วันเด็กหายสากล ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี มาดูประวัติความเป็นมาว่า เหตุใดจึงกำหนดวันเด็กหายเป็นวันสำคัญของโลก รวมถึงวิธีป้องกันเด็กหาย ทำอย่างไรได้บ้าง
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยใน 1 วัน มีเด็กหายไม่น้อยกว่า 3 คน โดยที่ 2 ใน 3 ของเด็กที่หายไป มีอายุน้อยกว่า 15 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก และอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายไป หรือถูกลักพาตัวออกจากบ้าน คือ 4 ขวบ เป็นสถิติจากศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
ทั้งนี้ แน่นอนว่าเด็กหายจากบ้านนั้นจะต้องเจอกับความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งการคุกคาม หาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ถูกล่อลวง รวมไปถึงกระทำความรุนแรง ซึ่งภัยดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหากับผู้คนทั่วโลก จึงมีการกำหนดให้วันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันเด็กหายสากล (International Missing Children’s Day) เพื่อหวังให้สังคมตระหนักถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กทุกคน
ประวัติวันเด็กหายสากล 25 พฤษภาคม
ความเป็นมาของ วันเด็กหายสากล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อ เด็กชายอีตัน แพตซ์ วัย 6 ขวบ ชาวเมืองแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สูญหายไประหว่างเดินออกจากอพาร์ตเมนต์เพื่อไปขึ้นรถโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่มีองค์กรช่วยเหลือในการตามหาเด็กหาย มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครเท่านั้นที่ร่วมมือกันค้นหา
ทั้งนี้ จากคดีดังกล่าวส่งผลให้เริ่มมีการวางระบบติดตามหาเด็กหายที่ถูกลักพาตัวอย่างจริงจัง โดยภาพของอีตันที่ใช้ในการประกาศหาตัวอยู่บนกล่องนมที่วางจำหน่ายทั่วสหรัฐฯ กลายเป็นต้นแบบของการประกาศหาคนหายบนกล่องนมจนถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่ถึงแม้จะมีความพยายามเป็นอย่างมาก สุดท้ายแล้วก็ไม่พบเด็กชายคนนี้
ต่อมาในปี 2526 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันเด็กหายสากล (International Missing Children’s Day) เพื่อให้ทั่วโลกร่วมกันตระหนักถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก รวมถึงมีความหวังที่จะตามหาเด็กให้กลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างปลอดภัย
เด็กหาย ป้องกันอย่างไรได้บ้าง
แน่นอนว่าไม่มีครอบครัวใดอยากให้บุตรหลานของตนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ไม่ควรปล่อยปละละเลยเด็กให้อยู่ตามลำพัง เพราะผู้ก่อเหตุอาจจะใช้โอกาสดังกล่าวเข้ามาตีสนิทล่อลวงเด็กได้ โดยเบื้องต้นผู้ปกครองสามารถป้องกันเด็กหาย หรือพลัดหลงได้ ดังนี้
1. ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า
2. ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน หากเกิดเหตุพลัดหลงจะได้มีข้อมูลในการประชาสัมพันธ์ติดตามหาตัวที่ชัดเจน
3. ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อของครอบครัว ติดตัวเด็กไว้ ควรมีเบอร์ติดต่อสำรองมากกว่า 1 หมายเลข
4. สอนลูกว่าหากพลัดหลงจะต้องนัดเจอกันจุดใด และให้ใครช่วยเหลือ
5. สอนลูกว่าหากตกอยู่ในอันตราย หรือมีคนแปลกหน้าจูงมือไป จะต้องตะโกนให้คนช่วย
เช็ก ปฏิทิน 2566 ทั้งวันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ