15 นักวิทยาศาสตร์ไทย ที่มีผลงานอันโดดเด่น

         นักวิทยาศาสตร์ไทย 15 ประวัตินักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานอันโดดเด่น เนื่องในวันวิทยาศาสตร์ 18 สิงหาคม ตามไปอ่าน ประวัตินักวิทยาศาสตร์ไทย 15 คนกันเลย 

         "คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก" คำกล่าวนี้คงไม่ใช่สิ่งที่เกินความจริงนัก นั่นก็เพราะประเทศไทยมีบุคลากรที่เก่งกาจและมีความสามารถมากมาย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ ที่แม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์มากนัก แต่กลับมีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของไทยสามารถสร้างผลงานจนสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
     
           วันวิทยาศาสตร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี กระปุกดอทคอมเลยจะขอแนะนำสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานเด่น ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกัน อ้อ...ขอบอกก่อนว่าบุคคลที่เรากล่าวถึงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ไทยเท่านั้นนะคะ เพราะจริง ๆ แล้วยังมีคนไทยเก่ง ๆ อีกมากมายเลยทีเดียว ซึ่งคงไม่สามารถกล่าวได้หมด ณ ที่นี้อย่างแน่นอน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
รัชกาลที่ 4 บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4


         พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องจากสนพระราชหฤทัยเรื่องของวิทยาศาสตร์ เรขาคณิต ตรีโกณมิติ โดยเฉพาะดาราศาสตร์เป็นพิเศษ โดยพระองค์ทรงคำนวณปฏิทินจันทรคติแบบใหม่ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีความแม่นยำถูกต้องตรงกับดวงจันทร์บนท้องฟ้ายิ่งกว่าปฏิทินที่ใช้อยู่เดิม และยังทรงคำนวณการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้ล่วงหน้าถึง 2 ปี อย่างแม่นยำ

         และในปัจจุบันนี้ ประชาคมดาราศาสตร์ในระดับสากลที่ศึกษาด้านสุริยุปราคา ยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำว่าเป็น "King of Siam's Eclipse"

 


ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ปรมาจารย์แห่งวงการแพทย์


         ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี เป็นนักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษาที่ได้รับการยกย่องในฐานะ "ราษฎรอาวุโส" โดยหลังจากจบการศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้รับเหรียญทองในฐานะที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 1 ตลอดหลักสูตรแล้ว ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ ก็ได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาด้านการแพทย์ต่อที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อจบการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ ได้เข้าศึกษาต่อด้านมนุษย์พันธุศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำให้ท่านเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพันธุศาสตร์

         ทั้งนี้ ผลงานเด่นของศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ คือ การค้นพบกลไกทางพันธุศาสตร์ของโรคอัลฟาธาลัสซีเมีย โดยพบว่ามียีนอัลฟาธาลัสซีเมีย 2 ชนิด และได้ให้ชื่อว่า อัลฟาธาลัสซีเมีย 1 และอัลฟาธาลัสซีเมีย 2 ซึ่งทำให้ท่านได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2526 สาขาชีววิทยา (พันธุศาสตร์) รวมทั้งยังได้รับรางวัลอีกมากมาย เช่น รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐ ได้รับเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาการแพทย์ รวมทั้งยังได้รับเลือกเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2531 อีกด้วย

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
ภาพจาก upf.or.th


ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา


         จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคลื่นไมโครเวฟ จากนั้น ดร.อาจอง ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ ที่ Imperial College of Science and Technology London University ด้วยความสามารถของ ดร.อาจอง ทำให้สามารถสร้างชื่อเสียงได้ในระดับโลก โดยได้เข้าร่วมออกแบบชิ้นส่วนขาและชิ้นส่วนระบบลงจอดของยานอวกาศให้กับบริษัท Martin Marietta ซึ่งองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาว่าจ้างให้ออกแบบ เพื่อนำไปใช้ในยานอวกาศไวกิ้ง 2 ลำ ส่งไปลงบนดาวอังคาร

         หลังจากทำงานในต่างประเทศได้สักพัก ดร.อาจอง ได้เดินทางกลับมาทำงานด้านวิศวกรรมในประเทศไทย และสร้างผลงานไว้มากมาย จนได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เมื่อ พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ ดร.อาจอง ยังเป็นผู้ที่สนใจด้านธรรมะ นำไปสู่การสร้างโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อขัดเกลาจิตใจเยาวชนของชาติอีกด้วย

 


ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล


         ท่านเป็นนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์รุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย โดยท่านจบวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปต่อปริญญาโททางฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย และศึกษาปริญญาเอกทางดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย จนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์

         สำหรับผลงานเด่น ๆ ด้านดาราศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาโครงสร้างของโครโมสเฟียร์ดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างอาณาจักรบริเวณกัมมันต์บนดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของบรรยากาศระดับโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ รวมทั้งเรื่องบรรยากาศของดวงอาทิตย์ เป็นต้น แต่บุคคลทั่วไปจะรู้จักท่านในช่วงปี พ.ศ. 2529 ที่ดาวหางฮัลเลย์เดินทางมาเยือนเมืองไทย รวมทั้งช่วงที่มีข่าวฝนดาวตก ซึ่งนับได้ว่าศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล เป็นผู้มีส่วนทำให้สังคมไทยสนใจเรื่องดาราศาสตร์มากขึ้น

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
ภาพจาก Thai Space Education


ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน


         ด้วยความที่ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน จบการศึกษาด้านฟิสิกส์ จากอิมพีเรียลคอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนจะศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านฟิสิกส์ของแข็งภาคทฤษฎี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ สหรัฐอเมริกา ทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์เป็นอย่างยิ่ง และมีผลงานด้านการสร้างทฤษฎีอธิบายสมบัติพื้นฐานบางประการของสภาพนำยิ่งยวด รวมทั้งผลงานด้านวิชาการอีกมากมาย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติถึง 37 เรื่อง

         ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2530 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ รวมทั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2530 สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี และได้รับทุนวิจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

 

ศาสตราจารย์ ดร.วิรุฬห์ สายคณิต
ภาพจาก Thai Space Education


ศาสตราจารย์ ดร.วิรุฬห์ สายคณิต


         ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นคนแรกของไทย ประจำปี พ.ศ. 2525 สาขาฟิสิกส์ โดยเป็นผู้บุกเบิกในการนำทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) แบบไฟน์แมน (Feynman) มาประยุกต์กับเรื่องของฟิสิกส์ของสภาวะของแข็ง (Condensed Matter Physics) และได้ทำการค้นคว้าเรื่องนี้ติดต่อกันนานกว่า 30 ปี จนสามารถสร้างผลงานนำทฤษฎีของไฟน์แมนมาประยุกต์กับปัญหาของระบบที่ไร้ระเบียบ และนำเสนอทฤษฎีควอนตัมแบบไฟน์แมนประยุกต์กับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยทั้ง 2 เรื่องถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่มีชื่อเสียงหลายเล่ม และถูกนำไปใช้อ้างอิงในงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเป็นจำนวนมาก

 


ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์


         เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. 2538 เมื่อ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ "ZIDOVUDINE" (AZT) ซึ่งเป็นยาต้านเอดส์ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกเป็นครั้งแรกของโลก และได้เดินทางไปถ่ายทอดการผลิตยาในหลายประเทศในทวีปแอฟริกานานหลายปี จนได้รับฉายาว่า "เภสัชกรยิปซี"

         โดยกว่า 30 ปีที่ ดร.กฤษณา ได้ทุ่มเทกับการทำงานเพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยยากไร้ทั่วโลกได้มีโอกาสใช้ยารักษาโรคเอดส์ ส่งผลให้ท่านได้รับรางวัล "บุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี ค.ศ. 2008" จากนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์ รวมทั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ. 2547 จาก Letters Foundation ประเทศนอร์เวย์ อีกทั้งยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ จาก Mauny Holly Oke College, USA อีกด้วย

 

ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
ภาพจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี


         นักคณิตศาสตร์ที่ได้รับรางวัลการันตีมาแล้วมากมายจากทั่วโลก รวมทั้งรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2541 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2550 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544

         ทั้งนี้ ทุกรางวัลที่ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี ได้รับนั้น ล้วนมาจากความทุ่มเทวิจัยด้านการนำกระบวนการทางคณิตศาสตร์ใหม่ ๆ ไปใช้อธิบายปรากฏการณ์และระบบต่าง ๆ ในทางชีววิทยาและการแพทย์ รวมไปถึงระบบทางนิเวศวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ที่สร้างประโยชน์มากมายต่อวงการศึกษา การแพทย์ และการวิจัยของไทย

 


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์


         เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2529 และรางวัลนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2538 โดยมีผลงานสำคัญคือ การวิจัยค้นพบสมุนไพรรักษามะเร็งเป็นคนแรกของโลก รวมทั้งงานวิจัยด้านสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อรา และงานวิจัยด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์อีกหลายชิ้น ซึ่งงานวิจัยของท่านกว่า 118 เรื่อง ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล รวมกว่า 1,016 ครั้ง

 


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ


         เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2536 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยผลงานด้านพยาธิวิทยา ที่ศึกษาพบว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งพบมากในผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับ อาจมาจากการที่สารก่อมะเร็งที่อยู่ในอาหารไปกระตุ้นเซลล์ของระบบท่อน้ำดี ซึ่งถูกรบกวนจากพยาธิใบไม้เป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้านอิมมิวโน พยาธิวิทยาของโรคไข้เลือดออกในเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดการประยุกต์รักษาผู้ป่วยได้ในอนาคต

         อย่างไรก็ตาม ท่านยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณมากมาย แต่รางวัลที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมากที่สุดก็คือ รางวัล Pasteur Medal จากองค์การยูเนสโก และสถาบันปาสเตอร์ของ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก นั่นเอง

 

ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี


ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี


         อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นคนแรกของสาขาวิชาวนศาสตร์ของประเทศไทยที่ได้รับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ริเริ่มชักชวนอาจารย์หลายท่านให้หันมาร่วมกันทำงานด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ โดยทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลนับสิบปี จนมีผลงานการวิจัยเกี่ยวกับป่าไม้ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนในวิชาด้านสิ่งแวดล้อม

         ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่น ส่งผลให้ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2530 และได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่เป็นที่ปรึกษาองค์การยูเนสโก

 


ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว


         ท่านจบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น จากนั้นได้กลับมาทำงานสอนหนังสือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผลงานสำคัญ เช่น การสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์สารกึ่งตัวนำ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รวมทั้งยังศึกษาวิจัยการประยุกต์นำพลังงานโซลาร์เซลล์ หรือเซลล์แสงอาทิตย์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผลงานเซลล์แสงอาทิตย์นี้เองทำให้ท่านได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2529 และได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยดีเด่นของทบวงมหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ. 2540


 


ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ


         ท่านเป็นบิดาแห่งวิชาเคมีของไทยผู้ล่วงลับ โดย ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ได้ศึกษาด้านวิชาเคมีจนเชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และกลับมารับราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลงานเด่นของท่านก็คือ การบุกเบิกจัดทำหลักสูตรปริญญาบัณฑิตทางเคมีเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และท่านก็เป็นผู้สอนนิสิตด้วยตัวเอง

         นอกจากนี้ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เริ่มพัฒนาขยายหลักสูตรด้านวิทยาศาสตรบัณฑิตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาลในยุคนั้นอีกด้วย เช่นเดียวกับการบุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นทางการแห่งแรกของประเทศไทย ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


ศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา


         ท่านเป็นศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีผลงานเรื่องการพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ซึ่งได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก และยังได้ศึกษาโรคสมองอักเสบทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะจากพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกันแบบครบวงจร

         ด้วยผลงานการวิจัยต่าง ๆ ทำให้ท่านได้รับรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2537 รวมถึงรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2547 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

 


ศาสตราจารย์ ดร.ถาวร วัชราภัย


         ได้รับเลือกเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2532 สาขาพฤกษศาสตร์ จากผลงานการค้นพบการเกิดลักษณะใหม่ของดอกกล้วยไม้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการผันแปรของเซลล์ร่างกายในต้นที่ขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศด้วยวิธีการเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้นำวิธีการดังกล่าวไปสร้างพรรณพืชใหม่ ๆ ขึ้นมาได้อีกเป็นจำนวนมาก

          ได้รู้จักสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของไทยกันไปแล้ว เห็นได้ชัดเลยว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยจริง ๆ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

- thaiastro.nectec.or.th
- sc.mahidol.ac.th
- waghor.go.th
- research.chula.ac.th
- archives.psd.ku.ac.th
- rmutphysics.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 นักวิทยาศาสตร์ไทย ที่มีผลงานอันโดดเด่น อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2567 เวลา 17:01:34 700,647 อ่าน
TOP
x close