x close

ทัศนคติเดือด! ปัญหาจำนำข้าว .. ในต่างมุมมอง


จำนำข้าว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

 
          เรื่องของการ "จำนำข้าว" กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงกรณีของการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ที่อาจส่งผลกระทบใหญ่ได้ในระดับประเทศ และอาจลามไปถึงระดับโลก ทั้งนี้หากเป็นมุมมองของเหล่าเกษตรกรแน่นอนว่าย่อมเห็นเป็นเรื่องที่ดีและได้ประโยชน์ แต่ทว่าในมุมมองของคนกลุ่มอื่นก็อาจจะมีแนวคิดต่อนโยบายสำคัญนี้แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเรื่องการรับจำนำข้าวจึงกลายเป็นที่มาของบทความต่าง ๆ จากมุมมองของนักวิชาการและเกิดเป็นวิวาทะเดือดขึ้นมา ..
 
          นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่ามีบทความในประเทศกว่า 3,500 บทความ และจากต่างประเทศอีก 356 บทความ เขียนเตือนนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าการใช้เงินไปกับโครงการรับจำนำข้าว จะทำให้ประเทศไทยมีหนี้เพิ่มขึ้น เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ตั้งใจไว้ และอาจนำไปสู่ความเสียหายของชาติได้
 
นิธิ เอียวศรีวงศ์

          แต่ทั้งนี้หลายบทความในจำนวนเหล่านั้นก็มีทัศนคติต่อนโยบายรับจำนำข้าวแตกต่างกันออกไป เริ่มตั้งแต่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจ้าของบทความชื่อ "เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำ" ในมติชนรายวัน และมติชนออนไลน์ (5 พฤศจิกายน 2555) ซึ่งเป็นบทความชิ้นที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยิบนำมาอ้างอิงถึงและยกย่องว่าเป็นบทความที่ให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลได้ดีที่สุด
 
          ซึ่งบทความดังกล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า "จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาล ย่อมมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนาด้วย หากทำต่อเนื่องไปอีกสักสองสามปี จะไม่มีรัฐบาลใดกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด
 
          แม้ว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว (ตามทรรศนะของผม) แต่รัฐบาลต้องยินดีและน้อมรับฟังคำวิจารณ์ของทุกฝ่าย ส่วนหนึ่งของคำวิจารณ์นั้นอาจมาจากแรงจูงใจที่ไม่ดีทางการเมือง แต่รัฐบาลอย่าไปสนใจแรงจูงใจดีกว่า หากควรฟังและทบทวนโครงการอยู่ตลอดเวลา แก้ไขปรับเปลี่ยนอย่าให้เกิดรูรั่ว แต่ก็ต้องชัดเจนในด้านเป้าหมายของโครงการ ทั้งแก่ตนเองและประชาชนเพราะรัฐบาลกำลังทำอะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย หนทางย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา"
 
วีรพงษ์ รามางกูร

          หรือจะเป็นบทความจาก ดร. วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคนกันเองที่ต้องทำงานใกล้ชิดกัน ยังออกความคิดเห็นไว้ในบทความเรื่อง "โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร" (ประชาชาติธุรกิจ 15 สิงหาคม 2554) ว่ารัฐบาลจะพังเพราะโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นการฟันธงล่วงหน้าแบบสวนทางกับหน้าที่เลยทีเดียว
 
          โดยใจความจากบทความของ ดร.โกร่ง ในคอลัมน์ "คนเดินตรอก" มีคร่าว ๆ ดังนี้ "เริ่มต้น ชื่อก็ผิดแล้ว การรับจำนำนี้ปกติผู้รับจำนำต้องรับจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด โดยคาดว่าผู้จำนำจะมาไถ่คืน แต่การรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดก็ไม่น่าจะเรียกว่าการรับจำนำ เพราะไม่มีใครมาไถ่คืนในราคาจำนำที่สูง แล้วเอาไปขายในราคาที่ต่ำในตลาด การตั้งชื่อว่าโครงการรับจำนำจึงเป็นการตั้งชื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้นเอง"
 
          "นี่คือการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่นจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมายส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเองที่ ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่เคยได้ประโยชน์จากโครงการชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกันซึ่งมีจำนวนมากกว่าก็จะโวยวาย ถ้าหันกลับไปใช้โครงการรับจำนำอีก แต่ถ้าไม่ทำโรงสี โรงมัน ผู้ส่งออกก็คงจะจัดคนมาเดินขบวน คงต้องปวดหัวและจะหาบันไดลงกันอย่างไร ต้องคอยดู" นี่คือบทสรุปส่งท้ายจาก ดร.โกร่ง ในบทความดังกล่าว
 

นิพนธ์ พัวพงศกร

          ในขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และ ดร.อัมมาร สยามวาลา จากสำนักทีดีอาร์ไอ. กูรูทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็เขียนบทความขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์บทความจาก อ.นิธิ ว่าเป็นวิวาทะทางวิชาการที่ร้อนแรงที่สุดส่งท้ายปี 2555 เพราะการอ้างว่านโยบายดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้นั้น ดอกเตอร์ทั้งสองบอกว่าหากข้อเสนอดังกล่าวผิดพลาดจนสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ เราก็ไม่มีปัญญาพอที่จะแบกรับความเสียหายดังกล่าว
 
          ส่วนหัวข้อ "ความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนา" ในบทส่งท้ายของบทความจาก อ.นิธิ นั้น ดร.นิพนธ์ และ ดร.อัมมาร เห็นว่าเกี่ยวเนื่องกับการหย่อนบัตรเลือกตั้งของชาวนา ที่จะเลือกพรรคการเมืองที่สัญญาจะช่วยเหลือตนในทันที ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่กำลังกลายเป็นมาตรฐานของทุกพรรคการเมืองในประเทศไปซะแล้ว ซึ่งยอมรับว่าชาวนาได้ราคาข้าวตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ แต่ผลกระทบที่ตามมากลับเป็นเรื่องที่น่าวิตกมากกว่า
 
          นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งบทความจาก นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "จำนำข้าวสไตล์ทักษิณ" ผ่านทางเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira  เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
 
          โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า "นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ผมรับได้ในทางการเมือง เป็นการใช้อำนาจรัฐและเงินงบประมาณรัฐแทรกแซงขนานใหญ่เข้าไปในตลาดข้าว ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุด เป้าหมายเพื่อ "เกลี่ย" ผลประโยชน์การค้าข้าวที่เคยจัดสรรแบ่งกันแต่เดิมในหมู่กลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสียใหม่ โดยให้ประโยชน์กับชาวนาบางกลุ่มมากขึ้น ซึ่งก็ย่อมมีผู้เสียประโยชน์ ไม่พอใจและพยายามต่อต้านคัดค้าน เช่น ผู้ส่งออกข้าว เป็นต้น ต้นทุน/ผลได้การเมืองเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งวัดน้ำหนักทางสังคมและรัฐบาลคงต้องจ่าย/ได้คะแนนในทางการเมือง"
 
          "ในแง่เศรษฐกิจและการบริหารจัดการ นโยบายจำนำข้าวแบบที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำ มีจุดอ่อนอยู่ และเสี่ยงสูง (แบบฉบับทักษิณ) กล่าวคือ มีจุดอ่อนรั่วไหลเยอะ ต้นทุนจะสูงกว่าที่ควรจะเป็น และการยืนนานของนโยบายนี้ไม่แน่ไม่นอนว่ารัฐจะทนควักกระเป๋าแทรกแซงเพื่อ "เกลี่ย" ผลประโยชน์ใหม่ไปอีกนานเท่าไร"
 
          และนี่คือความดุเดือดทางทัศนคติจากนักวิชาการหลายฝ่าย ที่ต่อสู้กันผ่านทางบทความที่จะแสดงให้เห็นถึงมุมมองใหม่ ๆ ของปัญหารวมทั้งข้อดีในมุมอื่น ๆ ที่หลายคนอาจจะยังคิดไม่ถึง ซึ่งประชาชนคนทั่วไปคงต้องอ่านและพิจารณาให้ดีว่า การรับจำนำข้าว แท้จริงแล้วสร้างประโยชน์หรือสร้างปัญหามากกว่ากัน!?

 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทัศนคติเดือด! ปัญหาจำนำข้าว .. ในต่างมุมมอง โพสต์เมื่อ 3 ธันวาคม 2555 เวลา 11:25:12 22,818 อ่าน
TOP