น้ำท่วม ช้างตาย จนล่าสุดกลายเป็นดราม่า เปิดความเห็น 2 ฝั่ง ของการเลี้ยงช้างปาง ENP ที่แม่แตง เชียงใหม่ ที่ไม่ล่ามโซ่ ไม่ใช้ตะขอ แต่ถึงวันจริงกลับย้ายช้างไม่ทัน ช้างบางส่วนต้องแช่น้ำ ช้าง 2 เชือกตาย แล้วเรื่องนี้ ผิดที่การเลี้ยง หรือการอพยพย้ายช้าง
ภาพจาก ควาญแดง พลายภูพิงค์
จากกรณีที่เกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ น้ำจากลำน้ำแม่แตงไหลทะลัก จนเป็นเหตุให้น้ำเข้าท่วม ENP - Elephant nature park และทำให้ช้าง 2 เชือกต้องตายนั้น
อ่านเพิ่มเติม สรุปน้ำท่วมเชียงใหม่ น้ำพัดจนช้างตาย ทำไมย้ายช้างไม่ทัน เกิดอะไรขึ้น - ตั้งคำถามวิธีเลี้ยง
ภาพจาก ควาญแดง พลายภูพิงค์
หน้างานจริง คนเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยช้างดุ พาออกมาไม่ได้ ต้องปล่อยช้างอยู่ในน้ำ ทำแพกล้วยให้กิน
ด้าน ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang ได้ระบุว่า ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม มีฝนตกต่อเนื่อง มีน้ำจำนวนมหาศาลไหลจากต้นน้ำแม่แตง เข้าสู่ลำน้ำแม่แตง และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากรายงานของสถาบันคชบาลแห่งชาติ พบว่ามีปางช้าง 49 ปาง มีช้าง 546 เชือก
เหตุการณ์นี้เริ่มตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่มีมวลน้ำล้นตลิ่งไหลบ่าลงลำน้ำแม่แตงอย่างรวดเร็ว จนถึงเช้ามืดวันศุกร์ ช้างส่วนใหญ่เกิน 100 เชือกจากปางอื่น ถูกอพยพผูกล่ามไว้ในที่สูง แต่ช้างของมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อม หรือ ENP ยังสาละวนกับการขนย้ายช้างและสัตว์อื่นเช่น หมา แมว แพะ โค กระบือ และการย้ายช้างนับร้อยเป็นเรื่องยากและเสี่ยงต่อการสูญเสีย ทั้งชีวิตคนและช้าง โดยเฉพาะช้างที่ไม่ได้โดนฝึกหรือสื่อสารกับคนเลี้ยงมาก่อน
ภาพจาก ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang
ด้านคณะทำงานได้แบ่งทีมงานออกเป็น 2 ทีม ทีมแรกคือช้างที่ไม่ดุร้าย สามารถสื่อสารกับควาญได้ ก็จะให้ควาญนำและกำหนดทิศทาง พาช้างออกไปที่ปลอดภัย ซึ่งช้างของปางนี้ถูกเลี้ยงอย่างอิสระ และช้างมักเดินเฉพาะเส้นทางที่คุ้นเคย เกรงว่าช้างจะกลับไปในจุดที่เป็นอันตราย และอีกทีมคือดูช้างที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนมาก่อน หรือมีเพียงเล็กน้อย ซึ่งในทางทฤษฎีจะมีการวางยาซึม และนำทางด้วยการพรางแสงเพื่อนำช้างไปจุดที่ต้องการ แต่กรณีนี้ทำไม่ได้ เพราะยาซึมจะทำให้งวงช้างตกลงพื้น เจ้าหน้าที่คณะทำงาน จึงต้องช่วยกันควบคุมและกำหนดเส้นทางด้วยเชือก ให้ช้างเดินไปยังจุดปลอดภัย ซึ่งทุลักทุเลพอสมควร เพราะช้างและควาญสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง และวันนั้น เราสามารถช่วยช้างตัวเมียได้บางส่วน
ภาพจาก ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang
สุดท้ายพบว่า น้ำลดลง ช้างเพศเมียถูกย้ายขึ้นที่สูง ช้างตัวผู้ยังอยู่ในคอก ทุกตัวแม้ยังอยู่แต่แสดงอาการอ่อนเพลียบ้าง ต้องทำการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เพราะมีโรคต่าง ๆ ที่มากับน้ำ
สรุปรวมยอดช้างก่อนเกิดเหตุมี 118 เชือก ภายหลังน้ำลดพบช้างเพศเมีย 106 เชือก ช้างเพศผู้ 10 เชือก สูญหายและเสียชีวิต 2 เชือก
ภาพจาก ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang
หมอช้าง - รมต. เตือนถึงการเลี้ยงช้าง พอไม่ผูกพันกับคน การช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องยาก
ทั้งนี้ หมอมามี สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง ได้พูดถึงกรณีนี้ว่า ที่ อ.แม่แตงมีช้างกว่า 20 ปางบนพื้นที่เดียวกัน แต่ละปางมีช้าง 2-3 ช้างไปจน 100 เชือก ทุกปางได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า และสามารถอพยพช้างขึ้นที่สูงได้ทัน เพราะทุกปางมีควาญช้างและเจ้าของที่มีสัมพันธ์ที่ดีกับช้าง ช้างเข้าใจการจับบังคับ ควาญสามารถขี่ช้าง-จูงช้างไปได้อย่างปลอดภัย สื่อสารพาไปไหนได้อย่างอิสระ ร่วมกับล่ามโซ่ไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถปรับความยาวของโซ่ได้โดยไม่ต้องพึ่งกรงหรือคอก และเมื่อเกิดวิกฤติ ควาญช้าง เจ้าของช้างและบุคลากรทุกคน ก็สามารถเข้าช่วยเหลือช้างได้อย่างปลอดภัย
แต่มีอยู่ปางเดียวที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน และได้รับความสนใจจากสื่อหลัก เพราะเลี้ยงช้างแบบไม่ล่ามโซ่ เมื่อช้างเติบโตมากับแนวคิดว่าที่ว่า ห้ามจับ ห้ามแตะ ห้ามสัมผัส ห้ามออกคำสั่ง พอเห็นเชือก ขอ โซ่ ก็ตั้งป้อมใส่คนเพราะคิดว่าจะมาทำร้าย และเตรียมสู้กลับ ควาญช้างที่ได้รับมอบหมายให้จัดหญ้าและทำความสะอาดคอกช้าง ไม่สามารถขี่หรือฝึกช้างให้ชินกับน้ำเสียงและคำสั่งพื้นฐานได้ ไม่สามารถควบคุมช้างให้เดินตามหรือพาไปที่ปลอดภัยได้
ภาพจาก ควาญแดง พลายภูพิงค์
ในขณะที่ กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า ทุกคนที่ช่วยก็ทำเต็มที่ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของปางเอกชน เพราะสงสารสัตว์ หมอคชบาล มช. ก็ไปเต็มทีม ทหาร กู้ภัย ก็มาจากทั่วทุกสารทิศ ควาญเก่ง ๆ ของปางอื่นก็ไปช่วยเต็มที่ หากไม่มีคนนอกเสี่ยงเข้าไปช่วย ช้างจะล้มมากกว่านี้ แต่เมื่อฟังการสัมภาษณ์จากหลายสื่อ ยอมรับว่า อึ้ง ที่ทุกฝ่ายพยายามพูดให้เข้าใจ คือระบบการเลี้ยงที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่เรื่องโซ่ ระบบที่ต้องมีควาญเข้าถึงได้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน "แม้เรื่องมากมายที่ดิฉันอยากพูด แต่ก็คงจบแล้ว ขอให้สัตว์ที่ต้องเสียชีวิตครั้งนี้สู่ภพภูมิที่ดีนะคะ และดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าไปช่วยเหลือสัตว์ค่ะ เหนื่อยกันมาก เขาไม่ขอบคุณ แต่ดิฉันขอบคุณ"
ภาพจาก ควาญแดง พลายภูพิงค์
อีกฝั่งชี้ ปัญหาไม่ใช่การเลี้ยง วิธีจัดการช้างในไทยแบบเดิม คุมช้างไปจนตาย อย่าลืมว่าช้างเหล่านี้พิการ
ด้านนารากร ติยายน ได้ออกมาเผยว่า การแสการโจมตีเรื่องการเลี้ยงช้างของปาง ENP ขยายวงกว้างและหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องการปลดตะขอช้าง ในอดีตอาจมีการกระทบกระทั่งกันมาบ้าง จนมาปะทุวันนี้ ตนเป็นคนนอก ไม่สามารถอธิบายได้ แต่ต้องกราบขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเต็มที่ แต่ที่ตนจะยืนยันได้คือ ข้อมูลเรื่องธุรกิจหรือเงินบริจาค ล้วนแต่ไม่เป็นความริง ตนได้ใกล้ชิดและเห็นการทำงานของคุณแสงเดือน ชัยเลิศ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ก็มั่นใจว่าเธอไม่ได้ช่วยสัตว์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่สละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อสัตว์
ภาพจาก นารากร ติยายน
คุณเล็กเป็นคนที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้จัก แต่เป็นบุคคลระดับโลกในเรื่องการคุ้มครองสัตว์ ความพยายามที่จะปกป้องชีวิตสัตว์ป่าของคุณเล็ก ไปไกลเกินกว่าการเลี้ยงสัตว์ในกระแสหลักหลายปีแสง ความคิดของเธอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดการช้างป่าในศรีลังกา และอีกหลายประเทศ จนประสบความสำเร็จ จากการจัดการปัญหาระหว่างช้างป่ากับมนุษย์ ซึ่งประสบความสำเร็จในต่างประเทศอย่างน่าอัศจรรย์ จนทำให้การท่องเที่ยวที่เป็น GDP หลักของศรีลังกาเชื่อมโยงกับช้างป่า ที่แต่วิธีการจัดการช้างในไทยยังเป็นวิธีแบบโบราณที่ควบคุมช้าง ใช้งานช้างจนตายคางานมานักต่อนัก
กรณีเหตุน้ำท่วมที่แม่แตง และมีเสียงตำหนิถึงวิธีการดูแลจัดการปางช้างของคุณเล็ก พวกคุณเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า เธอดูแลช้างนับร้อยตัว ช้างแก่ บาดเจ็บ และพิการ และยังมีหมู ควาย หมา แมว อีกเกือบหมื่นชีวิต เขาอพยพกันก่อนหน้าเมื่อมีสัญญาณ แต่ด้วยความสัตว์มีมหาศาล จึงจัดการได้ไม่หมดและเกิดการสูญเสีย นี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตำหนิกัน แต่ต้องให้กำลังใจกันและกัน