การแจ้งตายทำยังไง ? เอกสารอะไรต้องใช้ สิทธิประโยชน์อะไรที่ครอบครัวควรรู้ ?

           การแจ้งตาย ต้องทำในกี่วัน ใช้เอกสารอะไรบ้าง รวมขั้นตอนขอใบมรณบัตร และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ครอบครัวควรได้รับ
การแจ้งตาย

           เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่าง การเสียชีวิตในบ้าน เกิดขึ้น หลายคนอาจไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากตรงไหน ทำอะไรต่อ หรือมีสิทธิอะไรที่ครอบครัวจะได้รับบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนไปรู้จักกับขั้นตอน การแจ้งตาย และสิ่งสำคัญที่คุณควรรู้อย่าง การออกใบมรณบัตร เพื่อให้จัดการทุกอย่างได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และไม่พลาดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ควรได้รับ

การแจ้งตาย
ขั้นตอนแรกที่ต้องทำเมื่อมีคนเสียชีวิต

การแจ้งตาย คืออะไร

           การแจ้งตาย เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องทำเมื่อมีผู้เสียชีวิต เพื่อบันทึกข้อมูลและออกใบมรณบัตร สำหรับการใช้ในเรื่องสิทธิต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สิน การประกันชีวิต หรือประวัติทางทะเบียนราษฎร การแจ้งตายทำได้ทั้งในกรณีเสียชีวิตที่บ้าน โรงพยาบาล หรือนอกสถานที่ โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

ใครมีหน้าที่แจ้งตาย

          ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ผู้มีหน้าที่แจ้งการตาย ได้แก่

  • เจ้าบ้านที่มีการตายเกิดขึ้น

  • ผู้พบศพ (กรณีตายนอกบ้าน)

  • ญาติผู้เสียชีวิตที่ทราบเรื่องการตาย

  • ผู้ใดที่ได้พบเห็นหรือทราบการตาย

กำหนดเวลาในการแจ้งตาย

  • กรณีตายในบ้าน : ต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาตายหรือพบศพ หากไม่แจ้งตายภายในกำหนดปรับไม่เกิน 1,000 บาท

  • กรณีตายนอกบ้าน : ต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาพบศพ หากไม่แจ้งภายในกำหนดปรับไม่เกิน 1,000 บาท

สถานที่แจ้งตาย

  • กรณีตายในเขตเทศบาล : แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลที่มีการตาย

  • กรณีตายนอกเขตเทศบาล : แจ้งที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่มีการตาย

  • กรณีตายในกรุงเทพมหานคร : แจ้งที่สำนักงานเขตที่มีการตาย

  • กรณีตายในต่างประเทศ : แจ้งที่สถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทย ณ ประเทศนั้น

          กรณีที่ยังไม่ได้แจ้งการตาย แต่มีการเคลื่อนย้ายศพไปอยู่ต่างท้องที่ที่ตาย ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ศพอยู่หรือที่มีการจัดการศพโดยการเก็บ ฝัง เผา หรือทำลาย

เอกสารที่ใช้ในการแจ้งตาย

          การเตรียมเอกสารให้พร้อมจะช่วยให้กระบวนการแจ้งตายเป็นไปอย่างราบรื่น เอกสารที่จำเป็น ได้แก่ 

  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง ฉบับจริง 1 ฉบับ

  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย (ถ้ามี) ฉบับจริง 1 ฉบับ

  • หนังสือรับรองการตายตามแบบ ท.ร.4/1 (กรณีตายในสถานพยาบาล) ฉบับจริง 1 ฉบับ

  • ใบรับแจ้งการตาย ท.ร.4 ตอนหน้า (กรณีแจ้งต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ฉบับจริง 1 ฉบับ

  • สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ท.ร.14 (ที่ผู้ตายมีชื่ออยู่ (ถ้ามี) กรณีเป็นคนในท้องที่) ฉบับจริง 1 ฉบับ

การแจ้งตาย

การออกใบมรณบัตร

          หลังจากการแจ้งตายแล้ว นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะออกใบมรณบัตรเป็นหลักฐานให้แก่ผู้แจ้ง ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น ปิดบัญชีธนาคาร โอนทรัพย์สิน แจ้งหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

กระบวนการออกใบมรณบัตร

  • เมื่อแจ้งการตายแล้ว นายทะเบียนจะออกใบรับแจ้งการตาย (ท.ร.4 ตอนหน้า)

  • นายทะเบียนจะออกมรณบัตร (ท.ร.4) ให้แก่ผู้แจ้ง

  • นายทะเบียนจะจำหน่ายชื่อผู้ตายออกจากทะเบียนบ้าน โดยจะประทับคำว่า "ตาย" สีแดงไว้หน้ารายการบุคคลที่ตาย

กรณีพิเศษในการออกใบมรณบัตร

  • กรณีตายโดยผิดธรรมชาติ : ต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนออกใบมรณบัตร

  • กรณีสงสัยว่าตายด้วยโรคติดต่ออันตราย : ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

สิทธิประโยชน์ที่ทายาทควรทราบหลังจากมีการเสียชีวิต

การแจ้งตาย

          เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ทายาทของผู้เสียชีวิตมีสิทธิได้รับสวัสดิการและเงินช่วยเหลือต่าง ๆ ตามกฎหมาย ดังนี้

1. เงินช่วยเหลือค่าทำศพ

  • กองทุนประกันสังคม : ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท และในกรณีตายจากการทำงาน จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์กรณีตายแก่ทายาท

  • สิทธิข้าราชการ : ทายาทมีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษ 3 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

  • กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ : หากผู้เสียชีวิตเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ตามที่กองทุนกำหนด

2. เงินบำเหน็จ บำนาญ และเงินสงเคราะห์

  • เงินบำเหน็จตกทอด : กรณีผู้เสียชีวิตเป็นข้าราชการบำนาญ ทายาทมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอด (30 เท่าของเงินบำนาญ) 

  • เงินช่วยเหลือพิเศษ : กรณีข้าราชการเสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทายาทมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ (3 เท่าของเงินเดือนเต็มเดือน) 

  • เงินสงเคราะห์จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) : หากผู้เสียชีวิตเป็นสมาชิก กบข.

  • เงินสงเคราะห์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : กรณีผู้เสียชีวิตเป็นพนักงานบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป

  • เงินสงเคราะห์จากกองทุนประกันสังคม : จ่ายให้แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้เท่านั้น

  • เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม : ในจำนวนตามเงื่อนไขของกรณีบำเหน็จชราภาพ

3. สิทธิประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ

          หากผู้เสียชีวิตมีการทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุไว้ ผู้รับผลประโยชน์มีสิทธิได้รับเงินตามกรมธรรม์ โดยต้องติดต่อบริษัทประกันพร้อมเอกสารใบมรณบัตรและเอกสารอื่น ๆ ตามที่บริษัทกำหนด

การจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต

การแจ้งตาย

กรณีมีพินัยกรรม

          หากผู้เสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมไว้ การแบ่งทรัพย์สินจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ทายาทควรนำพินัยกรรมไปดำเนินการที่สำนักงานที่ดินหรือศาล

กรณีไม่มีพินัยกรรม

          ทรัพย์สินจะถูกแบ่งตามกฎหมายให้แก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับ ได้แก่ 

  • คู่สมรส

  • บุตร

  • บิดามารดา

  • พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

  • พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

  • ปู่ย่า ตายาย

  • ลุง ป้า น้า อา

          แม้การสูญเสียจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่การรู้ขั้นตอน การแจ้งตาย และสิทธิที่ครอบครัวพึงได้รับ จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นระบบและลดภาระในระยะยาวได้มาก หากคุณกำลังเผชิญเหตุการณ์นี้ ขอให้ใจเย็นและค่อย ๆ ทำตามขั้นตอนที่กล่าวมา หรือปรึกษาหน่วยงานราชการในพื้นที่เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การแจ้งตายทำยังไง ? เอกสารอะไรต้องใช้ สิทธิประโยชน์อะไรที่ครอบครัวควรรู้ ? อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2568 เวลา 15:24:12 4,650 อ่าน
TOP
x close