x close

ตอบคำถาม บ้านพักทหาร ใครอยู่ได้บ้าง ก่อนศาล รธน. ชี้ชะตา บิ๊กตู่ วันนี้

          กางระเบียบกองทัพบก ใครมีสิทธิ์เข้าพักบ้านทหารได้บ้าง ในอดีตมีนายทหารที่เกษียณราชการแล้ว พักหรือไม่ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดวินิจฉัยชี้ชะตา พล.อ. ประยุทธ์ ในวันนี้
บ้านพักทหาร
ภาพจาก รัฐบาลไทย

          จากกรณีพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)

          เนื่องจากมองว่าการอาศัย บ้านพักหลวง ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) ของ พล.อ. ประยุทธ์ เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 3 ประกอบมาตรา 186 ที่กำหนดว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ" โดยศาลรัฐธรรมนูญได้นัดวินิจฉัยคดีดังกล่าวในวันนี้ (2 ธันวาคม 2563) ตามที่ได้มีการรายงานไปแล้วนั้น

อ่านข่าว : จับตา ! ศาล รธน. รับคำร้อง พล.อ. ประยุทธ์ อยู่บ้านพักทหารทั้งที่เกษียณแล้ว
อ่านข่าว : รอลุ้น ศาล รธน. ฟันปมพักบ้านทหาร หาก ประยุทธ์ ผิด ครม. จ่อพ้นทั้งคณะ



บ้านพักทหาร

          อย่างไรก็ตาม กรุงเทพธุรกิจ ได้เปิดเผยระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ. 2553 ในการอาศัยบ้านพักทหาร ว่า ระเบียบได้กำหนดให้ข้าราชการประจำการ หรือลูกจ้างประจำ สังกัดกองทัพบก ที่ไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือของคู่สมรส และไม่ได้รับการสงเคราะห์จากทางราชการ ให้มีอาคารหรือบ้านพัก มีสิทธิ์เข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของราชการ แต่สิทธิ์ดังกล่าวจะหมดไปเมื่อผู้นั้นเสียชีวิตหรือออกจากราชการ

          โดยผู้ย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ต้องย้ายออกจากอาคารบ้านพักอาศัยภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งย้ายออกจากกองทัพบก

บ้านพักทหาร
ภาพจาก รัฐบาลไทย

          แต่มีข้อยกเว้นตาม "ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ปี 2548" ที่ระบุว่า การจะได้อยู่อาศัยต่อในบ้านพักหลวงจะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อ อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบก และประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว มีสิทธิ์เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก

          ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรากฏว่า ในอดีตเคยมีผู้นำเหล่าทัพหลายคนยังคงอยู่ในบ้านพักหลวง หลังจากเกษียณอายุราชการไปแล้ว เช่น ในสมัย พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ก็เคยปรากฏข้อมูลว่า นายทหารที่เกษียณราชการแล้ว เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี สามารถอาศัยบ้านพักหลวงได้เพราะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นกรณีเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์

         นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางกฎหมายที่จะต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถึงกรณีที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ห้ามนายกฯ และรัฐมนตรี รับประโยชน์ใด ทำให้จะต้องมีการตีความกันอีกครั้งว่าข้อความนี้จะหมายถึงการเข้าพักบ้านพักทหารโดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำ-ค่าไฟ ด้วยหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตอบคำถาม บ้านพักทหาร ใครอยู่ได้บ้าง ก่อนศาล รธน. ชี้ชะตา บิ๊กตู่ วันนี้ อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2563 เวลา 15:53:28 7,864 อ่าน
TOP