x close

วิเคราะห์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 20 ปีหลังสุด คะแนนเท่าไร ถึงการันตีชัยชนะ-อะไรคือตัวพลิกเกม


          เปิดสถิติเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ควรได้กี่คะแนนถึงการันตีชัยชนะ ตัวแปรอยู่ตรงไหนบ้าง มาส่องสถิติ 20 ปีหลังสุดกัน เพื่อดูแนวโน้มในครั้งนี้

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565

          และแล้วก็มาถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจะมาย้อนสถิติเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับคะแนนเสียง ควรได้กี่คะแนนถึงจะได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไปครอบครอง โดยนับแค่ 20 ปีล่าสุด หรือ 4 ครั้งหลัง

เปิดสถิติคะแนนผู้ว่าฯ กทม. กับคู่แข่งขัน


1. ปี 2543


          - อันดับ 1 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ 911,441 คะแนน

          - อันดับ 2 นางปวีณา หงสกุล อิสระ 619,039 คะแนน

          - อันดับ 3 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จากพรรคต้นตระกูลไทย 334,168 คะแนน

          ชัยชนะของนายอภิรักษ์ นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ในสนามผู้ว่าฯ กทม. ในรอบ 25 ปี หลังคนสุดท้ายที่ชนะคือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน ในปี 2518 โดยนายอภิรักษ์สามารถเอาชนะอันดับ 2 อย่างนางปวีณา ด้วยผลต่างประมาณ 3 แสนคะแนน

2. ปี 2551


          - อันดับ 1 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ 991,018 คะแนน

          - อันดับ 2 นายประภัสร์ จงสงวน จากพรรคพลังประชาชน 543,488 คะแนน

          - อันดับ 3 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อิสระ 340,616 คะแนน

          การลงสมัครครั้งที่ 2 ในฐานะแชมป์เก่าของนายอภิรักษ์ ผลก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แถมยังสามารถคว้าคะแนนได้เพิ่มขึ้นอีก 8 หมื่นคะแนน ทิ้งช่องว่างคะแนนห่างอันดับ 2 ไปไกลกว่าเดิมถึง 4 แสนคะแนน

3. ปี 2552

          - อันดับ 1 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ 934,602 คะแนน

          - อันดับ 2 นายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทย 611,669 คะแนน

          - อันดับ 3 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล อิสระ 334,846 คะแนน

          การลาออกของนายอภิรักษ์ในคดีรถดับเพลิง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มาเป็นตัวแทนพรรค แต่ผลการเลือกตั้งก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง คนจากพรรคประชาธิปัตย์ยังคว้าเก้าอี้ไปครองได้ แถมทิ้งอันดับ 2 อย่างนายยุรนันท์ประมาณ 3 แสนคะแนน

4. ปี 2556


          - อันดับ 1 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ 1,256,349 คะแนน

          - อันดับ 2 พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย 1,077,899 คะแนน

          - อันดับ 3 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อิสระ 166,582 คะแนน

          เป็นการเลือกตั้งที่คู่คี่สูสีมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย มีคนที่ได้ 1 ล้านคะแนนถึง 2 คน แต่กลับมีคนหนึ่งต้องพ่ายแพ้ โดยผลการเลือกตั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ รักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ ทิ้งห่างอันดับ 2 ไม่เกิน 2 แสนคะแนน

สถิติทั้งหมด ประมวลผลอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้ได้บ้าง


1. คนชนะ ควรได้คะแนนเท่าไหร่

          จากสถิติการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลัง จะเห็นได้ว่า ผู้ที่คว้าตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไปครอง จะมีคะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 9 แสนคะแนน ซึ่งถ้าครั้งนี้ ผู้สมัครคนใดได้คะแนนถึง 9 แสนคะแนน ก็น่าจะพอการันตีชัยชนะได้

2. อันดับ 3 และอันดับต่ำกว่านี้ คือตัวแปรสำคัญของอับดับ 1 และ 2

          ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง คนส่วนใหญ่จะโฟกัสกับอันดับ 1 และอันดับ 2 แต่ถ้ามองลึก ๆ อันดับ 3 ก็คือตัวแปรสำคัญของ 2 อันดับบนเช่นกัน โดยสถิติคะแนนของอันดับ 3 จะอยู่ในหลัก 3 แสนคน แต่ในปี 2556 เป็นปีที่แตกต่างจากปีอื่น เพราะคะแนนอันดับ 3 ได้เพียง 1.6 แสน แต่คะแนนอันดับ 2 (พล.ต.อ. พงศพัศ) กลับได้ถึง 1 ล้านเสียง ถ้าหากคะแนนเกณฑ์นี้ไปใช้ในปีอื่น น่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไปแล้ว

          ฉะนั้น สามารถสรุปได้ว่า อันดับ 1 หรือ 2 คะแนนจะมากจะน้อยแค่ไหน อันดับ 3 คือตัวแปรสำคัญ ถ้าหากอันดับ 3 ได้คะแนนเยอะในครั้งนี้ ก็น่าจะดึงคะแนนอันดับ 1 หรือ อันดับ 2 ลงมาได้ และคนชนะอาจจะไม่จำเป็นต้องถึง 9 แสนคะแนน

          แต่ถ้าหากอันดับ 3 ได้คะแนนน้อยแบบปี 2556 ก็มีโอกาส 2 กรณี คือ อันดับ 1 จะได้คะแนนแบบสูงจนทิ้งขาดไปเลย หรืออาจจะเป็นอันดับ 1 และ 2 ไล่บี้กันอย่างสูสี แบบปี 2556 ก็เป็นได้ ฉะนั้นตำแหน่งตรงนี้อย่ามองข้าม

          ส่วนสถานการณ์จริง ๆ ของการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นแบบไหน คงต้องรอปิดหีบนับคะแนนเท่านั้น ถึงจะรู้ เพราะขึ้นชื่อว่าการเลือกตั้ง ไม่มีอะไรแน่นอนอยู่แล้ว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิเคราะห์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 20 ปีหลังสุด คะแนนเท่าไร ถึงการันตีชัยชนะ-อะไรคือตัวพลิกเกม อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 10:27:06 7,987 อ่าน
TOP