x close

แจงความเสียหาย ดารุมะ คาดไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ที่มาของคำว่า ขายดีจนเจ๊ง


         คาดผลกระทบจากการปิดสาขาของ ดารุมะ ซูชิ มีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท คาดเกิดจากผลการบริหารที่ผิดพลาด ให้อำนาจผู้บริหารมากเกินไป สุดท้ายทุกอย่างล่มหมด แถมลือ ผู้บริหารหนีไปต่างประเทศแล้ว


           วันที่ 19 มิถุนายน 2565 จากกรณีดารุมะ ซูชิ ร้านซูชิและบุฟเฟ่ต์ชื่อดัง ปิดสาขาทุกแห่งแบบไม่มีกำหนด และทำให้มีผู้เสียหายจากกรณีนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมา หนึ่งในผู้จัดการสาขาได้ออกมาระบายความในใจ ว่าไม่ใช่ลูกค้าที่เสียหาย แต่ทางพนักงานก็เสียหายเหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม ผจก. สาขาบุฟเฟ่ต์แซลมอน เปิดใจไร้ระบบบริหาร-เจ้าของดีดตัวเองออกจากไลน์กลุ่ม

           ทั้งนี้ ช่องวัน 31 และ ไทยพีบีเอส รายงานว่า เรื่องผลกระทบวงกว้างของดารุมซูชินั้น อย่างน้อย ๆ ตอนนี้มี 4 ฝ่ายที่คาดว่าได้รับผลกระทบคือ


          - ลูกค้าที่ซื้อวอยเชอร์ โดยที่คาดว่าวอยเชอร์ขายออกไปแล้วมากกว่า 2 แสนใบ คาดว่ามูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท

          - ซัพพลายเออร์ที่ขายปลาแซลมอนให้ร้าน โดยจากกระแสข่าวว่า มีการค้างค่าปลากว่า 30 ล้านบาท

          - นักลงทุนที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ไปเปิด คนละ 2.5 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าตกแต่งและค่าเช่าสถานที่ มีทั้งหมด 20 สาขา คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

          - พนักงานที่ไม่ได้รับเงินเดือน คาดว่าอย่างน้อยพนักงานประมาณ 270 คน ที่ตกงาน


          ทั้งนี้ ตอนนี้คาดว่าความเสียหายทั้งหมด น่าจะอย่างน้อย 100 ล้านบาท และมีแชตหลุดออกมาว่า ตอนนี้ผู้บริหารได้ออกจากกลุ่มไลน์ไปแล้ว และคาดว่าตอนนี้ได้หนีออกนอกประเทศไปอยู่ดูไบ


ผู้จัดการเปิดใจ สาเหตุที่ล่มสลาย เพราะให้อำนาจผู้บริหารไว้มากเกินไป


          อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการของร้านดารุมะในสาขาหนึ่ง ได้ออกมาเผยว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทุกอย่างล่มสลาย เนื่องจากการที่ทางบริษัท ให้อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างที่ตัวผู้บริหารทั้งหมด ไม่มีทีมผู้บริหาร ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือบัญชี ทุกอย่างสาขาจัดการกันเอง และเมื่อผู้บริหารมีอำนาจล้นขนาดนี้ ทำให้ตอนนี้ผู้บริหารหายไป เลยล่มกันไปทั้งระบบ

          ทั้งนี้ ทางผู้จัดการบอกว่า หากใครที่อยากจะแจ้งความ ก็สามารถแจ้งความบริษัทได้เลยตามความเหมาะสม เพราะต่อให้ลูกค้าโทร. มาที่สาขา ทางสาขาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นหนึ่งในผู้เสียหายเช่นกัน และขอยืนยันว่าพนักงาน หุ้นส่วนแฟรนไชส์ ไม่มีส่วนรู้เห็นใด ๆ ตอนวันที่ 16 ทางร้านยังเปิดกันได้ แต่พอวันที่ 17 เหตุที่ทุกร้านต้องปิด เพราะว่าทางซัพพลายเออ์ไม่สามารถส่งวัตถุดิบให้ร้านได้ เพราะร้านยังมีหนี้ของเก่าที่ติดค้าง และพนักงานเองก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากไปรวมตัวกันฟ้องกรมแรงงาน เพื่อรับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมต่อไป


คาดสาเหตุเจ๊ง เพราะแซลมอนแพง แต่ยังทนขายออกเพื่อดึงเงินเข้าระบบ สู่การ ยิ่งขายดี ยิ่งเจ๊ง


          นอกจากนี้ ผลกระทบเนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาปลาแซลมอนเพิ่มขึ้นอย่างหนัก จากแต่ก่อนที่ทางร้านขายราคาบุฟเฟ่ต์ที่ 499 บาท จากนั้นก็ลดราคาเหลือ 250 บาท และล่าสุดคือ 199 บาท ผู้บริหารตัดสินใจขายวอยเชอร์ออกไปก่อน เพื่อเป็นการดึงเงินเข้าสู่ระบบ และหวังว่าราคาแซลมอนจะลดลง แต่เมื่อแซลมอนราคาไม่ลด และวอยเชอร์ก็ขายไปล่วงหน้า ทำให้ผู้บริหารหมุนเงินไม่ทัน จึงนำมาสู่คำว่า ยิ่งขายดี ยิ่งเจ๊ง

          และหลายคนได้นำโมเดลนี้ไปเทียบกับกรณีของแหลมเกตุ ร้านซีฟู้ดชื่อดังในอดีต ที่ขายวอยเชอร์ในราคาถูกมาก แต่สุดท้ายยิ่งขายยิ่งเจ๊ง เพราะราคาที่ขายไม่ได้สะท้อนกับต้นทุนราคาจริง ๆ จนทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และผู้บริหารถูกสั่งจำคุก 20 ปี

          ในขณะที่ สคบ. ยืนยันให้ผู้ที่ได้รับความเสียหาย เก็บรวบรวมหลักฐาน เอกสาร และร้องเรียนมาที่ สคบ. ได้ทันที
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แจงความเสียหาย ดารุมะ คาดไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ที่มาของคำว่า ขายดีจนเจ๊ง อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2565 เวลา 10:46:27 49,931 อ่าน
TOP