x close

พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม



พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

            พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สิ้นพระชนม์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ท่ามกลางความโศกเศร้าอาวรณ์ของชาวพุทธทั่วโลก

            เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ชาวพุทธได้รับทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สร้างความโศกเศร้าอาดูรเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราช ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อพุทธศาสนาอย่างมากมาย ทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นทั่วโลก จนได้รับทูลถวายตำแหน่งผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 2555

พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม

พระประวัติส่วนพระองค์

            สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ในครอบครัวคชวัตร ทรงเป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร เมื่อชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน)

            ขณะทรงพระเยาว์ สมเด็จพระสังฆราชทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ จนญาติ ๆ ได้บนไว้ว่าหากหายป่วยจะให้พระองค์บวชแก้บน กระทั่งในปี พ.ศ. 2469 ขณะที่มีพระชันษาได้ 14 ปี พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนที่วัดเทวสังฆาราม ก่อนจะทรงมาศึกษาพระธรรมที่วัดเสนหา จังหวัดนครปฐม ภายหลัง พระเทพมงคลรังษี  (ดี พุทธฺโชติ) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้พาพระองค์ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) จึงทรงประทานนามฉายาให้ว่า "สุวฑฺฒโน" มีความหมายว่า "ผู้เจริญดี"

            เมื่อพระชนมายุครบอุปสมบท สมเด็จพระสังฆราชทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 จากนั้นทรงเดินทางเข้ามาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก่อนจะเข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารตลอดมา จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2484

            หลังจากพระองค์ท่านสอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และทรงเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณร กระทั่งในปี พ.ศ. 2488 พระองค์ได้ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย รวมทั้งเป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา

            ในปี พ.ศ. 2490 ขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้ 34 ปี ทรงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณคณาภรณ์ หลังจากนั้น พระองค์ก็ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโสภณคณาภรณ์ ซึ่งเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระสังฆราชเป็นรูปแรก

            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงเป็นผู้ถวายความรู้ในพระธรรมวินัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

           จากนั้น พระองค์ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2504 จะทรงดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ พร้อมรับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร


            ในปี พ.ศ. 2506 พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร โดยเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นี้เป็นองค์แรก ในปี พ.ศ. 2363 และต่อมาก็มิได้พระราชทานสมณศักดิ์นี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย จนถึงปี พ.ศ. 2515

พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม

            จากนั้น ในปี พ.ศ. 2517 พระองค์ท่านได้รับตำแหน่งประธานกรรมการคณะธรรมยุต และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกทรงผนวชในปี พ.ศ. 2521 สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ และถวายความรู้ในพระธรรมวินัย

            กระทั่งในปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สิ้นพระชนม์ ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และถือเป็นสมเด็จพระญาณสังวรสังฆราชพระองค์แรกของประเทศไทย

            สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมายาวนาน กระทั่งเริ่มมีอาการพระประชวรด้วยโรคชราภาพในช่วงปี พ.ศ. 2543 ต้องเข้ารับการรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเสด็จเข้า-ออกโรงพยาบาลมาโดยตลอด ก่อนจะมีอาการทรุดลงในช่วงกลางปี 2556 ต้องพักรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อให้คณะแพทย์ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการก็ทรุดลงตามลำดับ กระทั่งเมื่อเวลา 19.30 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 สมเด็จพระสังฆราชได้สิ้นพระชนม์ จากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต รวมพระชันษา 100 ปี นับเป็นพระสังฆราชที่ทรงดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 23 ปี และทรงมีพระชันษายืนยาวที่สุดในประวัติคณะสงฆ์ไทย


ลำดับสมณศักดิ์

            - พ.ศ. 2490 พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโสภณคณาภรณ์

            - พ.ศ. 2495 พระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม

            - พ.ศ. 2498 พระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม

            - พ.ศ. 2499 พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกคุณวิภูสิต ธรรมวิทิตคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

            - พ.ศ. 2504 พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

            - พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ อุดมศีลจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี 

            - พ.ศ. 2532 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัญวาสี สมเด็จพระสังฆราช

พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม

พระกรณียกิจ

            ตลอดห้วงระยะเวลาที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาอย่างยาวนานนั้น ทรงปฏิบัติบำเพ็ญต่อพระศาสนา ประชาชน และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ พอสรุปโดยสังเขป ดังนี้

ด้านการพระศาสนา

            สมเด็จพระสังฆราชทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย และยังทรงเป็นพระอาจารย์รุ่นแรก รวมถึงมีพระดำริส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ขยายการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งประทานทุนการศึกษาแก่พระภิกษุให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ

            ที่ผ่านมา พระองค์ท่านได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัท และประทานโอวาทสั่งสอนพระภิกษุสามเณรบวชใหม่ในฐานะพระอุปัชฌาย์อย่างไม่ว่างเว้น รวมทั้งได้นิพนธ์ตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนาอีกมากมาย ทั้งประเภทตำราเรียน พระธรรมเทศนา งานแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 100 เรื่อง และงานเขียนทั่วไปอีกจำนวนมาก

            นอกจากนี้ ยังเสด็จไปทรงปฏิบัติพระศาสนกิจและเยี่ยมเยือนพุทธศาสนิกชนในภาคต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี และด้วยทรงมีความเชี่ยวชาญในด้านภาษาเป็นอย่างดี ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และสันสกฤต พระองค์จึงได้นำความรู้ด้านภาษามาใช้ประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ

            สำหรับพระกรณียกิจด้านการพระศาสนาในต่างประเทศนั้น พระองค์ทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และเสด็จไปดูงารพระศาสนาและการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย นับเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

            พระองค์ท่านได้สร้างวัดพุทธรังษีขึ้น ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นการนำพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก และยังให้กำเนิดคณะสงฆ์นิกายเถรวาทขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งยังช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยะกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน

ด้านสาธารณูปการ

            สมเด็จพระสังฆราชทรงบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นประโยชน์จำนวนมาก อาทิ พระอารามวัดต่าง ๆ มณฑลประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ ขณะเดียวกันก็ยังทรงก่อสร้างอาคารเรียน 2 หลัง คือ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร และโรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี อีกทั้งยังได้ประทานทุนการศึกษาให้แก่เด็กเรียนดีแต่ยากจนเป็นจำนวนมาก

ด้านสาธารณสุขและสาธารณกุศล

            พระองค์ท่านทรงอำนวยการก่อสร้างตึกหลายแห่งในหลาย ๆ โรงพยาบาล อาทิ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปริณายก พร้อมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช ณ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม

พระเกียรติยศ

            หลังจากพระองค์ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ก็ปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อการศาสนาและสาธารณประโยชน์มาโดยตลอดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2555 ผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้ทูลถวายตำแหน่ง "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา" ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด นับเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้ทรงเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติตั้งอยู่ธรรมะนำไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองนับเป็นแบบอย่างของสากลโลก

            จากพระประวัติโดยสังเขปที่ได้กล่าวมานี้ ก็ทำให้พุทธศาสนิกชนทราบได้ว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม และทรงปฏิบัติพระศาสนกิจในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์ พระพุทธศาสนา และประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง แม้พระองค์ท่านจะจากไปแล้ว แต่คุณงามความดีและคำสอนของพระองค์ท่านจะยังคงอยู่สืบไป



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, , , วิกิพีเดีย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2558 เวลา 16:07:14 84,471 อ่าน
TOP