หลอดทดลอง บีกเกอร์ เครื่องชั่ง
กล้องจุลทรรศน์ กล้องดูดาว ชามระเหย สามขา ตะแกรงลวด คีม กระจกนาฬิกา ฯลฯ
... อ๊ะ อ๊ะ ไม่ต้องเอาคิ้วไปชนกันให้เมื่อยค่ะ หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเราถึงเอ่ยชื่ออุปกรณ์หรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้
เนื่องจากในทุก
ๆ วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี
เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ วงการดาราศาสตร์
และวงการการศึกษาของไทย เพราะถ้าย้อนอดีตกลับไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.
2411 จะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
หลังจากที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้า 2 ปี
ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" ...วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะพาไปทำความรู้จักที่มาที่ไป และประวัติของ วันวิทยาศาสตร์ กันค่ะ...
แต่ก่อนอื่นเราจะพาไปรู้จักความหมายของ "วิทยาศาสตร์" (Science) กันก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วคำว่า วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต
รวมทั้งกระบวนการประมวลความรู้เชิงประจักษ์
ที่เรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์
และกลุ่มขององค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว
ทั้งนี้ การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ยังถูกแบ่งย่อยออกเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ประยุกต์
ประวัติวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคและสถลมารคทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุดคือ ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงจังหวัดชุมพร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์ แฮรี่ ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ ต่อมาจึงได้มีการสร้าง "อุทยานวิทยาศาสตร์" ที่บ้านหว้ากอ
ผลการคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก โดยเซอร์ แฮรี่ ออด ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เมื่อ พ.ศ. 2518 ว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้"
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเอาศิลปวิทยาการและความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ
ด้วยเหตุนี้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
จึงได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ
โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์
ทั้งนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม
เป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ได้มีการจัดงานขึ้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2527 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ จนได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญ ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการจัดงาน "สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ" เป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม
สำหรับ "อุทยานวิทยาศาสตร์" ที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุทยานนี้ว่า "อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์" และได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปหล่อประทับนั่งบนพระเก้าอี้ ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ ชุดเดียวกับวันที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาบ้านหว้ากอ เพื่อเป็นการระลึกถึง "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"
พระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4 บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอดูดาวบนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า "หอชัชวาลเวียงชัย" ซึ่งตลอดพระชนมพรรษาของพระองค์ได้เคยทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวง คือ
1. ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugergues s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2355 ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทอดพระเนตรแล้วคงจะทรงติดตามศึกษาเรื่องดาวหางอยู่เสมอ เพราะว่าก่อนดวงที่ 2 จะมาปรากฏ พระองค์ทรงสามารถนิพนธ์ประกาศฉบับแรกชื่อว่า "ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก" แจ้งแก่ประชาชน
2. ดาวหางโดนาติ (Donati a Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2401 และคืนต่อ ๆ มา จนถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2402 (รวมเวลา 9 เดือน) ชาวไทยจะเห็นด้วยตาเปล่าระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2401
ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าเมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติแล้วจะตื่นเต้นไปตามคำลือต่าง ๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า "ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก" นับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า "ดาวหางนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่าง ๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้น หามิได้ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล"
3. ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลกระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2404 เป็นดาวที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่าจะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้ามิให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้ เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ (ถ้าจะเกิด) อย่างมีเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์
คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2532 : พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2533 : เพิ่มคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2534 : ขจัดมลพิษทุกชีวิตจะปลอดภัย
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2537 : ขจัดปัญหาน้ำของชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2538 : เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวไกล เศรษฐกิจไทยมั่นคง
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2539 : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาชาติไทยให้ก้าวหน้า
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2540 : พัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2541 : พัฒนาเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ พัฒนาชาติด้วยภูมิปัญญาไทย
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2542 : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไทยที่ยั่งยืน
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2543 : พัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2544 : วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2545 : วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2546 :
เส้นทางแห่งการค้นพบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณค่าแห่งภูมิปัญญา
เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2547 : เศรษฐกิจของชาติมีปัญหา วิทยาศาสตร์มีคำตอบ
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2548 : วิทยาศาสตร์คือความรู้สู่ความสำเร็จ
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2549 : เศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่ไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2550 : วิทยาศาสตร์สร้างปัญญาในสังคม
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2551 : วิทยาศาสตร์สร้างชาติ สร้างอนาคต
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2553 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2554 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2555 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2556 : ทันโลก ทันวิทย์ จุดประกายความคิดสู่อาเซียน
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2558 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2559 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2560 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2561
: จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2562 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2563 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2564 : ไม่ได้กำหนดคำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2565 : ไม่ได้กำหนดคำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด "ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Art - Science - Innovation for Sustainable Society)"
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2566 : ไม่ได้กำหนดคำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "For Bright and Creative Generations"
- คำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2567 : ไม่ได้กำหนดคำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
โดยจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "Future Science Community for All"
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
1. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"
2. เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์
อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน
การค้นคว้า วิจัย ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
4. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- ร่วมพิธีวางพวงมาลาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- จัดกิจกรรมส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ
เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์
- ตามรอยประวัติ และความเป็นมาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- เปิด 5 ประเด็นน่ารู้ จากชีวิต สตีเฟน ฮอว์คิง ยอดนักวิทยาศาสตร์แห่งยุค
- นักวิทย์แถลงการค้นพบ คลื่นความโน้มถ่วง มีจริงดังไอน์สไตน์เคยทำนายเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
- 7 การทดลองวิทยาศาสตร์ ที่แสนง่ายและสนุก
- 15 นักวิทยาศาสตร์ไทย ที่มีผลงานอันโดดเด่น
- 10 นักวิทยาศาสตร์หญิงที่เก่งที่สุดในโลก
ขอบคุณข้อมูลจาก : lib.ru.ac.th, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ