x close

ภาพเขียนสีเขายะลา หลักฐานประวัติศาสตร์ไทยหลายพันปี ที่วันนี้ระเบิดเป็นเหมืองหิน

          โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา แหล่งค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายพันปี ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่มาวันนี้กลับถูกระเบิดทำเหมืองหิน


          จากกรณีที่กรมศิลปากร มีประกาศเรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน โดย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้สั่งการให้แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ให้มีพื้นที่ประมาณ 693 ไร่ 75 ตารางวา จากเดิม 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เพื่อผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรม และลดความรุนแรงที่อาจเกิดจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ นำไปสู่การเรียกร้องของชาวบ้านที่มองว่าการออกประกาศดังกล่าวเป็นการเอื้อต่อธุรกิจอุตสาหกรรมหินของกลุ่มนายทุนในพื้นที่ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว : กรมศิลปากร หั่นพื้นที่โบราณสถานเขายะลา ทำเหมืองหิน แม้มีภาพเขียนสีพันปี

ภาพเขียนสีเขายะลา
ภาพจาก Google Map แสดงที่ตั้งของเขายะลา (แคปภาพวันที่ 4 มีนาคม 2563 เวลาประมาณ 21.21 น.) โดยพื้นที่ด้านเหนือและตะวันออกของภูเขาได้มีการระเบิดหินเรียบร้อยแล้ว

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 5 มีนาคม 2563 กระปุกดอทคอมได้ตรวจสอบไปยังเว็บไซต์ ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ภาพเขียนสีเขายะลา ระบุว่า เขายะลา เป็นภูเขาหินปูน ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดยะลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 80-270 เมตร ยาวประมาณ 2.7 กิโลเมตร กว้างที่สุดทางตอนใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร จากการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ หจก.คูน้ำคันดิน พบถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ตั้งแต่ส่วนตอนล่างของเขาไปจนส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในลักษณะหุบเขา ปัจจุบันพื้นที่เขายะลาทางด้านทิศเหนือและตะวันออกบางส่วนถูกระเบิดทำลายจากการทำเหมืองหินปูน 


          สำหรับอายุสมัยของเขายะลานั้นมีอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี จากการสำรวจทางโบราณคดีพบแหล่งภาพเขียนสีบนผนังหินของเขายะลา 4 พื้นที่ คือ

          1. แหล่งภาพเขียนสีบริเวณเพิงผาตอแล (ตอลัง) ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา ลักษณะของภาพเขียนสีเป็นภาพเขียนสีแดง เป็นภาพมือทาบและภาพสัญลักษณ์

          2. แหล่งภาพเขียนสีบริเวณเพิงผาและโพรงหินด้านทิศใต้ของเขายะลา ลักษณะภาพเขียนสีเป็นการเขียนลงบนผนังหินด้วยสีดำแบบทึบ แสดงภาพกลุ่มคนและสัตว์ (ช้าง) อยู่ปะปนกัน เชื่อว่ารูปส่วนใหญ่น่าจะเป็นภาพเขียนในสมัยปัจจุบันที่เขียนทับลงบนภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์

          3. ภาพเขียนสีบริเวณเพิงหินช่องทางเดินตอนใต้ของเขายะลา พบเป็นภาพเดี่ยวบริเวณเพิงผาด้านทิศใต้ของเขายะลา ภาพหันไปทางทิศใต้ เขียนแบบลงสี (Pictograph) จากดินสีแดงหรือแร่เฮมาไทต์ (Hematite) เป็นแบบกิ่งไม้ (Stich man) ศีรษะเป็นภาพครึ่งวงกลมมีเส้นตรงยื่นออกมาจากปาก สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพคนเป่าไม้ซาง หรือเป่าลูกดอก

          4. ภาพเขียนสีบริเวณด้านทิศใต้ของเขายะลา ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณหุบเขาและโพรงถ้ำด้านตะวันตกของเขายะลา และบริเวณหน้าเพิงผาภาพเขียนสีด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา


          ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ ที่มีการค้นพบที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลานั้นพบว่า มีชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์, กระดูกสัตว์, ชิ้นส่วนกระดูกที่ไม่สามารถระบุได้, เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน, เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ, เครื่องมือหินกะเทาะ, โกลนขวานหิน, ขวานหินไม่มีบ่า และดินสีแดง

          ซึ่งชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์นั้น จากการศึกษาของนักโบราณคดี พบว่า เป็นชิ้นส่วนกะโหลกของวัยผู้ใหญ่ 4 ชิ้น ชิ้นส่วนกระดูกเชิงกรานของมนุษย์วัยเด็ก 1 ชิ้น และมีชิ้นส่วนกระดูกอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังกำหนดอายุไม่ได้

          อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ทราบอายุสมัยที่ชัดเจน ซึ่งหากไม่ถูกทำลายไปเสียก่อน และมีนักโบราณคดีเข้ามาศึกษาอยู่เรื่อย ๆ และเพิ่มพูนองค์ความรู้ ก็คงสามารถหาคำตอบได้ว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นอยู่ในยุคใด และนำไปสู่การตอบคำถามของมนุษยชาติได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขามีชีวิต ความเป็นอยู่ และมีแนวคิดเช่นไร


ข้อมูลจาก
เว็บไซต์ ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาพเขียนสีเขายะลา หลักฐานประวัติศาสตร์ไทยหลายพันปี ที่วันนี้ระเบิดเป็นเหมืองหิน อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2563 เวลา 22:27:45 32,129 อ่าน
TOP