เปิดประวัติ บิ๊กต่อ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผงาดนั่ง ผบ.ตร. คนที่ 14

          เปิดประวัติ บิ๊กต่อ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เจ้าของฉายามือปราบสายธรรมะ เผยเส้นทางชีวิตจากพนักงานบริษัทน้ำมัน สู่จุดสูงสุดข้าราชการตำรวจ ผงาด ผบ.ตร. คนที่ 14

ประวัติ ต่อศักดิ์ สุขวิมล ตัวเต็ง ผบ.ตร. คนที่ 14

ประวัติส่วนตัว ต่อศักดิ์ สุขวิมล

          พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล มีชื่อเล่นว่า ต่อ เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2507 เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี โดยเป็นน้องคนเล็กในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 5 คน และเป็นน้องชายของ พล.ต.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์และเลขาธิการพระราชวัง

          ก่อนจะเข้าสู่วงการตำรวจ ในปี 2540 พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เคยเป็นพนักงานของบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ และก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนได้รับเงินเดือนสูงถึง 8 หมื่นบาท หลังจากทำงานได้ถึง 7 ปี เขาก็ตัดสินใจลาออก เพื่อเดินหน้าทำตามความฝันในวัยเด็ก นั่นคือ การเป็นตำรวจ 

เข้าสู่เส้นทางถนนสีกากี

          พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล สานฝันตัวเองในวัยเด็ก โดยการเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ วัน อยู่บำรุง ก่อนที่จะเริ่มต้นชีวิตเป็นตำรวจ ในปี 2540 ในตำแหน่ง รองสารวัตร กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 จากนั้นโยกย้ายมาเป็นรองสารวัตรที่กองปราบปราม แล้วขึ้นไปเป็นสารวัตรที่ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะโยกกลับมาเป็นสารวัตรกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบฯ และได้ขึ้นเป็นรองผู้กำกับ ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ และรองผู้บังคับการปราบปราม ตามลำดับ 

          ในปี 2561 หน่วยงานกำกับการปฏิบัติการพิเศษได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมราชทานนามหน่วยงานใหม่ เป็น กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ โดยมี พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บังคับการคนแรก ก่อนที่เขาจะมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) และมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.)

          กระทั่งปัจจุบัน พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในส่วนของการเป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.), ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.), ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.)

เจ้าของฉายา มือปราบสายธรรมะ

          ในระหว่างการรับราชการ บรรดาสื่อมวลชนสายอาชญากรรม - ตำรวจ ขนานนามให้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับฉายาว่า มือปราบสายธรรมะ และ โรโบคอปสายบุญ เนื่องจากภาพลักษณ์มักจะเป็นนายตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงาน และเดินสายปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ

          ที่ผ่านมา พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ยังได้ใช้หลักรัฐศาสตร์มาบริหารงาน ในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้กำกับการคอมมานโด ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบหน่วยใหม่ มีการเน้นสวัสดิการให้ลูกน้อง ด้วยการตรวจดูบัญชีครัวเรือนของลูกน้องทุกคน พร้อมจัดหาสวัสดิการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ จึงเป็นที่รักของลูกน้องจำนวนมาก

          นอกจากนี้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ยังให้ความสำคัญในแง่พัฒนาบุคลากร โดยการจัดฝึกอบรม แอ็คทีฟ ชูตเตอร์ ให้ความรู้ตำรวจทั้งสายงานปราบปราม - หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เกี่ยวกับการเข้าระงับเหตุ เพื่อรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุกราดยิง ควบคู่กับการต่อยอดความรู้ไปยังสถานศึกษา และหน่วยงานอื่น จนกลายมาเป็นหลักสูตรที่รู้จักแพร่หลาย

          พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ยังเป็นผู้นำผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศมาปรับโฉมรถสายตรวจที่ใช้ในปัจจุบัน รวมถึงจุดประกายนำปืนช็อตไฟฟ้าลดความสูญเสียของผู้ปฏิบัติ กระทั่งการได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขเรื่องอาวุธปืนหลวง จัดระเบียบปืนสวัสดิการ โดยการนำ QR Code มาใช้ตรวจสอบ และติดตามแก้ปัญหาลอบนำปืนหลวงออกไปขายด้วย

ผงาด ผบ.ตร. คนที่ 14

          ชื่อของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากมีรายงานว่าการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ได้พิจารณาและเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมต่อที่ประชุม โดยพบว่าชื่อของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ก็กลายเป็น 1 ใน 4 ชื่อของนายตำรวจใหญ่ที่ติดโผในครั้งนี้ด้วย

         กระทั่งล่าสุด ในการประชุม ก.ตร. วันที่ 27 กันยายน 2566 ได้มีมติ 9 ต่อ 2 แต่งตั้ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. คนที่ 14 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          โดยรายชื่อ รอง ผบ.ตร. ทั้ง 4 นาย ที่ติดโผนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. เรียงลำดับอาวุโส ประกอบด้วย
  • พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.
  • พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.
  • พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.
  • พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.

          ประวัติการศึกษาของ ต่อศักดิ์ สุขวิมล

  • ระดับประถมศึกษา โรงเรียนพันธะศึกษา 
  • ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนโยธินบูรณะ  
  • ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 38
  • ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม
          เครื่องราชอิสริยาภรณ์/รางวัลที่เคยได้รับของ ต่อศักดิ์ สุขวิมล
  • พ.ศ. 2563 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
  • พ.ศ. 2560 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
  • พ.ศ. 2560 - เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
  • พ.ศ. 2514 - เหรียญสนองเสรีชน (ส.ส.ช.)
          ประวัติครอบครัวของ ต่อศักดิ์ สุขวิมล
  • นิพนธ์ สุขวิมล (บิดา) และสมนึก สุขวิมล (มารดา)
  • พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล สมรสกับ นางนิภาพรรณ สุขวิมล มีบุตร 2 คน

          ทั้งหมดนี่คือ ประวัติ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. คนที่ 14 ซึ่งต่อแต่นี้ไปเป็นที่น่าจับตาดูว่า เมื่อเขาขึ้นมาคุมบังเหียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว องค์กรตำรวจจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด จะต้องติดตามกันต่อไป

ข่าว ประวัตินักการเมืองอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เกาะติด ข่าวการเมือง ประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ บิ๊กต่อ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผงาดนั่ง ผบ.ตร. คนที่ 14 อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2566 เวลา 10:57:15 54,916 อ่าน
TOP
x close