จากปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันในปี
พ.ศ. 2516 ทำให้นักอนุรักษ์ทั่วโลกเริ่มหวั่นเกรงว่าทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอย่าง "น้ำมัน"
ซึ่งเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั่วโลก จะร่อยหรอและหมดจากโลกไปทุกวัน ๆ จนเมื่อเวลาผ่านมาอีกหลายสิบปี
จึงได้เกิดหนึ่งแนวคิดในการใช้น้ำมันอย่างประหยัด
ด้วยการลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว
จึงทำให้เกิดการต่อยอดมาเป็นแนวคิดคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) และเกิดเป็นวันคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) ขึ้นมา
วันคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day)
ตรงกับวันที่ 22 กันยายน ของทุกปี โดยวันคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) จัดขึ้นในหลาย ๆ แห่งทั่วโลกเป็นครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2537 โดยมีประชาชนใน 848 เมือง จาก 25
ประเทศทั่วโลก ได้ออกมาร่วมกันรณรงค์ภายใต้โครงการ Car Free Day
เพื่อปลุกให้คนตื่นตัว หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน ปั่นจักรยาน
หรือการเดิน แทนการนั่งรถยนต์ส่วนตัว และคิดวางแผนในการเดินทางมากขึ้น
แน่นอนว่าจุดประสงค์ของการรณรงค์ วันคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) เพื่อจะได้เป็นการลดการใช้น้ำมัน ลดมลภาวะทางอากาศ ลดมลภาวะทางเสียง และเมื่อรถยนต์ในท้องถนนมีน้อยลง ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุได้ ด้วยแนวคิดดี ๆ เช่นนี้จึงทำให้มีหลายประเทศทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) ในปีถัด ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มรณรงค์กิจกรรม วันคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543
เป็นต้นมา และได้จัดกิจกรรมรณรงค์เรื่อยมา โดยในส่วนกิจกรรมวันคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) ของแต่ละจังหวัด
ได้มีการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์ให้คนทิ้งรถไว้ที่บ้าน
แล้วออกมาทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนจำนวนมาก