ความสงบสุข และสันติภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาให้มีขึ้นบนโลกใบนี้ องค์การสหประชาชาติจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อที่จะสร้างความสมัครสมานกันระหว่างประเทศต่าง ๆ และวันสหประชาชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของโลก
ความสำคัญของวันสหประชาชาติ
เหตุผลที่กำหนดให้มีวันสหประชาชาตินั้น เพื่อระลึกถึงและเฉลิมฉลองให้แก่การกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ โดยให้ตระหนักถึงความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในประเทศคอสตาริกาและประเทศเกาหลีใต้ ได้กำหนดให้วันสหประชาชาติเป็นวันหยุดประจำชาติ ส่วนประเทศสวีเดนได้กำหนดให้เป็นวันธงชาติสวีเดน
ภาพจาก : Arnaldo Jr / Shutterstock.com
สหประชาชาติ คืออะไร
องค์การสหประชาชาติ (United Nations Organization) หรือ UN เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการนำสันติภาพสู่โลก โดยพยายามให้มนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา ได้อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและสงบสุข ก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) โดยความร่วมมือของนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ คือ นายวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) และประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คือ นายแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) เนื่องมาจากเหตุผล 3 ประการ ได้แก่
- เพื่อระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศคู่กรณีด้วยสันติวิธี
- เป็นแกนกลางในการนำสันติภาพอันถาวรมาสู่โลก
- เป็นศูนย์กลางความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
องค์การสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกา (The United State of America) ภาษาทางการที่ใช้มีอยู่ 6 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย จีน และภาษาอาหรับ
เลขาธิการแห่งสหประชาชาติคนปัจจุบัน คือ นายอังตอนีอู กูแตรึช ชาวโปรตุเกส ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งต่อจากนายบันคีมูน เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560
การก่อตั้งองค์การสหประชาชาติและวันสหประชาชาติ
การริเริ่มก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ดำเนินมาเป็นขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้
1. วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ได้มาประชุมร่วมที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ เพื่อเจรจายุติสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการลงนามในปฏิญญาลอนดอนระหว่างบรรดาผู้แทนรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศอังกฤษ และเสนอให้จัดตั้งองค์การสันติภาพโลก
2. วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แถลงการณ์ร่วมกับนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล แห่งอังกฤษ บนเรือประจัญบานออกัสตา เรียกแถลงการณ์นี้ว่า "กฎบัตรแอตแลนติก" เพื่อก่อตั้งองค์การสันติภาพ และก่อให้เกิดการร่วมลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติ ทำให้เกิดคำว่า "สหประชาชาติ"
3. วันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) ผู้แทนของจีน สหภาพโซเวียต อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ประชุมหารือและลงนามในปฏิญญามอสโก
4. ระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม - 7 ตุลาคม ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) ผู้แทนของจีน สหภาพโซเวียต อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับร่างกฎบัตรลงประชามติที่ดัมบาร์ตัน โอ๊ก ชานเมืองกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
5. วันที่ 4-11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิล และจอมพลสตาลิน ร่วมประชุมกัน ณ เมืองยัลตา แหลมไครเมีย ในสหภาพโซเวียต เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎบัตรของสหประชาชาติ โดยตกลงกันในเรื่องสิทธิยับยั้งความปลอดภัย
6. วันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) มีการประชุมที่เมืองซานฟรานซิสโก ระหว่างประเทศต่าง ๆ จำนวน 50 ประเทศ เพื่อร่วมลงนามในกฎบัตรของสหประชาชาติ
7. วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) กฎบัตรสหประชาชาติได้รับสัตยาบันจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต จีน และประเทศส่วนใหญ่ที่ลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติและกฎบัตรเริ่มมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันสหประชาชาติ"
สมาชิกเริ่มแรกของการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติมีจำนวน 51 ประเทศ (ประเทศโปแลนด์ ได้ลงนามเพิ่มอีก 1 ประเทศ)
องค์กรหลักของสหประชาชาติ
องค์การสหประชาชาติประกอบด้วยองค์การหลัก 6 องค์กร ได้แก่
1. สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) สมาชิกขององค์การสหประชาชาติทุกประเทศต้องเป็นสมาชิกสมัชชาด้วย สมัชชาจะจัดให้มีการประชุมสมัยสามัญในวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายน และอาจมีประชุมสมัยพิเศษขึ้นตามโอกาสที่เหมาะสม ในการประชุมแต่ละครั้ง ประเทศสมาชิกมีสิทธิ์ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 คน แต่ละประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงได้ประเทศละ 1 เสียง
สมัชชาจะประกอบไปด้วย ประธานสมัชชา 1 คน รองประธานจำนวน 17 คน โดยจะคัดเลือกจากทวีปยุโรป 3 คน อเมริกาใต้ 3 คน เอเชียและแอฟริกา 7 คน และประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 คน (ถ้าประธานมาจากพื้นที่ใด รองประธานจากเขตนั้นต้องลดลง 1 คน)
2. คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) หน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคง คือ การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถใช้กำลังทหารในการระงับข้อพิพาทกรณีนั้นได้ รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สอบสวนกรณีพิพาทหรือสาเหตุอันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้ และหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านสันติภาพของโลก คณะมนตรีความมั่นคงประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ มีสมาชิกถาวร (Permanent Members) 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน และสมาชิกเลือกตั้ง (Non-permanent Members) อีก 10 ประเทศ โดยอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 2 ปี
3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) มีหน้าที่ประสานงานให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมนุษยธรรม ระหว่างสมาชิกประเทศ มีสมาชิกจำนวน 54 ประเทศ อยู่ในตำแหน่งครั้งละ 3 ปี
4. คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและดูแลการบริหารงานดินแดนที่อยู่ในภาวะทรัสตี สมาชิกและคณะมนตรีภาวะทรัสตี ได้แก่ ประเทศที่ทำหน้าที่ปกครองดินแดนในภาวะทรัสตี สมาชิกประจำคณะมนตรีความมั่นคงและสมาชิกอื่น ๆ ที่เลือกตั้งโดยสมัชชา คณะมนตรีภาวะทรัสตีได้ดำเนินนโยบายที่จะให้ประเทศที่อยู่ในภาวะทรัสตีสามารถประกาศตนเป็นเอกราชได้ และสามารถทำสำเร็จมาแล้วหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา
5. สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (The Secretariat) มีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารและธุรการขององค์กรต่าง ๆ ในองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลก มีเลขาธิการเป็นผู้บริหารงาน อยู่ในตำแหน่งครั้งละ 5 ปี โดยการแต่งตั้งจากการประชุมสมัชชาใหญ่
6. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีพิพาททางกฎหมายระหว่างประเทศ และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานอื่น ๆ ในองค์การสหประชาชาติ เช่น ศาลโลก คณะมนตรีความมั่นคง สำนักงานของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี โดยการคัดเลือกจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ร่วมกับคณะมนตรีความมั่นคง
ทำไมต้องมีองค์การสหประชาติ
1. เพื่อรักษาสันติภาพของโลก ระงับกรณีพิพาทโดยสันติวิธี โดยอาศัยระบบความมั่นคงร่วมกัน ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน
2. เพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยวางอยู่บนรากฐานแห่งความเสมอภาค ความยุติธรรม ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และความกินดีอยู่ดีของทุกคน
3. เพื่อแก้ไขปัญหาอาณานิคม สนับสนุนให้ดินแดนอาณานิคมมีเอกราชและอธิปไตย
4. เพื่อสร้างดุลแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน และรักษาผลประโยชน์ชาติในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม
5. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือ และประสานงานของชาติต่าง ๆ
6. เพื่อพัฒนาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
ไทย กับ องค์การสหประชาชาติ
ประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 16
ธันวาคม ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) นับเป็นสมาชิกสหประชาชาติอันดับที่ 55
จากบรรดาสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ โดยนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ชี้แจงเหตุผลการสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ดังนี้
เพื่อความมั่นคงของไทย
เนื่องจากสหประชาชาติเป็นองค์การที่มีกำลังมากที่สุด ที่สามารถธำรงสันติภาพและความมั่นคง และให้ความยุติธรรมสำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างไทย
เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่ชาติหนึ่ง
เนื่องจากการที่เข้าเป็นสมาชิกขององค์การเป็นการยืนยันรับรองฐานะของไทยอีกครั้งหนึ่ง
ไทยหวังความช่วยเหลือจากสหประชาชาติในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าไทยประสงค์จะร่วมมือในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างจริงจัง
กิจกรรมในวันสหประชาชาติ
ในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดนิทรรศการเพื่อแพร่ประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ และมีการประดับธงของสหประชาชาติตามสถานที่สำคัญ ๆ ในประเทศต่าง ๆ
นอกจากนี้ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคม สำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ร่วมกับสมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สหประชาชาติ ได้ร่วมกันจัดงานฉลองวันสหประชาชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานของสหประชาชาติ โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงบทบาทและหน้าที่ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะบทบาทและหน้าที่ในประเทศไทย
ขอบคุณภาพจาก : un.org
ขอบคุณข้อมูลจาก : tungsong.com, ru.ac.th, mfa.go.th