มือถือ มือ 2 ย้อมแมวเกลื่อน ภัยร้ายที่ผู้บริโภคถูกมองข้าม (เดลินิวส์)
โดย ศราวุธ ดีหมื่นไวย์
"มือถือ" จากอดีตที่หลายคนมองว่า เป็นส่วนเกินของชีวิต บัดนี้ได้ถูกซึมซับเข้าไปในวงจรชีวิตของคนเกือบทุกชนชั้น เช่นเดียวกับอายุของผู้ใช้ที่เริ่มต่ำลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ประถมต้นหรืออาจต่ำกว่านั้น....
หากมองถึงความน่าจะเป็นด้วยปริมาณมือถือที่แต่ละค่ายแข่งขันกันผลิตออกมาในตลาดแต่ละเดือน ย่อม "ล่อตาล่อใจผู้ซื้อ" ทำให้มือถือแต่ละรุ่นที่ออกมาประเดี๋ยวเดียวก็ตกรุ่น ผนวกกับผู้ซื้อหลายคนนิยมของมือสองอันเนื่องมาจากทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ ทำให้ตลาดมือถือมือสองเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมมือถือก๊อบปี้จากประเทศเพื่อนบ้าน!!
ท่ามกลางตลาดที่เติบโต ย่อมมีของ "ย้อมแมว" ปะปนมาด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผู้บริโภคที่ซื้อมือถือมือสองก็ควรได้รับการดูแลเหมือนกับการซื้อของมือหนึ่งด้วยเช่นกัน และจากการสำรวจมือถือมือสองในตลาด ผศ.ดร.ชนวัฒน์ ศรีสอ้าน คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสน เทศ มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่า มีของย้อมแมวเข้ามาปะปนมากขึ้นกว่าแต่เดิม เนื่องจากปัจจุบันมีมือถือออกใหม่เกือบทุกเดือน ทำให้ลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นเปลี่ยนมือถือบ่อย จนปริมาณมือถือมือสองในตลาดเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ถูกบีบด้วยต้นทุนที่สูง แต่ต้องขายแข่งกับร้านอื่นที่มีราคาต่ำกว่า ทำให้ผู้ประกอบการเองต้องพยายามลดต้นทุน
"จากการสำรวจตลาดมือถือมือสองที่มีการดัดแปลงและใช้อะไหล่ปลอมมากที่สุดคือ โนเกีย เนื่องจากได้รับความนิยมสูงจากผู้ใช้ ขณะเดียวกันคน ซื้อเองก็เชื่อมั่นในตัวบริษัท ทำให้ผู้ประกอบการหัวใสบางรายพยายามนำอะไหล่ปลอมมาใส่แล้วขายต่อในรุ่นที่กำลังนิยม"
ผศ.ดร.ชนวัฒน์ กล่าวถึง ชิ้นส่วนในมือถือมือสองที่นิยมย้อมแมวมากที่สุดคือ บริเวณแผงวงจรอันเป็นหัวใจหลักของตัวเครื่อง เนื่องจากหากนำตัวแผงวงจรของแท้ไปขายต่อจะได้ราคาสูง โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะซื้อแผงวงจรจากตลาดมืดที่มีวางขายโปรแกรมเลียนแบบของแท้จนเหมือนจริง ตั้งแต่การเปิดเครื่องที่เมื่อดูเพียงผิวเผินยากที่ผู้ซื้อจะรู้ได้ ดังนั้นชิ้นส่วนนี้จึงถูกปลอมแปลงมากเพราะหากนำชิ้นส่วนที่เป็นของแท้ไปขายจะได้ราคาดี
วิธีการสังเกตว่า แผงวงจรเป็นของจริงหรือไม่ ? ผู้ซื้อต้องเปิดเครื่องเพื่อสำรวจภาษาที่มีในเครื่องว่า มีอยู่หลายภาษาหรือไม่ ถ้าเป็นของแท้จะมีหลายภาษา แต่หากเป็นของปลอมแปลงส่วนใหญ่มีไม่กี่ภาษา หากเครื่องมีแต่ภาษาจีนอย่างเดียวให้สันนิษฐานได้ว่าเครื่อง นั้นอาจมีการปลอมแปลง!!
วิธีการสังเกตหน้าจอคือ ต้องเปิดเครื่องเพื่อดูสีว่ามีความใกล้เคียงกับเครื่องอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกันหรือไม่ ซึ่งผู้ซื้อเอง ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการเลือกมือถือมือสองในรุ่นไหน และต้องพยายามจดจำสีและรูปลักษณะขององค์ประกอบต่าง ๆ บนหน้าจอเครื่องที่เป็นของแท้ และนำมาเปรียบเทียบกับมือถือมือสองที่กำลังซื้อ
"กลุ่มบุคคลที่ย้อมแมวมือถือหากรู้จักกันจะนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ทั้งของจริงและของปลอมมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอยู่เป็นประจำ ขณะเดียวกันหลายคนที่มีความรู้ด้านการถอดอะไหล่เหล่านี้มักไปซื้อชิ้นส่วนที่เป็นของลอกเลียนแบบมาเปลี่ยนกับอะไหล่แท้ จากการสังเกตก็พบว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี กลุ่มบุคคลเหล่านี้ยิ่งนิยมทำ กันอย่างแพร่หลาย"
ทั้งนี้ นอกจากชิ้นส่วนหลักที่มีการย้อมแมวแล้ว ยังมีชิ้นส่วนอื่นที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า เช่น แบตเตอรี่ ที่ ผู้ซื้อต้องมี การศึกษาจากเครื่องจริงว่า ถ้าแบตเตอรี่จริงจะมีแถบพลาสติกสะท้อนแสงแบบใด เพราะ มือถือแต่ละค่ายจะมีรูปแบบสัญลักษณ์แตกต่างกัน ขณะเดียวกันหน้ากากตัวเครื่องที่เป็นของแท้ ผู้ขายบางรายก็ถอดออกเพื่อนำ ไปแยกชิ้นส่วนขายต่อ โดยเครื่องเก่าที่นำมาขายเป็นมือสองก็จะนำหน้ากากที่เป็นของเลียนแบบมาใส่แทน ซึ่งไม่มีความคงทนทำให้แตกและเสียหายง่าย
ผศ.ดร.ชนวัฒน์ ได้แนะนำการเลือกซื้อมือถือมือสองว่า ควรสำรวจรอยแตกร้าวบริเวณหน้าจอของเครื่อง ซึ่งหากเกิดจากการแตกร้าวภายนอกจะเห็นรอยร้าวได้เด่นชัด ส่วนการ แตกร้าวของหน้าจอจากภายในจะสังเกตได้โดยเห็นจุดดำ ๆ บนหน้าจอซึ่งเป็นผลมาจากการร้าวภายใน และต้องสำรวจหมายเลขเครื่องบริเวณที่ใส่แบตเตอรี่ว่า มีหมายเลขตรงกับหมายเลขเครื่องที่บันทึกไว้ในแผงวงจรหรือไม่โดยกดปุ่มโทร *#06#
ขณะเดียวกันการสังเกตด้วยตาเปล่าผู้ซื้อต้องถอดตัวเครื่องดูภายใน โดยสำรวจว่านอตมีรอยไขจนเสียรูปทรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีรอยการไขมากแสดงว่าเครื่องต้องผ่านการซ่อมหรือปลอมแปลงมาแล้วในระดับหนึ่ง และควรพิจารณาดูโครงของเครื่องภายในว่ามีการแตกหักมากน้อยเพียงไร เช่นเดียวกับแผงวงจรควรอยู่ในลักษณะที่สมบูรณ์ ไม่มีอาการบวมผิดรูปทรง และต้องแนบสนิทเข้ากับตัวเครื่อง
ส่วนการใช้งานซิม โทรศัพท์ควรแนบกับแผงวงจร เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่ที่หน้าจอไม่ปรากฏสัญญาณเพราะไม่แนบสนิท และผู้ซื้อควรเปิดเครื่องเพื่อดูว่ามีสัญญาณของซิม ควรลองซิมหลายยี่ห้อประกอบกัน เช่นเดียวกับที่ชาร์จแบตเตอรี่ต้องทดลองชาร์ตนาน ๆ เพราะบางครั้งไฟอาจเข้าในตอนแรก แต่สักพักไฟก็จะไม่เข้า นอกจากนี้หากมือถือมือสองที่กำลังจะซื้อมีบริการเอสเอ็มเอส อีเมล ถ่ายรูป เล่นเกม ส่งเอ็มเอ็มเอส ฯลฯ ควรทดลองใช้เพื่อทดสอบการทำงานของเครื่อง
"แนะนำให้คนที่ต้องการซื้อมือถือมือสองไม่ควรซื้อเครื่องที่เป็นแบบพับ เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีปัญหาตรงรอยพับ เป็นผลจากการเสื่อมของรอยต่อ เช่น สายไฟ และตัวเครื่องพลาสติกที่อาจจะเสื่อมไปตามระยะเวลา หากเป็นไปได้ไม่ควรไปซื้อที่ร้านที่ไม่มีความน่าเชื่อถือตามตลาด มืดต่าง ๆ"
สุดท้าย ผศ.ดร.ชนวัฒน์ ฝากถึงประชาชนทั่วไปที่กำลังจะซื้อมือถือมือสองว่า เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีการคุ้มครองที่ครอบคลุมส่งผลให้กลุ่มคน เหล่านี้ยังนิยมย้อมแมวอย่างแพร่หลาย ซึ่งผู้บริโภคเองก็ ควรศึกษาและหมั่นสังเกตอย่างรอบคอบก่อนซื้อทุกครั้ง
นอกจากนี้ "ทีมวาไรตี้" ได้ติดต่อไปยัง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้รับการยืนยันจากแหล่งข้อมูลว่า ยังไม่เคยมีการสำรวจถึงการปลอมแปลงมือถือมือสองในตลาด เนื่องจากหน่วยงานมีหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะ มือถือมือหนึ่งด้านมาตรฐานเท่านั้น ส่วนกรณีสินค้ามือสองจัดได้ว่า ผ่านการรับรองจากตอนเป็นมือหนึ่งมาแล้ว
ดังนั้นจากการที่มือถือสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตอย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นผู้ผลิตและหน่วยงานภาครัฐก็ควรมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อสิทธิของผู้บริโภคที่ได้รับการดูแลอย่างจริงจังและครอบคลุมทั่วประเทศ.
เคล็ดลับการดูแลมือถือ
อย่าใช้สารเคมีทำความสะอาดตัวเครื่อง วัสดุที่ใช้ทำโทรศัพท์ส่วนมากทำมาจากพลาสติกเหนียว ตามด้วยสีที่พ่นทับเนื้อพลาสติก การทำความสะอาดไม่ควรใช้สารเคมี เช่น แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ หรือสารกัดกร่อนต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้สีลอกหรืออาจถึงขั้นเกิดแผลเป็นจากการกัดกร่อนเนื้อพลาสติกจนเสียรูป การทำความสะอาดที่ถูกวิธีควรใช้ผ้าแห้งเช็ดเท่านั้น เพราะหากใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดอาจมีความชื้นเข้าไปในตัวเครื่อง และแผงวงจรได้
อย่านำมือถือไปไว้ในที่ร้อน การเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ในที่ร้อนจะทำให้วงจรโทรศัพท์มือถือ รวมถึงแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานสั้นลง ยิ่งลืมโทรศัพท์มือถือไว้ในรถที่ตากแดด สามารถทำให้ตัวเครื่องที่ทำจากพลาสติกละลายได้ และหากแบตเตอรี่ที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้แบตเตอรี่บวม หรือถึงขั้นระเบิดได้
การชาร์จแบตเตอรี่ไม่ควรชาร์จนานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะมีผลให้อุณหภูมิของแบตเตอรี่มีความร้อนสูงขึ้น แม้วงจรของแบตเตอรี่และเครื่องโทรศัพท์จะมีการสั่งให้หยุดชาร์จแล้วก็ตาม หากแบตเตอรี่ยังเหลืออยู่มากไม่ควรชาร์ตใหม่ ควรรอ ให้แบตเตอรี่หมดเสียก่อน ที่สำคัญก็คือแบตเตอรี่ของมือถือแต่ละยี่ห้อนั้นอาจผลิตออกมาเหมือน ๆ กัน แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน ดังนั้น ควรอ่านและปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก