x close

เมื่อโลกร้อน และน้ำแข็งละลาย!!!




           ผมหย่อนตัวผ่านร่องน้ำแข็งทะเลลงสู่มหาสมุทรอาร์กติก ในตอนบ่ายอันหนาวเหน็บของเดือนพฤษภาคม น้ำทะเลเย็นจัดปะทะใบหน้าและศีรษะที่สวมหมวกยางกันน้ำนีโอพรีนอย่างแรงจนผมเกือบอาเจียน จุดที่ผมดำน้ำอยู่ทางใต้ของแลงแคสเตอร์ซาวนด์ นอกชายฝั่งทางเหนือสุดของเกาะแบฟฟินในอ่าวแคนาดา อุณหภูมิของน้ำคือ -1.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเกือบจะเท่ากับอุณหภูมิน้ำทะเลก่อนแข็งตัว 

           ผมกัดท่อนำอากาศแน่นขณะต่อสู้กับอาการคลื่นเหียน ไม่นานผมก็หายใจช้าลง ศีรษะเริ่มชินกับความเย็นจัด  ผมดิ่งตัวลงสู่ใต้ทะเลอันมืดมิดสักพักและเงยขึ้นมองน้ำแข็งที่ผิวน้ำ ใจหวังจะเห็นผืนน้ำแข็งสีฟ้าราบเรียบและไร้สิ่งมีชีวิตอย่างที่มักจะเป็นในช่วงต้นฤดูกาลเช่นนี้ แต่มีบางสิ่งผิดปกติ

           แผ่นน้ำแข็งนั้นเปรอะไปด้วยสีเขียวและน้ำตาลซึ่งกำลังเคลื่อนไหว ผมกะพริบตาและวัดระดับความลึกที่ผมอยู่ พยายามดูให้แน่ใจว่าไม่ได้หน้ามืด เพราะนั่นอาจทำให้ผู้ที่ดำน้ำตามลำพังใต้เพดานน้ำแข็งหนาเกือบหนึ่งเมตรเช่นนี้เกิดอันตรายถึงตายได้ แล้วผมก็ตระหนักว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่น้ำแข็ง แต่เป็นฝูงแอมฟิพอด (amphipod) หรือครัสเตเชียนรูปร่างคล้ายกุ้ง กำลังกินแพลงก์ตอนพืชซึ่งเติบโตอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งในฤดูใบไม้ผลิอันเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กลับมาส่องแสงในแถบอาร์กติกอีกครั้ง น้ำแข็งและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กนี้คือรากฐานของระบบนิเวศที่สัตว์ขนาดใหญ่กว่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมีขั้วโลก วาฬ นก และแมวน้ำ ต่างพึ่งพาอาศัย 

           ผมอยู่ที่อ่าวแคนาดามาตลอดชีวิต และงานส่วนใหญ่ก็คือการถ่ายภาพรอยต่อน้ำแข็งกับทะเล ตอนที่ผมเริ่มทำงาน น้ำแข็งดูจะยิ่งใหญ่และไม่มีวันเหือดหายแม้ในเดือนที่อากาศอบอุ่นที่สุด น้ำแข็งส่วนมากก็ไม่ละลาย

           น้ำแข็งไม่ได้เป็นเพียงภูมิประเทศเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนผืนน้ำแข็งอันกว้างใหญ่ไพศาล หมีขั้วโลกจะออกเตร็ดเตร่และหาเหยื่อบนผืนน้ำแข็งตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูใบไม้ผลิ

           ส่วนแมวน้ำก็พักผ่อนและตกลูกบนน้ำแข็ง เหล่าวาฬโบว์เฮดตัวโตซึ่งดูราวกับกองเรือรบขนาดใหญ่ ว่ายมากินแอมฟิพอดและโคพีพอด (copepod) โดยมีวาฬเบลูกาและนาร์วาฬร่วมวงล่าลูกปลาค้อดอาร์กติก ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในร่องน้ำแข็งขนาดนิ้วมือสอดผ่านเท่านั้น ผมนึกภาพอาร์กติกที่ปราศจากน้ำแข็งไม่ออกเลย

           แต่ไม่ถึงสิบปีต่อมา สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายในอัตราที่น่าหวั่นวิตก ขณะที่ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงเรื่อยๆ ความเป็นไปได้ว่าน้ำแข็งในทวีปอาร์กติกจะละลาย อย่างน้อยก็ในช่วงฤดูร้อน ใกล้เป็นจริงขึ้นทุกที อ่าวแลงแคสเตอร์ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นขอบด้านตะวันออกของเส้นทางเดินเรือนอร์ทเวสต์แพสเสจอันโด่งดัง อาจได้บันทึกประวัติศาสตร์ทางทะเลหน้าใหม่ในไม่ช้านี้

           เมื่อน้ำแข็งละลาย การเดินเรือในอ่าวแลงแคสเตอร์และบริเวณใกล้เคียงจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก พาให้เรือสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่เข้าไปยังบริเวณที่แทบไม่เคยเข้าถึงได้ นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าในฤดูร้อนอาร์กติกจะไม่มีน้ำแข็งเหลือเลย ซึ่งจะทำให้สัตว์อย่างหมีขั้วโลกสูญพันธุ์ในเวลาไม่ถึงศตวรรษนี่คือการคาดการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมเคยได้ยิน

           ภาพถ่ายชุดนี้รวบรวมผลงานในช่วงสิบปีที่ผ่านมาของผม เป็นดังภาพสะท้อนความรักที่ผมมีต่อน้ำแข็ง และทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลกสีฟ้าขาว ภาพเหล่านี้สื่อสารข้อหนึ่งที่ผมเข้าใจแจ่มแจ้งทันทีที่เห็นแอมฟิพอดใต้น้ำแข็งและได้ยินเสียงแหลมของวาฬที่ว่ายเข้ามาในวันนั้น สารที่ว่าก็คือ หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ น้ำแข็งก็คงละลายหมดเมื่อนั้น อาร์กติกที่ปราศจากน้ำแข็งก็คงไม่ต่างจากสวนที่ไม่มีดิน

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- 10 ปรากฎการณ์ประหลาด จากเหตุ "โลกร้อน!"
- ภาพหิมะ แถบแอนตาร์กติก้า ละลาย เพราะโลกร้อน
- นักวิทย์ชี้ ไทยเจออากาศ ร้อนสุดๆ 60 วัน
- เอลนีโญส่งผลทะเลไทย น้ำเย็นลงมีตะกอนขุ่นทำให้คัน 
- ตะลึง! ทะเลเหือด
- เสียงเตือนจาก "อัล กอร์" "หยุดโลกร้อน...คุณทำได้ !"
- เมืองมืดเพื่อโลกสว่าง
- "สมิทธ" เตือนมหาวิบัติภัย ยัน "ภาวะโลกร้อน" ของจริง
- โลกร้อน...ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง จริงหรือ? 
- “ภาวะโลกร้อน” ความจริงช็อกโลก!!! 
- พิษวิกฤตโลกร้อนน้ำตกแห้ง-ป่าลด 
- เผย กทม.ปีนี้ ร้อนทะลุ 40 องศา 
- "โลกร้อน"พาโลกมนุษย์ ย้อนกลับสู่ยุคไดโนเสาร์! 
- ไทยมีเอี่ยวทำโลกร้อน ติดอันดับ 9 โลกปล่อยก๊าซสูงสุด
- ปี 2549 ทำสถิติ ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 


เรื่องโดย พอล นิกเคลน ภาพถ่ายโดย พอล นิกเคลน

ภาพถ่ายจาก "เมื่อน้ำแข็งละลาย", นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย , มิถุนายน 2550

อ่านเรื่องราวทั้งหมดอย่างจุใจได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทยค่ะ

 
ข้อมูลจาก

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อโลกร้อน และน้ำแข็งละลาย!!! อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2551 เวลา 16:08:17 17,881 อ่าน
TOP