

ประวัติวันสันติภาพโลก
แต่เดิมวันสันติภาพโลกไม่ได้มีวันที่แน่นอนอย่างในปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ.
1981 คณะกรรมการสหประชาชาติได้ประกาศมติที่รับรองโดยคอสตาริกา
ให้ทุกวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายน ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสามัญ
เป็นวันสันติภาพโลก หรือวันสันติภาพสากล เพื่อให้ความสำคัญกับสันติภาพ
แต่หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2001 หรืออีก 20 ปีต่อมา
ก็มีมติใหม่จากสหราชอาณาจักร และคอสตาริกา กำหนดให้วันที่ 21
กันยายน ของทุกปี เป็นวันยุติการสู้รบ และประกาศให้เป็นวันสันติภาพโลก
หรือวันสันติภาพสากล (The International Day of Peace)
เพื่อขอให้ประชาชนทุกประเทศหยุดยิง
ลดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน
รวมทั้งมีการเชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานต่าง ๆ
มางานเฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลก และกำหนดให้ ค.ศ.
2001-2010
เป็นทศวรรษสากลเพื่อวัฒนธรรมสันติภาพและความไม่รุนแรงเพื่อเด็กของโลก
โดยมีจุดมุ่งหมาย 6 ประการ ดังนี้
1. ให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้นหรือลำเอียง
2. ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
3. แบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
4. รับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
5. สงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบและเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก
6. สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสตรี
โดยจุดมุ่งหมายทั้ง 6 ประการ
มีเป้าหมายให้ผู้คนในสังคมทุกกลุ่มอายุได้ตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพภายใน
ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมสันติภาพที่เกิดจากความสงบเงียบภายในจิตใจของแต่ละคน
เพื่อให้เราได้รู้จักตนเองและแหล่งพลังชีวิตที่สามารถใช้ปัญญาเป็นเครื่องชี้นำทางในการขจัดทุกข์และสร้างสันติสุขให้แก่ตนเอง รวมทั้งแบ่งปันสิ่งดี
ๆ ให้กับผู้อื่น
คำขวัญวันสันติภาพโลก
นอกจากในวันนี้ของทุกปีจะเป็นวันที่ทุกคนหยุดใช้ความรุนแรง
รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงความสำคัญแล้วนั้น
ทางสหประชาชาติยังได้กำหนดคำขวัญในแต่ละปี เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติอีกด้วย
เช่น
ในปี 2007 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า "สันติภาพ
คือ เป้าหมายสูงสุดของสหประชาชาติ" (Peace is the United Nations' highest
calling)
ในปี 2008 สำนักงานสหประชาชาติ ในติมอร์-เลสเต
ได้ตั้งคำขวัญสำหรับวันสันติภาพสากลในติมอร์-เลสเต ว่า
"คุณทำอะไรเพื่อสันติภาพหรือเปล่า" (What are you doing for peace ?)
ในปี 2009 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า
"เราต้องปลดอาวุธเพื่อทำเครื่องหมายสู่การนับถอยหลัง 100 วัน
ซึ่งนำไปสู่วันสันติภาพสากลที่ 21 กันยายน" (WMD-We Must Disarm to mark
the 100-day countdown which lead to the International Day of Peace on 21
September)
ในปี 2010 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า "สันติภาพ = ในอนาคต, คณิตศาสตร์เป็นเรื่องง่าย"(Peace=Future, The math is easy)
ในปี 2011 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า "สันติภาพและประชาธิปไตย :
ทำให้เสียงของคุณได้ยิน"(Peace and Democracy : make your voice heard)
ในปี 2012 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า "สันติภาพที่ยั่งยืน
เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" (Peace and Democracy : make your voice heard)
ในปี 2014 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า "สิทธิของประชาชนเพื่อสันติภาพ" (Right of Peoples to Peace)
ในปี 2015 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า
"ความร่วมมือเพื่อสันติภาพและศักดิ์ศรีเพื่อทุกคน" (Partnerships for Peace
- Dignity for All)
ในปี 2017 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า "Together for Peace: Respect, Safety and Dignity for All"
ในปี 2018 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า "The Right to Peace - The Universal Declaration of Human Rights at 70

เมื่อได้รับรู้ถึงความสำคัญของวันสันติภาพโลกกันไปแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 21 กันยายน ทุกคนควรตระหนักและหยุดใช้ความรุนแรง หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม โดยใช้เวลาเพียง 1 นาที หยุดนิ่งให้กับความสงบ เพื่อระลึกถึงสันติภาพของโลก รวมทั้งเพื่อให้ตัวเองได้รับรู้ถึงความสงบในจิตใจ รับรู้ความต้องการของตนเอง เพื่อเป็นพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป
กิจกรรมในวันสันติภาพโลก
ในวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี ยังมีกิจกรรมดี ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการหยุดใช้ความรุนแรง โดยมูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์อ่านสารสันติภาพของผู้นำประเทศและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และกิจกรรมยืนสงบนิ่งร่วมจิตอธิษฐานเป็นเวลา 1 นาที ในสถานศึกษาทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นการสร้างกระแสให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพ และร่วมมือกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลก
นอกจากนี้ทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยังสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่เน้นความสำคัญของการใช้เวลา 1 นาที หยุดนิ่งให้ความสงบ ในบทเพลง "เพียงหนึ่งนาที" ซึ่งเป็นสื่อหนึ่งของโครงการ "คุณธรรมหนุนนำสันติสุข" ของมูลนิธิบราห์มา กุมารี ราชาโยคะ มหาวิทยาลัยทางจิตของโลก เพื่อเป็น traffic control ควบคุมการจราจรของจิต และเป็นสื่อในการเตือนตนเองให้เรียนรู้ความสงบนิ่งภายในตัวเองอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย), สหประชาชาติ, thaigoodview.com