกัน ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาโดยผู้นำตุรกีว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์พยายามรัฐประหารครั้งนี้ ได้ออกมาปฏิเสธว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ และยังประณามการใช้กำลังของทหาร

             รายงานจากเว็บไซต์ RT  ระบุว่า นายกูเลนยังได้โต้กลับไปว่า ความพยายามก่อรัฐประหารนี้แท้จริงก็เป็นฝีมือของนายเออร์โดกันเองต่างหาก และยังเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเหมือนเหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาค ที่ถูกฮิตเลอร์นำมาใช้เห็นเหตุผลในการกำจัดนักคอมมิวนิสต์ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของตนเอง

             ทั้งนี้ ในช่วงที่ความพยายามก่อรัฐประหารปะทุขึ้น ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ได้ประกาศเรียกร้องประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน พร้อมชี้ว่าความพยายามโค่นเขาลงจากตำแหน่งนี้เป็นฝีมือจากทหารกลุ่มน้อยที่เป็นทรราช ทุกคนจะต้องชดใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นให้สาสม และยังว่านั่นเป็นเหตุผลที่เขาจะต้องยกเครื่องกองทัพตุรกีด้วย โดยหลังจากเหตุการณ์สงบลง นอกจากเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุนับพันนายที่ถูกควบคุมตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ด้านการยุติธรรมอีกถึง 2,745 รายก็หลุดจากตำแหน่งของตัวเองด้วยทันที

             สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง นายเออร์โดกันกับนายกูเลน เริ่มจากเมื่อนายเออร์โดกันได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นผู้นำประเทศในปี 2003 คะแนนเสียงส่วนหนึ่งของเขามาจากกลุ่ม "ฮิซเม็ท" หรือกลุ่มเคลื่อนไหวกูเลน เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวทั้งทางสังคมและศาสนาที่นับถือศรัทธาต่อนายกูเลน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร่วม 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรตุรกี แต่หลังจากนั้นมีการแฉทุจริตของรัฐบาล เปิดโปงการคอร์รัปชัน โดยได้ข้อมูลเหล่านี้มาจากการดักฟังโทรศัพท์โดยกลุ่มกูเลนนิสต์ ทำให้หลังจากนั้นรัฐได้ไล่ปิดสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ จับนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ทางการเมือง ด้วยข้อหาพยายามสร้างรัฐคู่ขนาน และที่สุดได้ขับดันให้นายกูเลนลี้ภัยออกนอกประเทศจนถึงปัจจุบัน

ติดตามข่าว รัฐประหารตุรกี ทั้งหมด 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชักยังไง คนเริ่มตั้งข้อสงสัย รัฐประหารตุรกีที่แท้เป็นแผนเออร์โดกันเอง อัปเดตล่าสุด 28 กรกฎาคม 2559 เวลา 09:36:08 38,959 อ่าน
TOP