คุณลุงนักวิทย์ฯ อวดแบตเตอรี่ประดิษฐ์ รุ่นจิ๋วแต่เจ๋งเว่อร์ เพราะใช้ได้นานถึง 12 ปี

 แบตเตอรีประดิษฐ์

              คุณลุงนักวิทย์ฯ ชาวยูเครน โชว์ผลงานการประดิษฐ์แบตเตอรี่รุ่นพิเศษชวนฮือฮา อ้างคุณสมบัติใช้ได้นานถึง 12 ปี แต่ขนาดเล็กแค่กล่องไม้ขีดไฟ

              เป็นที่ทราบกันดีว่าแบตเตอรี่ต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยและใช้กันเป็นประจำอยู่ทุกวันนั้น ย่อมมีอายุการใช้งานของมัน ซึ่งจะยาวหรือสั้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประเภทและการใช้งานตามแต่ละรูปแบบ แต่ใครจะไปคาดคิดว่าจะมีแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานมากเป็นสิบ ๆ ปี ชนิดที่ว่าสามารถใช้งานได้นานจนลืมว่าจะต้องชาร์จไฟไปเลยทีเดียว
               เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 เว็บไซต์ Oddity Central  ได้เผยเรื่องราวนวัตกรรมสุดเจ๋งของคุณลุงนักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครน นามว่า วลาดิสลาฟ คิเซเลฟ (Vladislav Kiselev) โดยเขาได้คิดค้นประดิษฐ์แบตเตอรี่ชนิดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถให้พลังงานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งแบตเตอรี่รถยนต์ ได้นานถึง 12 ปี โดยไม่ต้องชาร์จไฟซ้ำ

แบตเตอรีประดิษฐ์

               วลาดิสลาฟ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเคมีอินทรีย์เชิงชีวภาพและปิโตรเคมี ในเมืองเคียฟ และศาตราจารย์ประจำสถาบันศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติยูเครน ได้เปิดตัวสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบชิ้นนี้ ในการแข่งขันโครงการวิจัยระดับนานาชาติ (Sikorsky Challenge 2016) โดยจะเห็นว่า มันมีขนาดเล็กเพียงเท่ากล่องไม้ขีด แม้ลักษณะภายนอกนั้นดูแล้วไม่น่าชื่นชมสักเท่าไรนัก เนื่องจากดูเหมือนเป็นการต่อวงจรไฟฟ้าแบบหละหลวมทั่ว ๆ ไป แต่วลาดิสลาฟ เผยว่า แบตเตอรี่ประดิษฐ์ชิ้นนี้สามารถจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 1 ปี 4 เดือน และจะทำเช่นนี้ได้เรื่อย ๆ ไปอีก 11 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 12 ปี โดยไม่ต้องมีการชาร์จไฟซ้ำ นั่นก็เป็นเพราะแบตเตอรี่ของเขาไม่ได้ใช้วิธีกักเก็บพลังงานแบบแบตฯ ทั่ว ๆ ไป แต่ใช้วิธีผลิตพลังงานแทน

               แม้ในความเป็นจริงแล้วผู้ผลิตและนักวิจัยแบตเตอรี่ทั่วโลก พยายามแข่งขันศึกษาและพัฒนาแบตเตอรี่อย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถสร้างแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานได้ถึง 12 ปีเช่นนี้ได้ แต่วลาดิสลาฟ ได้อ้างว่า เขาใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติหลักของทริเทียม (tritium) ที่สามารถปล่อยอิเล็กตรอน เช่นเดียวกับบริษัท City Labs ในสหรัฐอเมริกา แต่ต่างกันตรงที่บริษัทนั้นใช้ ทริเทียมร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ แต่วลาดิสลาฟ ใช้วิธีเพิ่มเซลล์ไฟฟ้าเคมี ทำให้แบตเตอรี่มีพลังงานมากกว่า 1,000 เท่า ซึ่งแบตฯ ของบริษัทนั้นถูกนำไปใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ส่วนแบตฯ ประดิษฐ์ของวลาดิสลาฟนี้ สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ก็ได้ 

               นอกจากนี้ วลาดิสลาฟ ยังได้ระบุว่า เซลล์ไฟฟ้าเคมีที่เขาใช้ในแบตเตอรี่นั้น เคยถูกใช้ในยูเครนมาตั้งแต่ปี 2473 แต่ไม่มีใครนำมาใช้สำหรับการผลิตพลังงาน แต่ตัวเขาและทีมงานสามารถนำมาปรับปรุงใช้ได้ อีกทั้งได้เน้นย้ำว่า สารกัมมันตรังสีบางชนิดไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งทริเทียมก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน โดยส่วนมากมันจะถูกนำไปใช้เป็นแหล่งสารเรืองแสง อย่างเช่นในนาฟิกาข้อมือ เป็นต้น

               ทั้งนี้หลังจากเปิดตัวต้นแบบแบตเตอรี่ประดิษฐ์ที่งานดังกล่าว วลาดิสลาฟ เผยว่า มีนักธุรกิจจากตุรกีและจีน ให้ความสนใจมาติดต่อขอเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ของเขาที่สามารถใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ

ภาพจาก fakty.ua
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณลุงนักวิทย์ฯ อวดแบตเตอรี่ประดิษฐ์ รุ่นจิ๋วแต่เจ๋งเว่อร์ เพราะใช้ได้นานถึง 12 ปี อัปเดตล่าสุด 7 ธันวาคม 2559 เวลา 15:44:08 26,524 อ่าน
TOP
x close