x close

อดีต ผกก.โจ้ ขอศาลแถลงขอโทษ หลังรู้โดนโทษประหารชีวิต - พ่อรับไม่ได้ ต่อหน้าทำเป็นดี


          เผยสภาพอดีตผู้กำกับโจ้ ระหว่างนั่งฟังพิจารณาคดี มีการขอศาลแถลงขอโทษ หลังจากรู้โดนโทษประหารชีวิตก็ขอแถลงอีก แต่ศาลไม่อนุญาต พบจ่ายครอบครัวผู้ตาย 3 แสน - ช่วยงานศพ 3 หมื่น เป็นเหตุบรรเทาโทษ

ผู้กำกับโจ้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

          จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีตผู้กำกับโจ้ ในคดีคลุมถุงดำผู้ต้องหาจนหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตาย โดยมีคำพิพากษา คือ ประหารชีวิต แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุกตลอดชีวิต โดยพบว่าผู้กำกับโจ้ใช้ถุงคลุมศีรษะผู้ต้องหา ทุบหลัง ตบหน้า ยันเข่า สาดน้ำ และปั๊มหัวใจ ส่วนพวกอีก 5 คน ถูกพิพากษาตัดสินประหารชีวิตแต่ละโทษ 1 ใน 3 เช่นกัน ขณะที่จำเลยที่ 6 โทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

          อ่านข่าว : ศาลสั่งประหารชีวิต อดีตผู้กำกับโจ้ คดีคลุมถุงดำ พร้อมเผยชัด ใครคลุมถุง-ใครมัดมือ

          ล่าสุด (8 มิถุนายน 2565) เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้รายงานถึงเหตุการณ์หลังจากที่อดีตผู้กำกับโจ้ และญาติของผู้เสียชีวิต ฟังคำพิพากษาดังกล่าว โดยศาลได้อ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำคลองเปรม โดยอดีตผู้กำกับโจ้และพวกอยู่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล นั่งฟังคำพิพากษาอยู่ที่เรือนจำ

ผู้กำกับโจ้

อดีตผู้กำกับโจ้ พยายามขอศาลแถลงขอโทษทั้งก่อน-หลังอ่านคำพิพากษา แต่ศาลไม่อนุญาต


          ตามรายงานระบุว่า เมื่อศาลออกนั่งบัลลังก์ อดีตผู้กำกับโจ้ได้ขอต่อศาลขอแถลงขอโทษ โดยอ้างว่าไม่รู้ว่าทนายความได้ส่งคำแถลงสรุปคดีไปที่ศาลหรือยัง เนื่องจากไม่ได้เจอกันและทนายไม่ได้ส่งอะไรให้ ซึ่งกรณีดังกล่าว ศาลไม่อนุญาต

          อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับโจ้ยังพยายามขอแถลงขอโทษ ซึ่งศาลตอบกลับว่าหลังจากที่อ่านคำแถลงปิดคดีกว่า 400 หน้า เห็นแล้วว่ามีคำแถลงทุกอย่างอยู่ในสำนวน ไม่อนุญาตให้แถลงอะไรอีก

          ทั้งนี้ หลังอ่านคำพิพากษา อดีตผู้กำกับโจ้พยายามขอแถลงขอโทษอีกครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต โดยระบุว่า ศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้ว เรื่องต่อจากนี้เป็นหน้าที่ทนายมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์และฎีกาได้ ขณะที่อดีตผู้กำกับโจ้ก็พยายามขอพูดอีก แต่ศาลยืนยันว่าเป็นหน้าที่ทนายให้ไปหาและคุยเรื่องคดี วันนี้ไม่อนุญาต ก่อนที่จะให้เรือนจำตัดสัญญาณ

          ตามรายงานระบุว่า ตำรวจในคดีอีกคนหนึ่งได้ขอต่อศาลเพื่อคุยกับทนาย โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้เจอกับทนายเลย ซึ่งจะนัดหมายเรื่องขออุทธรณ์ โดยศาลบอกว่าให้ทนายไปติดต่อที่เรือนจำ ก่อนที่จะให้เจ้าหน้าที่เรือนจำตัดสัญญาณ

ผู้กำกับโจ้

ระหว่างที่ศาลอ่านคำพิพากษาและบรรยายพฤติการณ์แห่งคดี พ่อ-แม่ผู้เสียชีวิตยืนน้ำตาไหล ส่ายหัวตลอดเวลา ลั่น ฟังแล้วสุดจะทน


          ตามรายงานระบุว่า ขณะที่ศาลอ่านคำพิพากษาและบรรยายพฤติการณ์แห่งคดีนั้น นางจันทร์จิรา ธนะพัฒน์ แม่ของผู้เสียชีวิต ยืนน้ำตาไหล ขณะที่ ร.ต. จักรกฤษณ์ กลั่นดี ผู้เป็นพ่อ ยืนส่ายหัวตลอดเวลา

          ต่อมา ร.ต. จักรกฤษณ์ ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาว่าพอใจคำพิพากษา ฟังพฤติการณ์แล้วสุดจะทน การพิจารณาของศาลละเอียดมากว่าลูกเราโดนอย่างไร ตอนแรกยังไม่เห็นคลิปและเขาดีกับตนมาก กอดแม่กอดพ่อร้องไห้ คิดไม่ถึงว่าเขาจะเป็นแบบนั้น แต่พอเห็นภาพแล้วสุด วันนี้เห็นเขาแล้วเขาคิดว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ในเมื่อมีหลักฐานแบบนี้แล้วจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ศาล

เอกสารข่าวแจกของศาล ระบุว่า อดีตผู้กำกับโจ้และพวกได้วางเงินบรรเทาผลร้ายให้กับครอบครัวโจทก์ ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ


          หลังอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 6 คน รวมอดีตผู้กำกับโจ้ ได้ยอมรับข้อเท็จจริงบางส่วนและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง หลังเกิดเหตุจำเลยพยายามช่วยเหลือผู้ตายโดยการปั๊มหัวใจและนำส่งโรงพยาบาล จนแพทย์สามารถช่วยจนมีสัญญาณชีพก่อนจะถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา หลังจากนั้นจำเลยรู้สึกผิด ช่วยค่าปลงศพ 30,000 บาท และวางเงินบรรเทาผลร้ายให้โจทก์ร่วมทั้งสอง คนละ 300,000 บาท นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามกฎหมาย

ผู้กำกับโจ้
ภาพจาก สปริงนิวส์

พ่อแม่ผู้ตายเตรียมฟ้องแพ่งร้องค่าสินไหมเป็นเงิน 1,550,000 บาท-ศาลชี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จนท. รัฐ แต่ให้ไปเรียกเอากับต้นสังกัดแทน


          ต่อมา ในส่วนท้ายของเอกสารข่าวแจกของศาลระบุถึงการเรียกร้องค่าสินไหมของพ่อ-แม่ผู้ตายว่าจำเลยทั้ง 7 คนเป็นเจ้าพนักงาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า หน่วยงานรัฐต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียหายในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตน ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

          ดังนั้น โดยผลของมาตรา 5 ดังกล่าว พ่อ-แม่ผู้เสียชีวิตจึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงเป็นผลให้ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดเรื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยทั้ง 7 คนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งได้ (ซึ่งการยกคำร้องขอดังกล่าวมิได้เป็นการตัดสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมของโจทก์ร่วม แต่โจทก์ต้องไปดำเนินการเรียกเอากับหน่วยงานของรัฐที่จำเลยสังกัดอยู่)

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว, ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดีต ผกก.โจ้ ขอศาลแถลงขอโทษ หลังรู้โดนโทษประหารชีวิต - พ่อรับไม่ได้ ต่อหน้าทำเป็นดี อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2565 เวลา 23:10:01 8,550 อ่าน
TOP