สรุปดราม่า ศาลชี้ขาด เพิกถอนใบอนุญาต คอนโด Ashton Asoke หรือต้องทุบตึกหมื่นล้าน


           สรุปดราม่า แอชตัน อโศก คอนโดโครงการเรือธง ที่วันนี้ศาลพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาต หวั่นนำไปสู่การทุบตึก ด้าน บ.อนันดา เจ้าของโครงการยืนยันไม่ยอม พร้อมจับมือลูกบ้าน ให้หน่วยงานรัฐชดใช้ ศาลตัดสินว่าผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรออกใบอนุญาตตั้งแต่แรก

แอชตัน อโศก
ภาพจาก Anada

           กำลังเป็นดราม่าคุกรุ่นที่สะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ในไทยอย่างหนัก เมื่อล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก โครงการคอนโดมิเนียมหรูเรือธงจาก บ.อนันดา อีเวลลอปเมนต์ อันเนื่องมาจากข้อพิพาท ใช้ทางออกที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้า-ออก รถไฟใต้ดิน MRT สุขุมวิท มาเป็นทางเข้า-ออก หลักของโครงการ ซึ่งวันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาสรุปเรื่องนี้ให้ฟังกัน

ย้อนปัญหา แอชตัว อโศก โครงการหมื่นล้านในที่ดินตาบอด ขอใช้ที่ดิน รฟม. ที่เวนคืน เพื่อเป็นทางเข้าออกคอนโด


           คอนโดแอชตัน อโศก มีปัญหาใหญ่คือ เรื่องทางเข้า-ออก จนกลายเป็นการฟ้องร้องกันขึ้น เมื่อดูแผนที่จะเห็นว่าทางเข้า-ออกของคอนโดนี้มี 2 ทาง คือ

           1. ซอยเล็ก ๆ ที่ทะลุด้านหลังไปยังซอยสุขุมวิท 19 มีความกว้างแค่ 2-3 เมตร ถ้าจะสร้างตึกบริเวณนี้ ตามกฎหมายทำได้เพียง 2-3 ชั้น

           2. ทางเข้า-ออกด้านหน้าที่มุ่งสู่ถนนอโศกมนตรี เส้นทางนี้เกี่ยวพันกับทางเข้า-ออกของรถไฟฟ้า MRT สุขุมวิท อาจไม่สามารถนับได้ว่าเป็นทางออกของตัวเองที่แท้จริง

           ด้วยเหตุนี้ คอนโดดังกล่าวจึงคล้ายกับที่ดินตาบอด ไม่มีทางออกเป็นของตัวเอง ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่า ถ้าจะสร้างตึกสูงแบบ Hi rise จะต้องมีหน้ากว้าง 12 เมตร ติดกับถนนกว้าง 18 เมตร เพื่อเวลาที่เกิดปัญหาด้านอัคคีภัย รถดับเพลิงหรือการเคลื่อนย้ายอะไรต่าง ๆ จะได้ทำได้ง่าย

           ดังนั้น ทางโครงการจึงแก้ปัญหาด้วยการทำสัญญากับ รฟม. บริเวณซอยสุขุมวิท 21 เพื่อขอใช้ทางเข้า-ออก ทำให้ที่ดินของคอนโดมีหน้ากว้าง 12 เมตร ตามกฎหมาย แต่ชาวบ้านไม่พอใจ เพราะที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ของรถไฟฟ้าที่เวนคืนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จะให้คอนโดมาเคลมด้วยได้อย่างไร อีกทั้งเรื่องนี้ยังติดข้อกฎหมายที่ไม่ผ่านมติ ครม. ด้วย ถือเป็นสัญญาโดยมิชอบ จนกลายเป็นที่มาที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั่นเอง

           นอกจากนี้ในช่วงที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ ก็มีปัญหาที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถออกเอกสารเปิดใช้อาคารหรือเอกสาร อ.6 ได้ เนื่องจากมีการฟ้องร้องกับศาลปกครอง แต่สุดท้ายทางโครงการก็ดันจนคอนโดนี้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ในที่สุด

           อ่านเพิ่มเติม สรุปดราม่า แอชตัน อโศก คอนโดหรูโดนถอนใบอนุญาต จากนี้ไปไงต่อ ต้องทุบตึกไหม ?

แอชตัน อโศก
ภาพจาก Anada

แอชตัน อโศก กับปัญหาฟ้องร้องกันในศาลปกครอง 2 คดี จนวันนี้ศาลปกครองสูงสุดยัน เพิกถอนใบอนุญาต

 
           วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ด้าน Propcons ได้สรุปเรื่องนี้ไว้ ถึงการฟ้องร้องของโครงการแอชตัน อโศก ดังนี้

           คดีที่ 1 : สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีการยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม., ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ที่มีการออกใบอนุญาตให้บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ดำเนินโครงการสร้างคอนโดมิเนียมหรูแอชตัน อโศก โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเมื่อปลายปี 2565 ได้มีผลสรุปของคดีนี้ ที่มีการแนะนำให้ทางโครงการไปหาทางเข้าออกใหม่โดยไม่ต้องรื้อตึก หรืออาจจะรื้อแค่บางส่วน แต่ต้องไปรอฟังคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด

           คดีที่ 2 : นายศรีสุวรรณ จรรยา จากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องต่อ ผู้อำนวยการเขตวัฒนาที่ 1, ผู้อำนวยการสำนักการโยธาที่ 2, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 3, ผู้ว่าการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 4, และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร จัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ 5  ฐานละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยร่วมกันออกคำสั่งอนุมัติ หรือ อนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชน ให้ บริษัท อนันดา เอ็ม เอฟ เอเชีย อโศก จำกัด, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ทู จำกัด ก่อสร้างคอนโด แอชตัน อโศก ซึ่งละเมิดสิทธิชุมชนและความเป็นอยู่ส่วนบุคคล ด้วยการปล่อยให้มีการปิดกั้น หรือ ใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

           ซึ่งในคดีนี้ เป็นคดีที่ใหญ่กว่า และชี้เป็นชี้ตายถึงการอยู่รอดของอาคารแอชตัน อโศก โดยที่ในตอนแรก ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอนและเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคาร และมีผลย้อนหลังถึงวันออกหนังสือทุกฉบับ และทาง บ.อนันดา ก็ได้ฟ้องต่อจนไปถึงศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนใบแจ้งหรือใบอนุญาตคอนโดแอชตัน อโศก ทุกใบ มีผลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 โดยศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยว่า ที่ดินของ รฟม. ที่เวนคืนมา ไม่อาจนำมาให้บริษัทหรือเอกชนทำโครงการได้

แอชตัน อโศก
ภาพจาก Anada

บริษัทอนันดา โต้คืน เรื่องนี้หน่วยงานรัฐต้องเป็นคนรับผิดชอบ ให้ใช้พื้นที่เป็นทางเข้า-ออก ตั้งแต่แรก


           ด้านเฟซบุ๊ก โอภาส ใหญ่ HI - Happy Investor เผยว่า บริษัทอนันดา ได้น้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่บอกว่าที่ดินของ รฟม. ที่เวนคืนมา ไม่สามารถนำมาให้เอกชนใช้ประโยชน์ โดยที่ไม่ได้พิจารณาข้ออื่น ๆ เช่น การใช้ประโยชน์และการได้ประโยชน์ของหน่วยงานใด และหากหน่วยงานรัฐจะเอาที่ดินที่เวนคืนมาให้เอกชนใช้ไม่ได้แล้ว หน่วยงานรัฐก็ไม่ควรออกใบอนุญาตก่อสร้างตั้งแต่แรก

           ทางอนันดายืนยันว่า โครงการนี้ได้ผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้องมา 8 หน่วยงาน ขออนุญาตจนได้รับใบอนุญาต 9 ใบ จ่ายผลตอบแทนให้ รฟม. 100 ล้านบาท แล รฟม. ก็ได้รับประโยชน์ในการใช้งานพื้นที่ด้านหน้ารวมถึงการจอดรถ

           แต่เมื่อผลออกมาว่าผิด จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ

           1. ครอบครัวกว่า 580 ครอบครัว

           2. เจ้าของร่วมที่ถือหนังสือ อช.2 หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดถูกกฎหมาย เป็นโฉนดตราครุฑ 668 ยูนิต

           3. เจ้าของร่วมคือคนไทย 438 ราย ต่างชาติ 142 ราย จาก 20 ชาติ

           4. มูลค่าของโครงการที่โอนไปแล้ว 5,653 ล้านบาทจาก 6,481 ล้านบาท

           5. มีคนที่อาศัยอยู่ในตึกนี้กว่า 488 ครอบครัวมานานกว่า 4 ปี

           6. มีตึกอีก 13 โครงการที่มีลักษณะคล้ายกัน

ทางออกของอนันดา จับมือลูกบ้านหาทางแก้ไข - คนเสนอกว้านซื้อตึกแถวทั้งแถบ ราคาเท่าไรก็ต้องให้ จะได้ไม่ทุบตึก


           ในขณะเดียวกัน ทางอนันดายืนยันว่าจะไม่ให้มีการทุบตึกง่าย ๆ โดยมีขั้นตอนที่จะทำดังนี้

           1. ขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐเพื่อหาแนวทางแก้ไขใน 14 วัน

           2. หารือกับเจ้าของร่วม

           3. เรียกร้องความเสียหายจากภาครัฐ เนื่องจากเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย

แอชตัน อโศก

           ในขณะที่ทางเฟซบุ๊ก Diow Saardyen ทางรอดเดียวของตึกนี้ คือการที่ทางอนันดาอาจจะยอมเข้าไปซื้อตึกแถวด้านซอย 19 ซึ่งไม่ติดรถไฟใต้ดิน เป็นทางเข้าออกใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีถนนซอยเล็ก ๆ กว้างประมาณ 4 เมตร อยู่แล้ว 2 ซอย ก็จะต้องกว้านซึ้อตึกแถวที่ติดกับถนนซอยนี้ลึกไปจนถึงโครงการ เพื่อเอามาทุบทำเป็นทางเข้าออกให้ได้กว้าง 12 เมตร ตามกฏหมาย แต่ข้อเสียคือเจ้าของตึกทุกหลังจะต้องขายตึกให้อนันดา และจะเป็นฟันหลอไม่ได้

           ในขณะเดียวกัน ได้มีคนมาแจงว่า ในกรณีนี้ 12 เมตรอาจจะไม่พอ เพราะถ้าเป็นถนนภาระจำยยอม ถนน 12 เมตรอาจจะไหว แต่ในกรณีนี้คือถนนสาธารณะ อาคารแอชตัน อโศก มีพื้นที่ใหญ่กว่า 30,000 ตร.ม. ต้องมีถนนเขตทางกว้างสาธารณะ 18 เมตรครับ ยาวต่อเนื่องออกไปชนสุขุมวิทที่เขตทางกว้าง 30 เมตร

แอชตัน อโศก

แอชตัน อโศก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปดราม่า ศาลชี้ขาด เพิกถอนใบอนุญาต คอนโด Ashton Asoke หรือต้องทุบตึกหมื่นล้าน โพสต์เมื่อ 28 กรกฎาคม 2566 เวลา 11:29:33 51,021 อ่าน
TOP
x close