x close

สธ. ห่วงสุขภาพประชาชน ยันแบน 3 สารเคมี หลังพบตกค้างในกะหล่ำปลี 20 เท่า

           กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชน ยืนกรานไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนการแบน 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต หลังพบผู้ป่วยจากสารเคมีเพิ่มสูงขึ้น

แบน 3 สารเคมีอันตราย
ภาพจาก INN

แบน 3 สารเคมีอันตราย
ภาพจาก OhLanlaa / Shutterstock.com

           จากกรณี คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเอกฉันท์เลื่อนการแบน 2 สารเคมี พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส 6 เดือน มีผล 1 มิถุนายน 2563 ส่วน ไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ เพราะมีผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้น

อ่านข่าว : เลื่อนแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส 6 เดือน - ไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ (28 พฤศจิกายน 2562) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันแถลงจุดยืนกระทรวงสาธารณสุขต่อการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ว่า ตัวแทนคณะกรรมการจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวานนี้ (27 พฤศจิกายน) ตามมติเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ให้แบนสารเคมีอันตราย 3 สาร ซึ่งมีการรับรองมติการประชุมไปแล้ว และได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและประชาชน

           รวมถึงการประชุมทางไกลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทุกคนมีความห่วงใยที่พบผู้ป่วยจากสารเคมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด เช่น ที่โรงพยาบาลน่าน จากเดิมพบผู้ป่วย "ปีละ 40 คน" เพิ่มเป็น "เดือนละ 25 คน"

แบน 3 สารเคมีอันตราย

           ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มมาตรการดูแลสุขภาพประชาชน โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนาศักยภาพ อสม. 80,000 คน ให้เป็น อสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจพืชผัก-ผลไม้ แหล่งน้ำธรรมชาติ ตรวจหาสารพาราควอตด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากสารพิษ ประสานกับศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้มข้นความปลอดภัยของผัก ผลไม้ อาหารในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ด่านตรวจผ่านแดน 52 ด่าน

           สำหรับการเฝ้าระวังพืชผัก-ผลไม้ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสารเคมีตกค้างหลายชนิด อาทิ ที่จังหวัดพิษณุโลก พบสารพาราควอตตกค้างในกะหล่ำปลี 0.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึง 20 เท่า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีผลต่อทารกในครรภ์


ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ห่วงสุขภาพประชาชน ยันแบน 3 สารเคมี หลังพบตกค้างในกะหล่ำปลี 20 เท่า อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2562 เวลา 18:13:20 5,515 อ่าน
TOP