วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ 20 กันยายน ของทุกปี


          วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง 20 กันยายน เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในการรณรงค์รักษาแหล่งน้ำของประเทศ ถ้าอยากรู้ว่า วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง มีความเป็นมาอย่างไร ลองไปดู ประวัติวันอนุรักษ์รักษาคูคลอง ที่นำมาฝากกัน

วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง

           วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ประชาชนควรรู้ และให้ความสำคัญด้วยการหันมาดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่เปรียบเสมือนสายเลือดหลักของประเทศให้กลับมาใสสะอาด ปราศจากขยะและมลพิษ

           ส่วนความเป็นมาของวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ 20 กันยายน ตลอดจนกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์รักษาแหล่งน้ำภายในประเทศไทย มีอะไรบ้างนั้น ลองไปดู ประวัติวันอนุรักษ์รักษาคูคลอง พร้อม ๆ กันเลย

วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง
ภาพจาก : nimon / Shutterstock.com

ความเป็นมาของวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ

 
           หากพูดถึงวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ คงไม่มีใครคาดคิดว่าที่มาที่ไปของวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาตินั้นมาจากคลองแสนแสบ ที่ปัจจุบันยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือที่สำคัญเส้นหนึ่งของชาวกรุงเทพฯ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

           เพียงแต่ภาพของคลองแสนแสบในปัจจุบันที่เป็นคลองน้ำครำสายใหญ่และสายยาวที่สุดของกรุงเทพฯ มองไปทางไหนก็เห็นแต่หญ้าคา ผักตบชวา ซองขนม หรือซากขยะต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับภาพคลองแสนแสบในอดีตช่างต่างกันลิบลับ เพราะในอดีตนั้นคลองแสนแสบยังคงเป็นน้ำใสแจ๋ว มีปลามาอาศัยอยู่มากมาย แถมยังเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ยังดำผุดดำว่ายกันอย่างสบายใจ ไม่ต้องคอยกังวลกับเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำครำแบบปัจจุบันอีกด้วย
 
           แม้ว่าในสมัยนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ติดคลองแสนแสบ หรือพื้นที่อื่น ๆ จะพยายามหาทางพัฒนาคลองแสนแสบให้กลับมาเป็นดังเดิม แต่ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย จนกระทั่งเมื่อปี 2537 ได้มี "กลุ่มบุคคลผู้รักน้ำ" เกิดขึ้น โดยทั้งหมดได้รวมตัวกันขึ้นในรูปของคณะกรรมการ และตั้งชื่อโครงการว่า "โครงการรวมใจภักดิ์ รักษ์คลองแสนแสบ" ประกอบด้วย

           - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น)

           - ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น)

           - ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ในขณะนั้น)

           - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น)

           - ปลัดกรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น)

           - กองทัพบก 

           - นายธรรมนูญ หวั่งหลี

           - นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์

           - นายขรรค์ชัย บุนปาน

           - อธิบดีกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

           - สถาบันการศึกษา อาทิ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา หรือราชนครินทร์ สถาบันราชภัฏเพชรบุรี (ในขณะนั้น)

           - โรงเรียนมัธยมและประถมศึกษา ในสังกัดกรมสามัญศึกษา และสังกัดกรุงเทพมหานคร

           - แกนนำประชาชนริมคลองแสนแสบ อาทิ นายวินัย สะมะอุน

           โดยวัตถุประสงค์สำคัญเพียงอย่างเดียวของคณะกรรมการชุดนี้ คือ การร่วมกันดูแลและพัฒนาคลองแสนแสบที่มีความสำคัญในอดีตให้มีสภาพดีขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อหาทางฟื้นฟูลำคลองแสนแสบมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การรณรงค์ทำความสะอาดคลองแสนแสบตลอดสาย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2537

           และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางเรือ จากท่าน้ำผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงประตูท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของชมรมรวมใจภักดิ์รักต้นไม้ แม่น้ำลำคลอง และสิ่งแวดล้อม และการเสด็จประพาสทางเรือครั้งนี้ได้สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นที่มาของความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่จะสืบสานปณิธานและพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า "คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป"
 

           ซึ่งจากเหตุการณ์ในวันที่ 20 กันยายน 2537 ทำให้ผู้นำท้องถิ่นริมคลองแสนแสบได้ร่วมกันจัดประชุมสัมมนาขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538 เพื่อหาทางฟื้นฟูลำคลองแสนแสบ โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุมดังกล่าวด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็น "วันอนุรักษ์และรักษาแม่น้ำ คูคลองแห่งชาติ"

           ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็น "วันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ" อีกทั้งยังกำหนดให้ปี 2544-2546 เป็นปีแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง และมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม แม่น้ำ คู คลอง

           หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวออกมา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะใช้วันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันกลับมาให้ความสำคัญและดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองเหมือนเดิม
 

วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง

กิจกรรมวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ

 
           ในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี หน่วยงานราชการ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ จะรวมตัวจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ของตนตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำลำคลอง อาทิ

          - การจัดนิทรรศการ

          - การประกวดวาดภาพคู คลอง ของฉัน

          - การเสวนาการฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ

          - การช่วยกันทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง

          เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองของประเทศซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนไทยให้กลับมาสดใสอีกครั้ง เพื่อน ๆ สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ รวมถึงการช่วยกันรณรงค์ให้ทุก ๆ คนหันมาสนใจและช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำให้ใสสะอาด สวยงาม และอยู่คู่กับคนไทยไปตราบนานเท่านาน

เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

บทความวันสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ



ขอบคุณข้อมูลจาก : lib.ru.ac.th, pcd.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ 20 กันยายน ของทุกปี อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2567 เวลา 15:14:36 34,899 อ่าน
TOP
x close