x close
hilight > ข่าวทั่วไป

เปิดอีกมุมมอง.. รถไฟฟ้าสายสีทอง ไอคอนสยาม สร้างแล้วใครได้ประโยชน์บ้าง

| 26,295 อ่าน

          เปิดอีกมุมมอง ว่าด้วย รถไฟฟ้าสายสีทอง ที่ได้งบสร้างจาก ไอคอนสยาม โครงการนี้จะมีประโยชน์กับใครบ้าง ไม่ใช่แค่ใช้มาห้าง แต่มีอะไรมากกว่านั้น...

          เป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ สำหรับการเปิดตัวศูนย์การค้าสุดยิ่งใหญ่ ไอคอนสยาม (ICONSIAM) ซึ่งนอกจากจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ แล้ว ทางโครงการยังได้สนับสนุนงบก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เชื่อมต่อจากสถานีกรุงธนบุรี ของ BTS สายสีลม เบี่ยงเข้าถนนกรุงธนบุรี ผ่านศูนย์การค้าไอคอนสยาม และสถานที่สำคัญในย่านดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งจะสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่

          อย่างไรก็ตาม ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และแชร์บทความที่วิพากษ์วิจารณ์โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีทอง" ในโลกออนไลน์อยู่ไม่น้อย โดยล่าสุด ผศ. ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก็ได้โพสต์ถึงมุมมองอีกด้านเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

          "ไม่รู้เพื่อน ๆ คิดยังไงกับบทความ "รถไฟฟ้าไอคอนสยาม เส้นไม่ใหญ่จริงทำไม่ได้" ที่แชร์กันเยอะเลย เลยเข้าไปอ่านหน่อย อ่านแล้วก็รู้สึกว่าจะมีอคติอยู่พอสมควร

          1. รถไฟฟ้าสายนี้ สยามพิวรรธน์ เป็นคนลงทุนทำเอง งบ 2 พันล้าน แลกกับการลงโฆษณาฟรี 20 ปี (ค่าโดยสาร กรุงเทพธนาคม รับไปทั้งหมด) ซึ่งบทความบอกว่า ค่าโฆษณา 20 ปีนี้ อาจจะเท่า ๆ ค่าก่อสร้างหรือมากกว่าก็ได้ ซึ่งอันนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะเห็น BTS คนแน่นแบบนี้ยังบอกว่าขาดทุนเลย และถ้าให้มูลค่าสองพันล้านต้องมีโฆษณาลงต่อเนื่องมูลค่าวันละประมาณ 3 แสนบาททุกวัน ตลอด 20 ปี (ไม่แน่ใจอัตราค่าโฆษณาของรถไฟฟ้าระยะทาง 1.8 กม. ที่ไม่ได้ผ่านชุมชนใหญ่จะมีรายได้ที่เท่าไร ถึงสามแสนต่อวันมั้ย เพราะก็คงจะมีแต่ห้าง ICONSIAM เป็นหลักที่อยากจะลงโฆษณา) แต่ถ้าจะให้เค้าจ่ายฟรี ๆ 2 พันล้าน มันก็คงไม่เกิดแน่ ๆ อันนี้ก็ตรรกะธรรมดา

          2. บทความเขียนว่า "ประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้จากรถไฟฟ้าสายสีทอง ในเรื่องการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น เป็นเพียงผลพลอยได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เทียบไม่ได้กับผลประโยชน์ที่ไอคอนสยามจะได้ ส่วนธุรกิจห้องแถวซึ่งมีอยู่มากมายในบริเวณนั้น ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งระหว่างก่อสร้าง และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว" เนื่องจาก "เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ไม่หนาแน่น ศูนย์การค้าขนาดเล็ก วัด และโรงพยาบาลรัฐ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบขนส่งมวลชน" ซึ่งอันนี้ไม่เห็นด้วยที่สุดในบทความนี้ เพราะจริง ๆ แค่มาลงที่โรงพยาบาลรัฐ คือ รพ.ตากสิน และ รพ.สมเด็จเจ้าพระยา อันนี้ก็มี "ความจำเป็น" แล้ว แต่ที่ไม่สร้างเพราะว่ามัน "ไม่คุ้มทุน" โดยเฉพาะก่อนจะมีไอคอนสยาม แต่พอมีทั้งไอคอนสยามและรถไฟฟ้าแล้ว พื้นที่ก็ย่อมจะเจริญขึ้น คอนโด หมู่บ้าน และสำนักงานเพิ่มขึ้น ย่อมจะมีความต้องการการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น รวมทั้งที่ดินก็จะแพงขึ้นด้วย มันก็เป็นการกระจายความเจริญออกนอกเมืองไปยังฝั่งธนฯ และยังมีผลต่อการท่องเที่ยวด้วย

          ดังนั้นการเปรียบเทียบ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" ที่เป็นคุณภาพชีวิตของชุมชนในการเดินทาง และความเจริญทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นกับ "ผลประโยชน์ของไอคอนสยาม" ที่เป็นตัวเงิน จึงไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกันได้ และถ้าหากจะบอกว่า ชาวบ้านไม่ได้อยากได้ ... คือยังไงไอคอนสยามก็สร้างไปแล้ว ยังไงวิถีชีวิตคุณเปลี่ยนแน่นอน ถ้ามีรถไฟฟ้าก็จะสะดวกขึ้น ถ้าไม่เอา คืออยากได้ชีวิตแบบเดิม ก็ต้องเอาไอคอนสยามออกไปด้วย

          ส่วนผลประโยชน์ที่ไอคอนสยามจะได้รับ ก็มาจากการลงทุนและการบริหารจัดการของเขาเอง ก็เหมือนห้างอื่น ๆ ที่เขาบริหารจัดการ เพียงแต่ก็ต้องดูแลสภาพแวดล้อมและชุมชนด้วย ให้รถไฟฟ้านี้ได้ประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด เช่น ต้องทำทางออกนอกห้างด้วย (ยังไม่แน่ใจสถานีจะอยู่ตรงห้างเลยหรือเปล่า) ไม่ใช่บังคับเข้าห้างอย่างเดียว และรับผิดชอบผลกระทบทางมลพิษต่าง ๆ ด้วย

          3. กทม. บอกว่าต่อไปสายสีทองนี้จะเชื่อมกับสายอื่น แต่ผู้เขียนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็ต้องดูกันต่อไป แต่การบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยทั้ง ๆ ที่หน่วยงานระดับ กทม. ประกาศแล้ว ก็น่าจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป ด้วยเหตุผลที่หาว่ามีความไม่โปร่งใส ซึ่งก็อย่างที่บอกคือ ทางบริษัทสร้างเอง เออ ถ้ามีข้อมูลว่าเบี่ยงเส้นทางมาลงที่ห้าง อันนี้ค่อยน่าตรวจสอบ

          4. การบอกว่าโครงการนี้ผิดกฎหมาย ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะผู้เขียนก็บอกเองว่า รัฐบาลนี้ ผู้มีอำนาจออกกฎหมายต่าง ๆ ได้ มีมติเห็นชอบ ถ้ารัฐบาลนี้ออกกฎหมายไม่ได้ พ.ร.บ. ต่าง ๆ ที่ออกมานับร้อยฉบับก็ต้องผิดด้วยสิ

          5. อันนี้ความรู้สึกตัวเอง ก็คือในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ที่เห็นก็มีสถานีรถไฟหยุดที่ห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ท่องเที่ยวของเอกชนหลายแห่ง เช่น สวนสนุก หรือสนามกีฬา บางแห่งก็เป็นปลายทางที่เป็นชานเมืองเหมือนกัน เช่น โตเกียวดิสนีย์แลนด์ สนามอัลลิอันซ์ สเตเดียม (มิวนิก) (ซึ่งก็เชื่อว่าเจ้าของสถานที่ก็อาจจะมาลงทุนร่วมด้วยเหมือนกัน) เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร แล้วถ้าไม่มีรถไฟฟ้า จะให้ขึ้นเรือหรือขับรถไป มันก็ทำให้เบียดเสียดคนขึ้นเรือ และทำให้การจราจรติดขัดอยู่ดี มีรถไฟฟ้าก็ทำให้การเดินทางของคนฝั่งธนฯ สะดวกเพิ่มขึ้น

          ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องการจะมีอิทธิพลอะไรหรือไม่ หรือความเหมาะสมของทางเดินริมน้ำ หอชมเมือง อะไรต่าง ๆ ผมไม่พูดถึงนะครับ พูดเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีทองนะครับ (อันนี้ถกเถียงกันได้นะครับ ผมก็มองจากแค่ความเห็นส่วนตัว)..."
 

**หมายเหตุ อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 24.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดอีกมุมมอง.. รถไฟฟ้าสายสีทอง ไอคอนสยาม สร้างแล้วใครได้ประโยชน์บ้าง อัปเดตล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13:06 26,295 อ่าน
TOP