x close

พิธา ชูป้ายค้านไทยร่วม CPTPP ลั่นได้ไม่คุ้มเสีย หวั่นกระทบความมั่นคงทางเกษตร

          ทิม พิธา ชูป้ายค้านไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTTP หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย กระทบความมั่นคงภาคเกษตร พร้อมจี้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน อย่าใช้โอกาสช่วงชุลมุนลงมติเห็นชอบ



          วันที่ 27 เมษายน 2563 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุถึงกรณีที่ ครม. กำลังจะหารืออนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ว่า การเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายอย่าง ซึ่งตนเห็นว่าจะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย และเห็นว่ายังไม่ควรรีบดำเนินการ ควรต้องฟังเสียงประชาชนมากกว่านี้ ใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ

          นายพิธา อธิบายเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยในการเข้าร่วม CPTPP ว่า ประการแรกคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปแล้ว หากไทยเข้า CPTPP ตลาดที่ไทยจะได้เพิ่มหากเป็นสมาชิกคือ ประเทศเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ขณะที่อีก 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือนั้น ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี FTA แล้วทั้งหมด ตนอยากให้พิจารณาว่าเพราะเหตุุใดไทยถึงต้องเข้าร่วมในลักษณะนี้ ควรจะพิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าจะดีกว่าหรือไม่ถ้าทำ bilateral agreement กับเม็กซิโกและแคนาดา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขี่ช้างจับตั๊กแตน

          โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แจงว่า หากไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP คาดว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 0.12% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าน้อยมาก เทียบกับการเข้าเป็นสมาชิกครั้งอื่น ๆ ซึ่งตนคิดว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการดึงจีดีพีขึ้นมีหลายวิธี ตกลงกันได้หลายแบบ ไม่ควรจะต้องยอมให้ประเทศไทยเสียอํานาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจถึงขั้นนี้

          นอกจากนี้ยังมีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา รวมถึงว่าการที่นักลงทุนต่างชาติจะสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และอื่น ๆ อีกมากมาย

          นายพิธา ระบุอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีข้อบังคับให้รัฐบาลต้องการขออนุมัติกรอบเจรจาจากรัฐสภาเพื่อไปเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ทำให้ขาดการตรวจสอบจากนิติบัญญัติ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเพียงกลไกให้รัฐสภาเห็นชอบเมื่อเจรจาแล้วเสร็จ เพื่อลงนามรอการอนุมัติตามเท่านั้น ทำให้เรื่องที่ใหญ่ขนาดนี้จะได้รับการอนุมัติไปง่าย ๆ และนี่คือหนึ่งในปัญหาที่เป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาอย่างไร

          ตนและพรรคก้าวไกล จึงขอย้ำว่า รัฐควรต้องมารับฟังเสียงจากภาคประชาชนให้มาก และเปิดให้สภาได้ถกเถียงกันในรายละเอียด ในสถานการณ์ชุลมุนเช่นนี้ รัฐอย่าฉวยโอกาสเพื่อที่จะได้ "อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย"

          ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจ ได้อธิบายว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เป็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

          ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้น ถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบันสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม       

พิธา

ขอบคุณขอมูลจาก เฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, กรุงเทพธุรกิจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธา ชูป้ายค้านไทยร่วม CPTPP ลั่นได้ไม่คุ้มเสีย หวั่นกระทบความมั่นคงทางเกษตร อัปเดตล่าสุด 29 เมษายน 2563 เวลา 14:08:14 14,854 อ่าน
TOP