คดีพลิก ! ต้นสังกัดแจงคืออะไร ที่เห็นไม่ใช่ถนนกลางทุ่งนา - โซลาร์เซลล์ ไม่ใช้เดี๋ยวย้ายให้

          คืบหน้าถนนกลางทุ่งนา ผลงานสำนักงานชลประทานที่ 7 แจงไม่ใช่ถนน เส้นนี้ใช้งบ 8.4 ล้าน ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ ถ้าชาวบ้านกลัวข้าวไม่ออก จะย้ายเสาออกให้


          กรณีพบถนนลาดยางเลียบคลองชลประทาน พร้อมติดตั้งระบบไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ อยู่กลางทุ่งนาในพื้นที่บ้านเหมือด ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ซึ่งได้รับร้องเรียนว่าถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีความจำเป็น เนื่องจากอยู่กลางทุ่งนาและเป็นทางตัน ที่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ เบื้องต้นทราบว่าเป็นการสร้างของกรมชลประทาน จะมีการสร้างแบบนี้ 6 แห่ง ใช้งบกว่า 48 ล้านบาท เพื่อเหตุผลด้านการเกษตรนั้น

อ่านข่าว : รู้แล้วฝีมือใคร..ถนนโผล่กลางทุ่ง มีไฟโซลาร์เซลล์แต่เป็นทางตัน อ้างสร้างกระตุ้นราคายา


           ความคืบหน้าเรื่องนี้ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตอบกระทู้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โครงการนี้เป็นการดำเนินการของสำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 7 เรียบร้อยแล้วว่า กรณีที่มีการนำป้ายกรมทางหลวงชนบทไปติด ต้องประสานงานขออนุญาตก่อน เพราะไม่สามารถนำไปใช้ได้เอง

           นายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่าง และเซบายล่าง สำนักงานกรมชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ชี้แจงว่า จุดดังกล่าวไม่ได้เป็นถนน แต่เป็นคันคลองส่งน้ำสายแยกซอย หรือที่มีชื่อเรียกว่า คลองส่งน้ำสาย MC-2L-7L ของสถานีสูบน้ำ P.5 ได้รับงบประมาณก่อสร้างตาม พ.ร.บ. ปี 2564 วงเงิน 8,417,000.00 ระยะทาง 1.816 กิโลเมตร เป็นงานจ้างเหมาทั้งโครงการ เป็นแผนงานปรับปรุงคันคลองส่งน้ำ  P.5 ตั้งแต่ปี 2561 ได้รับงบประมาณบางส่วน และได้เสนอขอรับงบประมาณ ในปี 2566 เพื่อให้เชื่อมโยงกับคลองสายหลัก หากได้รับงบประมาณจะสามารถสัญจรได้ทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาอุดม บ้านเหมือด และ บ้านคูสองชั้น ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร


           โครงการนี้เป็นการปรับปรุงคันคลองส่งน้ำจากหินลูกรังเดิมให้เป็นลาดยาง เพื่อให้ชาวบ้านและเกษตรกรใช้เป็นทางสัญจร เป็นทางเชื่อมเข้าสู่ชุมชนหรือใกล้ตัวเมืองมากที่สุด และจะได้ใช้ขนถ่ายสินค้าทางการเกษตรได้สะดวกยิ่งขึ้น

           ประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นถนน สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา เนื่องจากราคายางตกต่ำ จึงได้มีนโยบายให้กรมชลประทานสนับสนุนแผนงานส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานจึงได้เสนอแผนงานก่อสร้างถนนคันคลองชลประทานในเขตรับผิดชอบทั้งหมด โดยก่อสร้างเป็นถนนพาราซอยซีเมนต์และพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีตตั้งแต่ปี 2561


           ทั้งนี้ โครงการสร้างถนนเพื่อขนถ่ายสินค้าของเกษตรกรชาวนาของกรมชลประทาน จะสร้างถนนทั่วประเทศ เพื่อหวังกระตุ้นราคายางพารา และให้ชาวบ้านสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นถนนลูกรัง ซึ่งเฉพาะที่ยโสธรมี 6 แห่ง ใช้งบประมาณกว่า 48 ล้านบาท

           ส่วนกรณีแผงโซลาร์เซลล์ หากชาวบ้านกังวลว่าจะมีผลกับการออกผลผลิตข้าว อาจจะมีการรื้อถอนเพื่อไปติดในจุดที่จำเป็น




ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คดีพลิก ! ต้นสังกัดแจงคืออะไร ที่เห็นไม่ใช่ถนนกลางทุ่งนา - โซลาร์เซลล์ ไม่ใช้เดี๋ยวย้ายให้ อัปเดตล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16:25:44 16,612 อ่าน
TOP
x close