เปิดสูตรจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกล 3 สูตร แบบไหนเป็นไปได้บ้าง ด้านตัวแทนก้าวไกล มั่นใจ ก้าวไกล + เพื่อไทย สูตรที่แข็งแรงที่สุด ไม่กังวล ส.ว.

หลังจากการเลือกตั้ง 2566 ผ่านพ้นไป หลายคนก็เริ่มเห็นผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการกันบ้างแล้ว ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 1 คือ 150 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง
วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว โพสต์ย้อนสูตรการจัดรัฐบาลของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เคยกล่าวไว้ก่อนเลือกตั้งว่า จะร่วมรัฐบาลกับพรรคใดบ้าง ดังนี้
1. พรรคก้าวไกล 150 ที่นั่ง
2. พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง
3. พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง
4. พรรคไทยสร้างไทย 6 ที่นั่ง
5. พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง

และ ณ สถานการณ์ตอนนี้ พรรคภูมิใจไทยคือตัวแปรสำคัญมาก เพราะมีเก้าอี้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 3 สามารถชี้ชะตาการจัดตั้งรัฐบาลได้เลยว่าจะร่วมกับพรรคไหน
ด้วยเหตุนี้ กระปุกดอทคอม จึงสรุปเงื่อนไขที่จะทำให้พรรคก้าวไกล สามารถโหวตผ่านนายกรัฐมนตรีได้ ดังนี้
สูตรที่ 1 ดึงพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลให้ได้ คือจบ
ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ พรรคภูมิใจไทย ได้ 70 ที่นั่ง เท่ากับว่า ถ้าสามารถดึงพรรคภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาลได้ ก็จะมี ส.ส. เกิน 376 เสียง ปิดสวิตช์ ส.ว. แบบเบ็ดเสร็จ
หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถดึงพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ ก็ยังมีพรรคที่มีคะแนนรองลงมาที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี 25 เสียง กับ พรรคชาติไทยพัฒนา มี 10 เสียง หรือพรรคอื่น ๆ ที่มีคะแนนราว 1-2 ที่นั่ง
ถ้าพรรคเหล่านี้ตอบตกลงร่วมรัฐบาล ก็จะทำให้มีคะแนนโหวตนายกรัฐมนตรีมากขึ้น แต่ยังไม่ถึง 376 เสียง ขาดประมาณ 30-40 เสียงที่จะโหวตให้ผ่าน ฉะนั้น ทางเลือกต่อไปคือ ต้องดึงคะแนนจาก ส.ว. มาช่วยอุดตรงนี้แทน
สูตรที่ 3 มีแค่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่คุยกันไว้แต่แรก ไม่มีพรรคไหนร่วมรัฐบาลเพิ่ม
เงื่อนไขนี้ ทางพรรคร่วมรัฐบาลจะมี 308 เสียง ต้องดึง ส.ว. โหวต 68 เสียง ถึงจะผ่านเกณฑ์การเป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม นายพิธา เปิดเผยสูตรพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า จะใช้สูตรไหน มี ส.ส. ทั้งหมด 308+1 ที่นั่ง
อ่านข่าว พิธา เผย สูตรจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล 5+1 พรรค ตอบปมกังวล ส.ว. ตอนโหวตไหม
พรรคก้าวไกลพูดถึงแนวทางจัดตั้งรัฐบาล
ช่อง 3 รายงานว่า นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางจัดตั้งรัฐบาลว่า พรรคอยากเห็นข้อตกลง (MOU) ในการประกาศต่อสาธารณะที่จะร่วมผลักดันกันชัดเจน เราอยากเห็นมิติใหม่ ไม่ใช่แค่การไปคุยกันว่าได้กระทรวงใดอย่างเดียว เราอยากมีวาระร่วมกันในทางปฏิบัติต้องแบ่งแยกว่าใครทำอะไร
ส่วนนายพิธา จะคุยกับพรรคเพื่อไทย เราคงเห็นชัดว่า เสียงของประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เจตจำนงชัดเจนคือ การเปลี่ยนขั้ว เรา 2 พรรคแบกรับความคาดหวังของประชาชนมาก จึงต้องร่วมมือกัน ส่วนเรื่องลำดับการแก้ปัญหา ต้องวางลำดับกันว่า เรื่องไหนทำมากได้ช้า เรื่องไหนไม่ต้องรองบประมาณก็ทำได้เลย เรามีโรดแม็ปของก้าวไกลอยู่แล้ว

เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล คิดว่าจะตกลงกับพรรคเพื่อไทยได้ การรวมกันของ 2 พรรคนี้ เป็นสมการทางการเมืองที่ดีที่สุด ก่อนเลือกตั้งมีการคิดไว้หลายแบบ แต่ในความจริงทำไม่ได้ เรื่อง ส.ว. พรรคไม่เคยกังวล เราเชื่อว่าถ้าคะแนนออกมาแบบนี้ ส.ว. จะฝืนกระแสสังคมยาก ต้องมีการคุยกัน อยากเห็นการเมืองแบบใหม่เดินไปข้างหน้า