x close

ราชบัณฑิตแจง เปลี่ยน Bangkok เป็น Krung Thep สะเทือนทั้งแผ่นดินไหม - เปลี่ยนฮานอย เป็น ห่าโหน่ย

          เปิดผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนชื่อ Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon ทั้งแง่บวกและแง่ลบ ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลของมัน ด้านสำนักงานราชบัณฑิตยสภา แจง ไม่ได้เป็นการเปลี่ยน แต่แค่เพิ่มชื่อเรียกเฉย ๆ ยังใช้ได้ทั้ง 2 ชื่อ

 Bangkok

         จากกรณีที่ประชุม ครม. เห็นชอบในเรื่องที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เสนอให้มีการแก้ไขชื่อเมืองหลวงของไทยในภาษาอังกฤษ จากเดิมคือ Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon พร้อมกับเอาชื่อเดิมไปไว้ในวงเล็บด้านหลังแทนว่า (Bangkok) แทน ทำให้ชาวเน็ตต่างรุมวิจารณ์ถึงความสมเหตุสมผลการทำแบบนี้

          อ่านข่าว : ราชบัณฑิตฯ เปลี่ยนชื่อกรุงเทพฯ จาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon

ปัญหาของคำว่า Bangkok


          ล่าสุด วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เฟซบุ๊ก Pongsuk Hiranprueck ของหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ อินฟลูเอ็นเซอร์ด้านไอทีชื่อดัง มีการโพสต์ถึงเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่งว่า ปัญหาของการใช้คำว่า Bangkok ในต่างประเทศก็มีเหมือนกัน เพราะคำคำนี้ เมื่ออ่านออกเสียงแล้ว มันจะไปตรงกับความหมายในเชิงทะลึ่งของภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า "ตีอวัยวะเพศชาย"

          นอกจากนี้ คุณหนุ่ย ยังยกประสบการณ์ตรงที่เจอมากับตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อไปดูคอนเสิร์ตนักร้องดังอย่างมาดอนน่าที่จัดแสดงสดถึงประเทศไทย มาดอนน่า ทักทายแฟนเพลงชาวไทยว่า "Hello Bang...kok !!!" แต่กลับกลายเป็นว่า คนดูชาวต่างชาติต่างขำกันลั่น จึงทำให้เข้าใจทันทีว่า ปัญหาของคำนี้อยู่ตรงไหน กรุงเทพฯ ถูกบูลลี่ทางชื่อเมืองภาษาอังกฤษมานานเหลือเกิน

          ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อในแผนที่ภูมิศาสตร์แบบทางการ คงเป็นมุมมองของนักภาษาศาสตร์และนักการทูตที่อยากแก้ปัญหา เขาทำไปเพราะมีเหตุผล และเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เรื่องนี้

          แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อเมืองภาษาอังกฤษ แต่คำว่า Bangkok ก็ยังสามารถถูกเรียกได้อยู่ คนไทยไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

อีกมุมมองว่า เปลี่ยนชื่อครั้งเดียว สะเทือนทั้งแผ่นดิน


          ความคิดเห็นชาวเน็ตส่วนใหญ่ที่เห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มองว่า สิ่งหนึ่งที่จะต้องเปลี่ยนไปแน่ ๆ คือ การทำป้ายเมืองใหม่ จะต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนป้ายทั่วประเทศมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ตอนนี้เรากำลังเจอกับภาวะโรคระบาด ควรใช้งบประมาณในเรื่องอื่นก่อน

          เรื่องเอกสารราชการก็เป็นอีกอย่างที่ต้องเปลี่ยน การใช้คำว่า Krung Thep Maha Nakhon ทำให้ใช้ตัวอักษรมากขึ้นกว่าเดิม อาจทำให้ใช้กระดาษจำนวนที่มากขึ้นในการพิมพ์เอกสาร ถ้าจะเปลี่ยนจริง ๆ ทำไมไม่ใช้คำว่า Krungthep ก็พอ จะเขียนเว้นวรรคกันทำไม

          อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะทั่วโลกติดแบรนด์คำว่า Bangkok ไปแล้ว หากมีการเปลี่ยนชื่อ โรงแรมต่าง ๆ อาจจะต้องมานั่งหาวิธีสื่อสารการตลาดใหม่ แล้วจะวุ่นวายกว่าเดิม เพราะต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจว่า Krung Thep Maha Nakhon อยู่ที่ไหน

ราชบัณฑิตยสภา แจงแล้ว ใช้ได้ทั้ง 2 คำ


          ขณะที่ เฟซบุ๊ก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีการออกมายืนยันแล้วว่า คำว่า กรุงเทพมหานคร ในภาษาอังกฤษสามารถใช้ได้ทั้ง 2 คำ คือ Krung Thep Maha Nakorn และ Bangkok

          นอกจากนี้ ยังมีการชี้แจงเหตุผลและขั้นตอนว่า การปรับปรุงแก้ไข การกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน การปกครอง และเมืองหลวง ทำไปเพราะต้องการให้ถูกต้องและชัดเจน มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปในทางเดียวกัน

          พร้อมกันนั้น ยังมีการเปิดเผยขั้นตอนขั้นต่อไปด้วยว่า หลังจาก ครม. เห็นร่างในหลักการ จากนี้จะอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา ประกอบกับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำเนินการต่อไป

 Bangkok

         ล่าสุด เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ยังมีการปรับชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวงต่าง ๆ เช่น กัวลาลัมเปอร์ เป็น กัวลาลุมปูร์, เบอร์ลิน เป็น แบร์ลีน (เยอรมนี), เบิร์น เป็น แบร์น (สวิตเซอร์แลนด์), ฮานอย เป็น ห่าโหน่ย (เวียดนาม), และโรม เป็น โรม่า (อิตาลี)


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ราชบัณฑิตแจง เปลี่ยน Bangkok เป็น Krung Thep สะเทือนทั้งแผ่นดินไหม - เปลี่ยนฮานอย เป็น ห่าโหน่ย อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08:42:26 11,060 อ่าน
TOP