x close

เยี่ยมไร่ดอกเหงื่อ ของ น้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

เยี่ยมไร่ดอกเหงื่อ ของ น้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (ข่าวสด)

        แฟนๆ ของ "น้าหมู" พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ คงจะรู้จัก "ไร่ดอกเหงื่อ" ที่มาของชื่อไร่ในพื้นที่ 42 ไร่แห่งนี้ มาจากผลงานเพลง "ภูบ่สูง" ที่มีเนื้อร้องว่า "..ดอกเหงื่อหอมหวนนวลใย สุขใจไร่ข้าวหอมกรุ่น..."

        ไร่ นี้เกิดขึ้นช่วงปี 2537 หลังจากทำคอนเสิร์ตกระทิง บวกกับประสบการณ์ที่เคยไปอเมริกา เคยเห็นบ้านพักของจอห์น เดนเวอร์ มีสตูดิโอส่วนตัวในหุบเขา รู้สึกมีความสุขในการทำงาน น่าจะเป็นทิศทางที่ดี

        เคยไปเยี่ยม "รงค์ วงษ์สวรรค์" ที่ บ้านพักโป่งแยง จ.เชียงใหม่, เปี๊ยก โปสเตอร์ ก็มาอยู่ก่อนในเขาแถวๆ เดียวกัน เลยมาลองคิดว่าชีวิตน่าจะมีทิศทางเดียวกับพี่เขาๆ ใช้ชีวิตอยู่ในหุบเขาน่าจะดี เลยคิดจะทำสตูดิโอส่วนตัวที่ไร่นี้ มีห้องพัก ห้องบันทึกเสียง ห้องตัดต่อ มุมสำหรับกินข้าว มุมสนทนาพาที ฯลฯ จัดสรรให้เป็นเรื่องเป็นราว

        ปี 2538 เศรษฐกิจ ยังดีอยู่ สั่งอุปกรณ์เครื่องเสียงระบบดิจิตอลรุ่นใหม่ ระบบต่างๆ รวมมูลค่า 5 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา เขาให้รอของสัก 4-5 เดือน พอดีกับจังหวะที่ฟองสบู่แตก ราคาสินค้าโดดสูงเพราะค่าเงินเปลี่ยน เลยต้องยกเลิก

        แต่ ที่ผืนนี้ซื้อไว้แล้ว ตัดสินใจขายบ้าน-อาคารพาณิชย์ ขายที่ดินในตัวเมืองโคราช ขายรถ ที่แต่ก่อนซื้อเก็บไว้เยอะ เพื่อจะเก็บไร่นี้เอาไว้ ค่อยๆ ปลูกต้นไม้ ดูการเจริญเติบโตไปเรื่อย นั่งเขียนเพลงในบรรยากาศสบายๆ

ไร่ดอกเหงื่อ

        ปี 2540 ทั้ง ครอบครัว ลูกวง ลูกหลานในบ้าน แย่กันไปหมด เราคนเดียวที่มีสมบัติก็ขายทรัพย์สินไปทีละอย่าง ขายรถทีละคัน เพื่อที่จะเอาชีวิตของคนที่อยู่ในความดูแลของเราก่อน

        " ปีนี้อายุ 56 เราควรตระเตรียมไว้บ้าง ถ้าจากนี้ไปจนถึง พ.ศ.2560 อีก 8 ปีข้างหน้าเราก็อายุ 60 กว่า เราอาจจะเดินทางไปเล่นดนตรีในผับในบาร์ไม่ไหวแล้ว หรือไม่มีคนจ้างเราแล้วก็ได้ หรือเราอาจจะเลือกไปเล่นในบางที่ที่เหมาะสม และถ้าเราเดินทางไม่ไหวจริงๆ ก็คงจะบอกพรรคพวกรวมๆ กันมา ให้ซื้ออาหารการกินมาร่วมวงร้องเพลงกัน ก็ยังเป็นชีวิตที่เรายังพอเลือกได้"

        " ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ 12 ปีได้ ชอบอยู่เงียบๆ บ้านของครอบครัวอยู่ในเมือง ส่วนผมจะเข้ามาอยู่ในไร่ การอยู่คนเดียว น่าจะเป็นชีวิตที่อิสระที่สุดเท่าที่ชีวิตนี้จะหาได้ คือเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราน่าจะเลือกที่อยู่ได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ตัดอะไรเหมือนพระเหมือนเจ้า ยังคงคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงพี่น้องเป็นเวล่ำเวลา ผมมีเพื่อนไม่กี่คนหรอก เป็นเพื่อนกลุ่มนักดนตรี กับเพื่อนเก่าสมัยเรียนไม่กี่คน"

        เส้นทางศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดัง แรกทีเดียวเรียนช่างยนต์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นช่างทางด้านศิลปะ

        " แรกสุดเรียนช่างยนต์ แต่พอจบแล้วสอบเข้าเรียนต่อไม่ได้ พอดีเขาเปิดแผนกใหม่ ศิลปะ (จิตรกรรม-ประติมากรรม) ผมเลยลองไปสอบดู เผื่อจะฟลุกสอบติดกับเขาบ้าง ก็สอบติด หรือว่าเขาสร้างให้เรามาทางนี้"

        " พอมาเจออ.ทวี (นันทขว้าง) ที่เป็นลูกศิษย์เอกของ อ.ศิลป์ พีระศรี อ.ทวีได้สั่งสอนวิชาความรู้ ให้ความคิดมากมายจนเรามาเรียนทางนี้ได้ ให้จริงๆ ในตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไรหรอก เราก็เดินไปตามกระบวนการสังคมที่มีอยู่ เขียนรูป ร้องเพลง แต่เมื่อถึงจังหวะหนึ่ง ที่เขาขีดให้เราไปในทิศทางของขบวนการนักศึกษาทั่วประเทศ ครั้ง 14 ตุลาฯ 2516 และได้มาร่วมเดินสายทั่วประเทศกับวงคาราวาน อย่างจริงจัง ร้องเพลงเพื่อชีวิตตามมหาวิทยาลัย จน 6 ตุลาฯ 2519 ก็เข้าป่าด้วยกันกับวงคาราวาน"
 
        อยู่ป่าได้พบ นายผี-อัสนี พลจันทร์ มหากวีนักปฏิวัติ เจ้าของเนื้อหาเพลง "เดือนเพ็ญ"

        " ผมอยู่ในป่า พยายามเขียนบทกวี ได้มาเจอกับลุงผี (อัสนี พลจันทร์) ฝากเนื้อฝากตัวคารวะท่าน ท่านให้ความรู้ แนะนำการเขียนบทกวี เขียนบทกลอน นิทานพื้นบ้าน ท่านได้ช่วยดูช่วยเกลา บอกว่าภาษาเราดูเป็นชาวไร่ ฟังง่าย ขอเรียกว่าเป็น "กวีศรีชาวไร่" แล้วกัน ลงตีพิมพ์ในหนังสือของฐานที่มั่น"

        "วันที่ท่านจะเดินทาง ป่าระเบิด ป่าแตก ท่านได้เขียนเพลง "คิดถึงบ้าน" "เดือนเพ็ญ" ผม เคยได้ฟังท่านร้องในแนวดนตรีฟังดูหวานนุ่ม ผมเป็นคนแรกที่ได้บทเพลงนั้นมาจากมือท่าน แต่ไม่ได้ร้องเป็นคนแรก ให้คาราวาน ให้คาราบาว ให้สีเผือกร้อง ส่วนผมมาร้องทีหลังสุด"

        ออก มาจากป่า กลับถึงโคราชบ้านเกิด เดินทางเข้ากรุงเทพฯ กับเงิน 2 พันบาท ช่วยงานวงคาราบาว กระทั่งปี 2525 วิสา คัญทัพ จะทำเพลงให้วงโฮป ถามว่ามีเพลงไหม

        " ผมเลยขายเพลงให้เขาไป 4 เพลง มีเพลงนกเขาไฟ, มือเรียวเกี่ยวรวง รวมอยู่ด้วย ได้เงินมา 4 พันบาทก็ดีใจ เออ...เราก็ทำมาหากินได้นี่หว่า มีเพื่อนช่วยซื้อเพลงดีกว่าเก็บไว้ พอเพลงชุดนี้ออกมาก็ได้รับความนิยม"

        กลายเป็นจุดที่ทำให้คิดทำงานเพลงของตัวเอง จากนั้นปี 2526 ผลงานชุด "ห้วยแถลง" ออกวางแผง เป็นการนับหนึ่งของการเข้ามาทำเพลงในฐานะศิลปินอาชีพ แต่กระแสเพลงสตริงในยุควัยหวานแรงกว่า "ห้วยแถลง" ก็เลยเงียบๆ ไป

        ผล งานชุดสอง ที่มีเพลง คนกะหมา, มือเรียวเกี่ยวรวง, ลิงทะโมน, ตายหยังเขียด ฯลฯ ได้เพื่อนๆ ช่วยผลักดัน ได้รับการต้อนรับจากตลาดเป็นอย่างดี

        หลัง จากชุดต่อๆ มาอย่าง เส้นขอบฟ้า, ยิ้มเหงาๆ น้าหมูได้กลับมานั่งคุยกับอาจารย์ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ได้รับคำแนะนำให้กลับไปดูงานเพลงชุด คนกะหมา ที่การตอบรับดี และเป็นตัวเอง เป็นผลให้เกิดแนวคิดที่จะทำเพลงในสไตล์ของตัวเอง

        และนั่นคือผลงานชุด "คนจนรุ่นใหม่" ที่ออกในปี 2533 เป็นปีที่ 8 ของการทำงานเพลง มีเพลงดังๆ อย่าง ตังเก, เขาใหญ่ ฯลฯ เทปขายดิบขายดียอดสูงถึงล้านม้วน

        เพลงของ "พงษ์เทพ"มาจากการผสมลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน เพลงโคราช หมอลำ เพลงแหล่ บทร้องทำขวัญนาค กลายเป็นไลน์เพลงเพื่อชีวิตบ้านนอกในสไตล์พงษ์เทพที่มีลูกเล่นเฉพาะตัว ร้องเลียนแบบได้ยาก

        "น้าหมู"พยักหน้ารับ "มันเฉพาะมากเกินไป ข้อเสียอยู่ที่ว่า นักร้องรุ่นหลังร้องไม่ค่อยได้ เจอเขาโอดมาหลายครั้งแล้วในผับ โอ้ เพลงน้าผมโคตรชอบเลย แต่ร้องไม่ได้สักที (หัวเราะ) ผมฟังแล้วก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้ว่าจะภูมิใจ หรือเสียใจดี จริงๆ แล้วเราอยากให้น้องๆ เขาร้องกันได้ เพื่อที่คนอื่นเขาจะได้ฟังได้ด้วย แต่ทีนี้มีเพียงไม่กี่คนที่ร้องได้ใกล้เคียง เขายอมรับว่าร้องยากจริงๆ"

        ผล งาน 200 เพลง จาก 17 ชุด น้าหมูสรุปว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงช้า เพลงโจ๊ะจะน้อยกว่า ส่วนตัวชอบเขียนเพลงช้า ส่วนเพลงโจ๊ะเขียนได้น้อย ต้องมีเรื่องจริงๆ เป็นเรื่องลึกจริงๆ ถึงจะเขียนได้ อย่างเพลง ตังเก, น้ำตาหอยทาก, ฝนจางนางหาย, ฯลฯ แต่ละเพลงจะมีเรื่องราวผูกพัน

        " เพลงผมมี 2 บุคลิก อย่างเพลงโจ๊ะๆ จังหวะสนุก ลึกลงไปในเนื้อเพลงคุณอาจร้องไห้ได้ อย่างเพลงตังเก พูดถึงคนที่จากบ้านไปไกล บางทีก็ไม่ได้กลับทั้งชีวิต เพลงฝนจางนางหาย พูดถึงหนุ่มก่อสร้างที่สร้างตึกสวยทั่วประเทศ แต่ตัวเองยากจนนอนเพิง เพลงน้ำตาหอยทาก เป็นเรื่องเศร้าส่วนตัว ฯลฯ ด้วยบุคลิกของผมที่เป็นคนตลก ใช้คำที่สนุก มีท่าทางที่สนุก เลยทำให้เพลงที่เป็นเรื่องน่าเศร้า คนกินเหล้าฟังสนุกได้"

ไร่ดอกเหงื่อ
 
        "ส่วนอีกบุคลิก หนึ่งเป็นเพลงช้า อย่าง เด็กหญิงปราง, ยิ้มเหงาๆ, วันเวลา ฯลฯ ส่วนมากจะเป็นอารมณ์ผู้หญิง ผมจะเป็นคนที่เขียนอารมณ์ผู้หญิงได้ค่อนข้างดี เลยกลายเป็นแนวทางหนึ่ง เพลงแต่ละชุดจะต้องมีเพลงที่เกี่ยวกับผู้หญิงหรือเด็ก"

        " หลายคนถามว่าผมจำเพลงได้ทั้งหมดหรือไม่ ผมตอบไปว่าเราเขียนเพลงเอง เลยจำง่าย ต่างจากการท่องเพลงที่คนอื่นแต่งให้ร้อง เพราะกว่าจะเขียนได้สักเพลง ต้องแก้อยู่หลายรอบ ผมเป็นคนที่แก้เพลงมากที่สุด อย่างเพลง ตังเก ที่ฟังง่ายๆ สนุกๆ แต่กว่าจะเขียนได้ผมใช้เวลาถึง 2 ปี"

        " ผมจะเข้มงวดในการสัมผัส มีสัมผัสนอก สัมผัสใน ได้มาจากสมัยเด็กๆ อ่านหนังสือกลอนของท่านพุทธทาส ฟังวิทยุของชมรมนักกลอนอกหัก อีกสิ่งหนึ่งคือลุงผี เคยแนะนำให้อ่านหนังยากๆ บทกลอน บทกวี และบอกว่า สหาย บทกวีบทกลอนต้องยืนพื้นแม่แบบของวรรณกรรมไทย เราถึงจะเป็นคนไทย และที่สำคัญเพลงโคราชจะบังคับการขึ้นต้นและลงท้าย สัมผัสนอกสัมผัสใน เพลงของผมเลยเข้มงวดเรื่องนี้มาก"

        จากศิลปะในเพลง มาสู่ศิลปะที่แฝงในอาคารบ้านเรือน และต้นไม้ต้นไร่ ในไร่ดอกเหงื่อ

        " มันไม่หลุดกันระหว่างานจิตรกรรม ประติมากรรม งานกวี งานดนตรี ศาสตร์เดียวกันแต่คนละสาขา เรื่องตกแต่ง ปรับปรุงมุมต่างๆ ของบ้าน เป็นเรื่องที่ชอบ พออยู่ไปเราจะรู้ว่าเราต้องการอะไร ไม่เหมือนบ้านจัดสรรที่เราซื้อ ยังไงก็ต้องอยู่อย่างนั้น เรือนนอนหลังนี้จะไม่มีห้องหับ อยู่ที่นี้ไม่ต้องมีประตูหน้าต่าง อยากนอนตรงไหนก็นอน อยากทำอะไรก็ทำ บางทีขึ้นไปดูวิวบนหอคอย ลมเย็นๆ ก็หลับได้ สบายใจที่นี่คือบ้านเรา"

        ว่าพลางน้าหมู พาไปดูผลงาน

        " ตอนแรกไม่มีฝา โล่งๆ พอฝนมาสาดด้านนี้แรงไป เลยทำผนัง ปิดมากไปก็ทึบ เลยเจาะรูปหัวใจ เจาะดวงเดียวก็ยังสว่างไม่พอ เพื่อนๆ ถามว่าทำไมต้องมีรูปหัวใจหลายดวง ผมก็บอกเพื่อนไปว่า ผมมันคนหลายใจ" น้าหมูนั่งหัวเราะกับมุขที่ชงเองตบเอง

        นอนกางมุ้งไม่ได้ตั้งใจกันยุง เพราะไม่ค่อยมียุง แต่กางมุ้งกันแมลงเข้าหู

        ภาย ในเรือนมีมุมดนตรี เอาไว้ซ้อม ตั้งวางไว้แบบใกล้ตัว เราเองก็ไม่ได้มีเฟอร์นิเจอร์อะไรที่ราคาเป็นแสนเป็นล้าน คว้ากีตาร์ กลองมาเล่นแล้วก็วาง หมุนตัวหน่อยก็เล่นคีย์บอร์ด หมุนอีกนิดก็หันไปดูข่าวทีวี เคลิ้มๆ ก็คลานไปนอน อยู่แบบวนๆ

        " เตาไฟนี้ ตั้งแต่มาอยู่ 12 ปี จะก่อไฟวางฟืนทุกวัน ช่วยไล่แมลง และความชื้น เราอยู่ใกล้ภูเขา หน้าแล้งหน้าร้อนแบบนี้สัตว์จะลงจากป่ามากินน้ำในห้วย ในบ่อในบึงที่อยู่ด้านข้าง พอสัตว์ป่าลงมา แมลง ริ้น ไร เหลือบก็ลงมาด้วย แต่พอบ้านเรามีควัน แมลงก็จะไม่มายุ่งกับเรา จะมีบ้างก็เล็กน้อย ประโยชน์อีกอย่างของการจุดไฟ ทำให้อากาศแห้ง ไม่ชื้น ทำให้เราไม่เป็นหวัดง่าย และสรุปฟืนที่ใช้มา 12ปี ผมชอบฟืนไม้มะขามอันดับหนึ่ง ส่งกลิ่นหอม เวลาคุไฟจะแดงนานไม่เปลือง เวลาที่เอาไก่บ้าน เนื้อสด มาย่างเนื้อจะหอม กรอบ"

        เรือน รับรอง เป็นบ้านพักล้อมสระน้ำ ปรับจากห้องอัดเสียงเอาฟูกไปใส่ เอาหมอนไปวาง ลานกว้างที่เป็นสนามหญ้า เอาไว้จัดคอนเสิร์ต กางเต็นท์นอนได้ เมื่อคอนเสิร์ตปี 2550 จุคนได้ถึง 700 คน

        ส่วน ต้นไม้ในไร่ดอกเหงื่อ น้าหมูเผยว่า เน้นปลูกต้นไม้ไทยๆ เน้นร่มเงา ช่วยให้เราไม่ต้องติดแอร์ อย่างมากก็แค่เปิดพัดลมเป่าบ้างในช่วงกลางวัน บ้านล้อมด้วยน้ำถึงได้อุดมสมบูรณ์ เย็นฉ่ำ

        พร้อม กับตั้งข้อสังเกตว่า "ปีนี้ตอนกลางวันอากาศร้อนกว่าปกติ กลางคืนอากาศเย็นกว่าปกติ ต้นไม้ที่ไร่ผิดปกติ ต้นไม้จะต้องทิ้งใบก่อนออกดอก พอดอกร่วงแล้วถึงจะผลิใบใหม่ แต่นี้มีทั้งดอกทั้งใบ ต้นไม้มันคงจะงงกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง หลงฤดู หน้าร้อนฝนตก เข้าหน้าฝนแดดกลับร้อนระอุ เลยงงออกทั้งดอกทั้งใบ ดีกว่าไม่ได้ออกอะไรสักอย่าง ดูอย่างต้นกระโดน ใบอ่อนจะแก่อยู่แล้ว ลูกยังร่วงไม่หมดเลย มดแดงที่ผมเลี้ยง เอาเศษอาหารที่เหลือใส่กระบอก เอาน้ำใส่กระบอกผูกไว้ที่โคนต้นไม้ พอเดือนเมษายนมดแดงก็จะออกไข่ เราก็เอาไว้กินไข่มดแดง แต่ฝนมาก่อน เดือนมี.ค.มีฝน มดเลยรีบไข่ จากที่เคยไข่ไว้ใบเป่งๆ แต่ไข่เที่ยวนี้ใบลีบเลย เหมือนมดมันรีบออกไข่ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ รังมดแดงที่ต้นกระโดนร้างไปหลายรัง เห็นแล้วก็ตกใจ น่าเป็นห่วง น่ากลัว"

        สมาชิกในไร่มีใครบ้าง เจ้าของไร่แจกแจงว่า นอกจากตัวเอง มีผู้จัดการไร่ มีผู้ช่วยผู้จัดการ วันไหนใครสั่งก่อนก็ได้เป็นเจ้านาย

        เมื่อ ก่อนเลี้ยงสัตว์ไว้มาก ค่าอาหารเดือนละ 5-6 หมื่นบาท ต่อมากระจายให้เพื่อนไป ขณะนี้เหลือม้าอยู่ 4 ควาย 1 หมา 3 เป็นพันธุ์ปั๊ก 2 กับหมาป่าจากชะอำ 1 ตัว มีคนไปยิงแม่แล้วเอาลูกมาขาย คิดว่าถ้าโต จะเอาไปปล่อยที่เขาใหญ่ มีกระรอกอยู่ 2 คู่ ดูท่ากำลังทำการบ้านกันอยู่

        น้า หมูเผยว่า สิ่งที่ทำแล้วมีความสุขในระยะนี้ก็คือ การไปร้องเพลงตามห้องอาหาร ตามผับ โดยมีกลุ่มผู้ฟังรุ่นใหม่ๆ ทำให้ต้องดูแลตัวเอง ต้องเตรียมตัว เสียงไม่แหบ

        ต่อ จากนี้ อยากจะเขียนหนังสือสัก 2 เล่ม เล่มหนึ่ง จะคัดเพลงที่เขียนไว้จาก 17 อัลบั้ม อัลบั้มละ 2-3 เพลง บรรยายที่มาของเพลง คัดมาสัก 100 เพลงแล้วให้ชื่อหนังสือว่า เรียงร้อยเพลงกวีศรีชาวไร่ อีกเล่มรวบรวมชีวิตที่เราเดินทางมา ได้เจอะเจอกับเรื่องราวหลากหลายกึ่งๆ อัตชีวประวัติ ที่ตัวเองเขียนเอง

คอนเสิร์ต 25 ปี พงษ์เทพ

        ครบ รอบ 25 ปีในการทำงานเพลง ไปเมื่อเดือน เม.ย.2551 (นับจากชุดห้วยแถลง 2526) เลื่อนมา 3 ครั้งจากปัญหาการเมืองวุ่นๆ คอนเสิร์ต Exclusive Acoustic Concert Live in Bangkok จะเกิดขึ้นในวันพุธ-พฤหัสฯ 13-14 พ.ค.นี้แน่นอน เวลา 19.30 น. ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

        บรรยากาศ ของคอนเสิร์ต น้าหมูบอกว่า จะเป็นงานง่ายๆ สบายๆ เป็นพงษ์เทพแท้ๆ ที่เคยเป็นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วคัดมา 40 กว่าเพลง จาก 200 เพลง ตั้งแต่ ยิ้มเหงาๆ, ลมรำเพย, คิดถึงบ้าน, ตังเก, ดาวน์สาว, วันเวลา, ลิงทะโมน ฯลฯ

        เพลงที่ไม่ค่อยได้ฟังก็มี อย่าง อึดอัด, ทางใครทางมัน, คนเดินดิน, น้อยใจ, ยอดหญ้า, เช้านี้ ฯลฯ

        ความ ในใจต่อคอนเสิร์ตก็คือ เจอหน้าเพื่อนฝูงมิตรสหายหรือแฟนเพลง มักจะถามว่าเขียนเพลงใหม่หรือยัง เขียนเร็วๆ นะ รอฟังอยู่ ฟังแล้วรู้สึกทรมานใจ เพราะตอนนี้อายุ 56 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เขียนเพลงใหม่ไว้บ้าง แต่ยังไม่มั่นใจอะไรนัก พยายามจะขัดเกลา แฟนเพลงติดต่อจองบัตรได้ที่กลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2839-9 พร้อมรับสมุดภาพเพลง 25 ปี กวีศรีชาวไร่ ฟรี




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย : สรกนก มานูญวงศ์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เยี่ยมไร่ดอกเหงื่อ ของ น้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ อัปเดตล่าสุด 14 พฤษภาคม 2552 เวลา 11:04:44 73,017 อ่าน
TOP