x close

บีทีเอส ไม่หยุดแค่ยูทูบ จัดอีก 1 ดอกให้ประชาชนเห็นชัด ๆ ทวงหนี้รัฐบาลบนจอรถไฟฟ้า

        ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ภาพ บีทีเอสทวงหนี้รัฐบาล 3 หมื่นล้าน บนจอรถไฟฟ้า บอก ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นการทวงหนี้ออกอากาศ พร้อมแสดงความคิดเห็น หรือนี่จะเกี่ยวกับสัมปทานเอกชนต่ออีก 30 ปี

บีทีเอสทวงหนี้รัฐบาล
ภาพจาก artapartment / Shutterstock.com

        จากกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอส ออกเอกสารแถลงเรื่อง การส่งหนังสือทวงหนี้ 3 หมื่นล้านจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้จ่ายค่าจ้างการเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา และดูเหมือนว่า มีบุคคลบางกลุ่มไม่ต้องการให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไข พยายามสร้างประเด็นมาต่อต้านคัดค้าน ทำให้ทางบีทีเอสออกมาเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เงียบไป โดยการอัดคลิปทวงหนี้ออกสื่อ จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมสนใจขึ้นมาทันทีนั้น

        อ่านข่าว : BTS แจงยังทวงหนี้ 3 หมื่นล้าน จาก กทม. ไม่ได้ ชี้ ถ้าไม่แก้ปัญหา ปชช. เดือดร้อนแน่ !

        บีทีเอสทวงหนี้รัฐบาล

        ทว่า ภารกิจทวงหนี้รัฐบาลของบีทีเอสยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะล่าสุด (11 เมษายน 2564) มีรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโพสต์ภาพคลิปในจอของรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุว่า ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นการทวงหนี้ออกอากาศ ที่ทางบีทีเอสชี้แจงว่า กทม. ค้างชำระหนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ก้อนนี้จะไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ถ้า ครม. ยอมต่อสัมปทานให้บีทีเอสอีก 30 ปี (2572-2602)

        โดยนายชัชชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) นี้ เดิมการก่อสร้างเป็นหน้าที่ของ รฟม. (กระทรวงคมนาคม) แต่ต่อมารัฐบาลมอบให้ กทม. ดูแล ทำให้ กทม. มีภาระหนี้สินในส่วนของงานก่อสร้างที่ รฟม. ได้ทำไปแล้วคือ

        หนี้ก้อนที่ 1 : งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (ที่ รฟม. ออกไปก่อน) ประมาณ 60,000 ล้านบาท

        หนี้ก้อนที่ 2 : เกิดจากต่อมา กทม. ได้ให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จ้างบีทีเอสในการติดตั้งงานระบบ ทำให้เกิดหนี้ก้อนนี้ งานระบบเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล (จ้าง บีทีเอส) ประมาณ 20,000 ล้านบาท

        หนี้ก้อนที่ 3 : เกิดเมื่อเริ่มเปิดเดินรถโดยไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 แต่ต้องจ่ายค่าเดินรถให้บีทีเอสค่าจ้างเดินรถ (จ้าง บีทีเอส) จำนวน 9,602 ล้านบาท

        สรุป กทม. มีหนี้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยหนี้ก้อนที่ 2 และ 3 เป็นหนี้กับบีทีเอสประมาณ 30,000 ล้านบาท ถ้าหนี้เหล่านี้เป็นหนี้ที่ถูกทำขึ้นอย่างโปร่งใส กทม. ก็มีหน้าที่จ่ายหนี้เหล่านี้ โดยหนี้ก้อนที่ 1 และ 2 เท่าที่ตนมีข้อมูล ทางคลังก็พร้อมจะหาแหล่งเงินกู้ให้ (เหมือนที่หาให้ รฟม.) ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเอกชน และให้ กทม. ทยอยจ่ายคืน


        ส่วนหนี้ก้อนที่ 3 เรื่องการจ้างเดินรถนั้น คงต้องไปดูอีกทีว่ามีการดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เป็นอำนาจใครที่สั่งไม่ให้เก็บค่าโดยสาร ถ้า ครม. สั่งไม่ให้เก็บค่าโดยสาร ครม. ก็ควรจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ หรือถ้า กทม. เป็นผู้ไม่เก็บค่าโดยสารเอง ก็ต้องดูว่าอำนาจอนุมัติให้ไม่ต้องเก็บค่าโดยสารนี้เป็นของใคร และจะเอาเงินส่วนไหนมาจ่าย

บีทีเอสทวงหนี้รัฐบาล

        อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ แสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายว่า กทม. จะมีเงินจ่ายหนี้เหล่านี้ได้ ก็คงต้องหลังจากปี 2572 รถไฟฟ้าสีเขียวทั้งหมดกลับมาเป็นของ กทม. (ถึงแม้ว่าผู้บริหาร กทม. ที่ผ่านมา ได้ทำการจ้างเอกชนให้เดินรถล่วงหน้าไปถึงปี 2585 แล้ว) รายได้ค่าโดยสารและเชิงพาณิชย์ เช่น ค่าโฆษณา ทั้งหมด จะกลับมาเข้า กทม. โดยตรง 100% ซึ่ง กทม. สามารถใช้รายได้ตรงนี้มาทยอยจ่ายหนี้ได้จนหมดสบาย ๆ และถ้ามีเหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ก็สามารถลดค่าโดยสารให้ประชาชนได้อีก

        ส่วนการจะให้สัมปทานเอกชนต่ออีก 30 ปี โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อให้เอกชนรับภาระหนี้ในปัจจุบันไป ไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณ คงต้องคิดให้ละเอียด รอบคอบ เพราะสุดท้ายแล้วคนจ่ายจริง ๆ ก็คือประชาชน และต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) ของเอกชนสูงกว่าของรัฐบาล


บีทีเอสทวงหนี้รัฐบาล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บีทีเอส ไม่หยุดแค่ยูทูบ จัดอีก 1 ดอกให้ประชาชนเห็นชัด ๆ ทวงหนี้รัฐบาลบนจอรถไฟฟ้า โพสต์เมื่อ 11 เมษายน 2564 เวลา 11:22:20 14,953 อ่าน
TOP