x close

ทำความรู้จัก โครงการต้นกล้าอาชีพ

งานพิเศษ

งานพิเศษ

งานพิเศษ

งานพิเศษ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์มติชน และ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


           ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนตกงานกันเป็นจำนวนมาก "โครงการต้นกล้าอาชีพ" จึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ว่างงาน วันนี้เราไปทำความรู้จักกับโครงการ "ต้นกล้าอาชีพ" กันค่ะ

 ที่มาของโครงการ

           โครงการต้นกล้าอาชีพเป็นโครงการที่เน้นพัฒนาทักษะ และเพิ่มศักยภาพของแรงงาน จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ว่างงาน รวมทั้งบัณฑิตที่จบการศึกษาใหม่ได้มีโอกาสมีงานทำมากขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานในประเทศ หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

           ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำงาน  โดยเฉพาะหากนำกลับไปใช้ในท้องถิ่นของตัวเอง จะเท่ากับเป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนนั้นๆ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและชุมชนด้วย

           ทั้งนี้การอบรมในโครงการต้นกล้าอาชีพจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน


 กลุ่มเป้าหมายของโครงการ

กลุ่มเป้าหมายของโครงการต้นกล้าอาชีพ ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มคือ

            1. ผู้ว่างงานจำนวน 500,000 คน โดยจะแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกภายในปี 2552 จำนวน 240,000 คน และระยะที่ 2 จำนวน 260,000 คน โดยจะเริ่มในปี 2553
            2. ผู้ที่สำเร็จการศึกษา และยังไม่มีงานทำ เช่น บัณฑิตจบใหม่
            3. ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากภาคแรงงานอุตสาหกรรม และต้องการเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาฝีมือ สำหรับประกอบกิจการส่วนตัวในท้องถิ่น หรือภูมิลำเนา
            4. แรงงานที่อยู่ในข่ายจะถูกเลิกจ้าง


 คุณสมบัติของผู้สมัคร 
           
            1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
            2. มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี นับตั้งแต่วันสมัครฝึกอบรม
            3. เป็นผู้ว่างงานตามรายละเอียดของโครงการ คือ
               - ผู้ว่างงานที่สนใจฝึกอบรมอาชีพ รวมทั้งประชาชนที่สนใจเข้ารับการอบรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำความรู้กลับไปใช้ในการชุมชนบ้านเกิด
               - ผู้ถูกเลิกจ้างแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมที่ประสงค์จะเพิ่มทักษะมากขึ้นและหลากหลาย เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนเอง
               - ผู้สำเร็จการศึกษา ให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ

ต้นกล้าอาชีพ



 หลักสูตรการฝึกอบรมโครงการ

          สำหรับโครงการต้นกล้าอาชีพ ได้จัดให้มีการอบรม 7 กลุ่มอาชีพ จำนวน 935 หลักสูตร โดยหลักสูตรทั้งหมดมีดังนี้

 1. การเกษตรและการแปรรูปจำนวน 118 หลักสูตร ได้แก่

           กลุ่มการผลิต เช่น การผลิตไม้ดอกเพื่อการค้า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตไก่อินทรีย์ 

          กลุ่มแปรรูป เช่น การแปรรูปปลานิลแดดเดียว การแปรรูปทำไส้กรอกจากปลาดุก

          กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การเกษตรแบบยั่งยืน การเกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

          การฝึกอบรมเกษตรทางเลือก ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง


 2. ภาคการผลิต จำนวน 319 หลักสูตร ได้แก่

           กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้าและแก๊ส ช่างเชื่อมเหล็กดัด ประตู หน้าต่าง ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า

          กลุ่มเสื้อผ้า สิ่งทอ เช่น การทำซิลค์สกรีน การทำผ้ามัดย้อมและมัดเพนท์ การทำผ้าด้วยกี่กระตุก การทำผ้าบาติค

          กลุ่มเครื่องยนต์ เช่น การซ่อมรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์ ช่างเครื่องยนต์ชุมชนช่างเคาะตัวถังรถยนต์

          กลุ่มศิลปะประดิษฐ์และอัญมณี เช่น การแกะสลักวัสดุอ่อนเบื้องต้น การขึ้นรูปกระถางต้นไม้ด้วยแป้นหมุน การทำของชำร่วยด้วยเซรามิค การออกแบบเครื่องโลหะและรูปภัณฑ์อัญมณี


 3. การบริการและการท่องเที่ยว จำนวน 298 หลักสูตรได้แก่

          กลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ การอบรมมัคคุเทศก์ พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานผสมเครื่องดื่ม การทำอาหารว่างนานาชาติ การฝึกอบรมภาษา และธุรกิจโฮมสเตย์

          กลุ่มสุขภาพ ได้แก่ การนวดแผนไทย นวดลูกประคบ สปาการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ

          กลุ่มการซ่อมแซม และบำรุงรักษา การซ่อมเครื่องปรับอากาศรถยนต์ การซ่อมเครื่องยนต์ดีเซล การซ่อมเครื่องยนต์เบนซิน การซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตรการซ่อมจักรอุตสาหกรรม


 4. การค้าและเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 12 หลักสูตร ได้แก่

          กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชน การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์

          การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต (e-Commerce) การสร้างร้านค้าทางอินเทอร์เน็ต

          กลุ่มผู้ประกอบการ เช่น การประกอบการธุรกิจชุมชน ร้านค้าปลีกกลุ่มแม่บ้านและวิสาหกิจชุมชน


 5. คอมพิวเตอร์และธุรการ จำนวน 117 หลักสูตร ได้แก่

        Software 

           กลุ่มออกแบบ เช่น โปรแกรม AUTO CAD เพื่องานออกแบบก่อสร้าง ออกแบบชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เขียนแบบเครื่องกลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Solid Work

           กลุ่มงานในสำนักงาน เช่น Office and Multimedia การจัดทำระบบข้อมูลทางการเงินและบัญชีด้วยโปรแกรม Excel และโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการทำงานทางธุรกิจ

           การใช้คอมพิวเตอร์ในสำนักงานด้วยโปรแกรม Microsoft Office

           การพัฒนาโปรแกรมด้วย MS Access โดยใช้ระบบงานบุคคล

           การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับการประกอบธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต

       Hardware

           ช่างคอมพิวเตอร์ เช่น ซ่อม ประกอบ ติดตั้งระบบบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์และเครือข่าย

 6. คมนาคมและการขนส่ง จำนวน 1 หลักสูตร

          วิชาชีพด้าน Logistics หรือการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางเรือ

 7. การก่อสร้าง จำนวน 23 หลักสูตร

          กลุ่มช่างต่างๆ เช่น การปูกระเบื้อง ช่างไม้ก่อสร้าง ช่างสีอาคาร

          กลุ่มการผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น การทำบล็อคคอนกรีต การผลิตซีเมนต์

          หมายเหตุ : หลักสูตรที่จัดให้มีการฝึกอบรมในแต่ละจังหวัด อาจมีหลักสูตรไม่เท่ากัน เนื่องจากต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และการรองรับตำแหน่งงานที่ตลาดแรงงานต้องการ สามารถตรวจสอบหลักสูตรฝึกอบรมแยกตามจังหวัดของจุดฝึกอบรมได้ที่ http://media.tonkla-archeep.com/download/Course-Province.htm


 เกณฑ์ในการเลือกหลักสูตร

           1. หลักสูตรที่เลือกฝึกอบรม ต้องมีลู่ทางให้ผู้ที่สนใจไปประกอบอาชีพนั้นในอนาคต ภายหลังจากจบการฝึกอบรมแล้ว
           2. หลักสูตรที่เลือกจะต้องมีจุดอบรมอยู่ในจังหวัดตามที่อยู่ปัจจุบัน หรือตามภูมิลำเนาของผู้สมัคร
           3. ผู้สมัครสามารถเลือกหลักสูตรฝึกอบรมได้ไม่เกิน 5 หลักสูตรที่ตรงตามเกณฑ์ข้อ 1 และ 2 ผู้สมัครสามารถเลือกหลักสูตรเดียวกันทั้ง 5 หลักสูตรได้ แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่มีการจัดอบรมคนละรุ่น
           4. หากได้รับคัดเลือกเข้าฝึกอบรม ผู้สมัครจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าฝึกอบรมเพียงหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งเท่านั้น โดยจะใช้วิธีการสุ่มเลือกทางคอมพิวเตอร์


 คำแนะนำในการเลือกหลักสูตรฝึกอบรม

          ผู้สมัครควรเลือกหลักสูตรที่ตรงกับพื้นฐานอาชีพ หรือตรงกับพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่ หากต้องการเลือกอบรมหลักสูตรเฉพาะทางเช่น หลักสูตรช่างประดับยนต์ ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ผู้สมัครต้องมีความรู้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วย


 ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ

          ผู้เข้าฝึกอบรมจะได้รับการพัฒนาทักษะ และความรู้ความสามารถ ตลอดจนเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อให้นำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้

          นอกจากนี้ผู้ที่เข้ารับการอบรมจากโครางการต้นกล้าอาชีพ รัฐบาลจะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าพาหนะระหว่างการฝึกอบรมดังนี้

           ค่าเบี้ยเลี้ยงจำนวน 4,800 บาทต่อคนต่อเดือน (กรณีอบรมไม่ถึงเดือน จ่ายให้วันละ 160 บาท)
           ค่าเดินทางของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เหมาจ่ายคนละ 1,000 บาท (ไม่คิดเป็นรายวัน)
           ค่าพาหนะเดินทางระหว่างอบรม จำนวน 720 บาทต่อคนต่อเดือน (กรณีอบรมไม่ถึงเดือน จ่ายให้วันละ 30 บาท)
           และหากผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วประสงค์จะกลับไปประกอบอาชีพที่ภูมิลำเนา จะได้รับเงินอุดหนุน 4,800 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน รวมทั้งค่าพาหนะเดินทางกลับภูมิลำเนาเหมาจ่าย 1,500 บาท ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างงาน และเพิ่มศักยภาพกระจายไปตามชุมชนนั่นเอง


 หลักเกณฑ์คัดเลือกผู้สมัครฝึกอบรม

          เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าอบรม จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มคัดเลือกผู้เข้าฝึกอบรม ในแต่ละหลักสูตรของแต่ละรอบนั้น และผู้ที่ไม่ได้รับเลือกให้เข้าฝึกอบรมในการสมัครครั้งแรก สามารถสมัครเลือกหลักสูตรครั้งต่อๆ  ไปได้ โดยโครงการจะจัดให้ลงทะเบียนเข้ารับการฝึกอบรมทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง

          ทั้งนี้ผู้สมัครเข้าฝึกอบรมหนึ่งคนจะสามารถเข้าฝึกอบรมได้เพียง 1 หลักสูตรเท่านั้น และสามารถเข้าฝึกอบรมได้เพียง 1 รอบ


 วิธีการสมัคร

          ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมสามารถสมัครลงทะเบียนได้ 2 ทาง คือ

 สมัครด้วยตัวเอง

         กรุงเทพมหานคร นำหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน ไปลงทะเบียนที่ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ 3 ในวันที่ 22 มีนาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 09.00-21.30 น. (เปิดลงทะเบียน 10.00 น.)

          ต่างจังหวัด สมัครได้ที่สถานที่ฝึกอบรมแต่ละจังหวัด (ดูรายละเอียดที่ http://www.tonkla-archeep.com/registerPoint.php ) และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.mol.go.th/mol_department3_2.html ) ตั้งแต่วันที่ 18 – 24 มีนาคม 2552


 สมัครผ่านทางเว็บไซต์

          ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ http://www.tonkla-archeep.com/  ตั้งแต่วันที่ 18 – 24 มีนาคม 2552 โดยจะปิดให้บริการในช่วงเวลา 01.00 - 05.00 น.ของทุกวันเพื่อทำการปรับปรุงข้อมูลและบำรุงรักษาระบบ


 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

           ศูนย์ปฏิบัติการโครงการ  "ต้นกล้าอาชีพ"  Call Center 1111
           http://www.tonkla-archeep.com/  
           ศูนย์ปฏิบัติการตามโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน (โครงการต้นกล้าอาชีพ) อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชั้น 2 ห้อง 201
           สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
           สำนักงานจัดหางานทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด
           กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
           ทางอีเมล์ tonkla-archeep@hotmail.com

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
- tonkla-archeep.com
- gcc.go.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จัก โครงการต้นกล้าอาชีพ อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2552 เวลา 12:03:46 219,939 อ่าน
TOP