ข่าวน้ำท่วมภาคใต้ น้ำท่วมตรัง ประกาศภัยพิบัติ 7 ตำบล




ข่าวน้ำท่วม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หลังจากฝนตกหนักติดต่อกันในพื้นที่ภาคใต้ ได้ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากจาก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้ไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ในจังหวัดตรังแล้ว

          ทั้งนี้ จุดที่ต่ำที่สุดอยู่ที่บริเวณอำเภอเมืองตรัง ทำให้ปริมาณน้ำฝนจากทุกทิศไหลมารวม ณ บริเวณนี้ โดยแม่น้ำตรังในเขตอำเภอเมืองเริ่มประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตรแล้วอีกระลอก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

          ล่าสุดทางจังหวัดตรังได้ประกาศให้พื้นที่อำเภอเมืองตรัง 7 ตำบล 52 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินน้ำท่วม และจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วนแล้ว ได้แก่ ตำบลนาตาล่วง หมู่ 1-6, ต.นาท่ามเหนือ  หมู่ 1-13 ,ต.นาท่ามใต้ หมู่ 1-8 , ต.บางรัก หมู่ 1-6 ,ต.หนองตรุด หมู่ 1-9 , ต.ควนปริง หมู่ 1-9 และ ต.นาโต๊ะหมิง หมู่ 4  โดยทางอำเภอเมืองตรัง ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอีกครั้ง เนื่องจากอาจจะเกิดฝนตกหนักซ้ำลงมาอีก





น้ำท่วมภาคใต้



สถานการณ์อุกทภัย วาตภัย ภาคใต้ 10 ต.ค.-28 พ.ย.

ข่าวน้ำท่วม 28 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้คลี่คลายลงเกือบทุกจังหวัดแล้ว โดยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายนพบว่ายังมีน้ำท่วมขังใน 2 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3 อำเภอในจังหวัดพัทลุง

น้ำท่วมพัทลุง

          มีรายงานว่า จากเหตุฝนตกหนักติดต่อกันในจังหวัดพัทลุง ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด ไหลเข้าท่วมพื้นการการเกษตร และบ้านเรือนประชาชน กว่า 200 ครัวเรือนใน อ.ป่าบอน จ.พัทลุงแล้วเป็นระลอกที่ 3 โดยระดับน้ำสูง 30-50 เซนติเมตร

          เกาะติดสถานการณ์ น้ำท่วมพัทลุง ได้ที่นี่ค่ะ






น้ำท่วมภาคใต้

สถานการณ์อุกทภัย วาตภัย ภาคใต้ 10 ต.ค.-24 พ.ย.




ข่าวน้ำท่วม 22 พฤศจิกายน

          ชาวบ้าน ต.ท่ามะปราง อ.หลังสวน หอบถุงข้าวสารที่ได้รับแจก ร้องหาความรับผิดชอบ หลังได้รับข้าวสารแจก ของ กขช. เชื่อมีทุจริตจัดซื้อข้าวสาร

          ที่บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 8 ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร นายกำลักษณ์ เที่ยงมณี อายุ 68 ปี พร้อมด้วยชาวบ้าน ร่วม 10 คน ได้นำถุงใส่ข้าวสาร ซึ่งเมื่อเปิดถุงออกมาจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวจากถุงข้าว ลักษณะข้าวสารในถุง คล้ายข้าวปกติทั่วไป แต่เมล็ดข้าวค่อนข้างบวม ที่ถุงใส่ข้าว มีข้อความว่า ด้วยความปรารถนาดีจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ข้าวสำหรับช่วยผู้ประสบอุทกภัย องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์

          นายกำลักษณ์ บอกว่า ไปรับข้าวสารแจกจากคณะของสมาชิกวุฒิสภา เมื่อกลับมาถึงบ้านพบว่าข้าวสารดังกล่าวเน่า ไม่สามารถหุงรับประทานได้ สอบถามชาวบ้านอีกหลาย 10 คน พบว่าได้รับข้าวในลักษณะเดียวกัน จึงออกมาถามหาความรับผิดชอบ คาดว่าน่าจะมีการทุจริตในการจัดซื้อข้าวสารอย่างแน่นอน

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย นายประสงค์ นุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วย นายสุวิทย์ ชัยณรงค์ รองนายก อบต.ท่ามะพลา และชาวบ้านหมู่ที่ 8 ต.ท่ามะพลา ร่วมเปิดถุงพิสูจน์ข้าวสารที่ชาวบ้านได้รับแจกจาก รศ.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 และคณะของ ส.ว.อีกหลายคน ซึ่งเมื่อเปิดถุงข้าวสารพิสูจน์ดู พบว่าข้าวสารมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ลักษณะของข้าวสารมีสีขาวอมสีเขียว เมล็ดค่อนข้างบวมกว่าปกติเล็กน้อย ที่ถุงมีข้อความว่า "ด้วยความปรารถนาดี จากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ลงมาข้างล่าง ข้าวสำหรับช่วยผู้ประสบอุทกภัย องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์"ทั้งนี้ ชาวบ้านได้นำข้าวสารดังกล่าวไปหุงต้ม พบว่าเป็นข้าวแข็ง มีลักษณะค่อนข้างเหนียว ถ้าปล่อยให้เย็นจะมีลักษณะเหนียวเป็นก้อนคล้ายข้าวเหนียว การหุงข้าวจะต้องเอาไปผสมกับข้าวชนิดอื่นถึงจะรับประทานได้

          ด้าน สว.ประสงค์ นุรักษ์ สว.สรรหา ระบุทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำหนังสือขอไปกับกระทรวงพาณิชย์ โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่าย และไม่มีเจตนาที่จะนำข้าวที่เสียมาแจกจ่ายให้กับประชาชนเลย และจะเดินทางไปตรวจสอบที่มาอีกครั้งว่ามีเจตนาด้วยหรือไม่

          ขณะที่ นายวิทเยนทร์ มุตตามระ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์และการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ จากนั้น นายวิทเยนทร์ แถลงว่า สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่คงที่แล้ว แต่ยังมีพื้นที่จังหวัดยโสธรที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณในลำน้ำชีเริ่มไหลบ่าเข้าพื้นที่บ้างแล้ว ทั้งนี้ คาดว่า 1-2 วันนี้พื้นที่ริมแม่น้ำ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองยโสธร อ. มหาชนะชัย อ.คำเขื่อนแก้ว และ อ.ค้อวัง จะมีท่วมขัง ซึ่งหน่วยงานได้ดำเนินการอพยพประชาชนพื้นที่เสี่ยง ขึ้นสู่ที่สูงแล้ว

          สำหรับสถานการณ์ดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้นั้น ตามรายงานของ ศชอ. แจ้งว่ามีพื้นที่ 3 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยคาดว่าหากมีฝนตกลงมามากเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มได้ ซึ่งได้แก่...

          1. จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย อ.ฉวาง (เขาหลวง) อ.ลานสะกา, อ.ร่อนพิบูลย์, อ.พิปูน, อ.จุฬาภรณ์, อ.พรหมคิรี, อ.ท่าศาลา, อ.สิชล, อ.นบพิตำ

          2. จังหวัดสุราษฎรธานี ประกอบด้วย อ.ไชยา, อ.ท่าชนะ, อ.วิภาวดี, อ.ท่าฉาง, อ.กาญจนดิษฐ์ และอ.บ้านนาสาร

          3. จังหวัดชุมพร ประกอบด้วย อ.ท่าแซะ, อ.สวี, อ.ปะทิว, อ.หลังสวน, อ.ละแม และอ.เมือง







สถานการณ์อุกทภัย วาตภัย ภาคใต้ 10 ต.ค.-20 พ.ย.


ข่าวน้ำท่วม 20 พฤศจิกายน

          ศอช.เผยสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังชุมพร สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช

          นายวิทเยนทร์ มุตตามระ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ได้เป็นประธานในการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ โดยระบุว่าในพื้นที่ภาคใต้ ได้เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ยังคงมีอากาศแปรปรวน ฝนฝ้าคะนองเกือบทั่วไปใน จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล และยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักบางแห่งใน จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช โดย จ.สุราษฎร์ธานี ต้องเฝ้าระวังแม่น้ำตาปีล้นตลิ่ง และเฝ้าระวังดินถล่มใน จ.นครศรีธรรมราช

          ทั้งนี้ในส่วนของการเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยในภาคใต้นั้น ทาง ศชอ. ได้สั่งการให้กรมชลประทาน ติดตามความคืบหน้าในการส่งเครื่องสูบน้ำ และของใช้จำเป็นที่ส่งไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย

          อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการแจ้งเตือนภัยแม่น้ำชีที่จะไหลเข้า จ.ยโสธร ใน อ.เมือง และ อ.มหาชนะชัย ในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังยาวนานเพิ่มขึ้นอีก 1 จังหวัด

น้ำท่วมนครศรีธรรมราช

          สรุปความเสียหาย ใน จ.นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิต 12 ราย ประชาชนเดือดร้อน 2 แสนกว่าราย บ้านพังเสียหาย 20 หลัง

          เกาะติดสถานการณ์ น้ำท่วมนครศรีธรรมราช ได้ที่นี่ค่ะ




น้ำท่วมภาคใต้

สถานการณ์อุกทภัย วาตภัย ภาคใต้ 10 ต.ค.-19 พ.ย.


ข่าวน้ำท่วม 19 พฤศจิกายน

          กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภาคใต้ อิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โดยขอประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ยังคงต้องระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย

         ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ ขณะนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 16 จังหวัด 78 อำเภอ 608 ตำบล 4,569 หมู่บ้าน 416,601 ครัวเรือน 1,390,129 คน โดยในจำนวนนี้ แยกเป็นพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง 12 จังหวัด 41 อำเภอ 334 ตำบล 2,157 หมู่บ้าน 185,925 ครัวเรือน 620,921 คน พื้นที่การเกษตร ที่คาดว่าจะเสียหาย 6,316,156 ไร่ ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี และ จังหวัดปทุมธานี

          และในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด 37 อำเภอ 274 ตำบล 2,412 หมู่บ้าน 181,339 ครัวเรือน 573,037 คน ได้แก่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ พัทลุง

          โดยขณะนี้ มียอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 232 คน แยกเป็น พื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง 156 คน และ ภาคใต้ 76 คน


น้ำท่วมพัทลุง

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพัทลุง แม้จะคลี่คลายและลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เกือบเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ยังมีน้ำท่วมสูงในพื้นที่ลุ่มริมทะเลสาบสงขลา ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทะเลสาบ ใน ต.เกาะหมาก ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน ต.ชัยบุรี ต.ลำปำ อ.เมือง ต.ทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน ประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม

          เกาะติดสถานการณ์ น้ำท่วมพัทลุง ได้ที่นี่ค่ะ
         


เบอร์ติดต่อสอบถามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ - จังหวัดสงขลา


          - สายตรง นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศาลากลางจังหวัดสงขลา ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.สงขลา 90000 โทรศัพท์ 0-7432-3874, 0-7431-3126 โทรสาร(FAX) 0-743-13126

          - ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา 418 ม.6 ถ.สายสนามบิน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ 90110 โทรศัพท์ 0-7425-1160-3 โทรสาร(FAX) 0-7425-1166

          - สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา อาคารศาลาประชาคม ถ.ราชดำเนิน อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000 โทรศัพท์ 0-7431-6380-2 โทรสาร(FAX) 0-7431-6382

          - องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 0-7430-3100

          - เทศบาลนครหาดใหญ่ สายด่วนกุญชร 1559

          - เทศบาลเมืองคอหงส์ 0-7428-0004

          - เทศบาลเมืองคลองแห 0-7458-0888 สายด่วน 1132

          - อ.เบตง จ.ยะลาเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ออกช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง โทรศัพท์ 0-7323-0478

          - ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ โทร. 0-7420-0000, 0-7420-0007 หรือสายด่วน 1559

          - นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี ผช.คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ สงขลานครินทร์ 0-8696-91017

          - นพ. เกียรติศักดิ์ ราชบรีรักษ์ ผช ผอ รพหาดใหญ๋ 0-8189-79164
 


อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือ

          - ศูนย์วิทยุกู้ภัยมิตรภาพสามัคคีท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง 074-350955

          - ศูนย์นเรนทร สงขลา 1669

สถานีวิทยุที่รายงานสถานการณ์น้ำท่วม

          - สถานีวิทยุ มอ. เอฟเอ็ม 88.0 ฟังออนไลน์ http://www.psuradio88.com/

          - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา เอฟเอ็ม 90.50 โทรศัพท์ 0-7433-3220-1 โทรสาร 0-7433-3555 ฟังออนไลน์ region6.prd.go.th


เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถาม ประสานงานเหตุอุทกภัย


          - ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784

          - ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม โทร.1555 และ 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

          - ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.นครราชสีมา โทร 044-342-652 ถึง 4 และ 044-342-570 ถึง 7

          - ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง

          - สอบถามเส้นทางรถไฟ และเวลาเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690

          - สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830

          - กฟภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 นครราชสีมา โทร.044214334-5 หรือ CallCenter1129 

          - สอบถามน้ำท่วม ถ.มิตรภาพ ที่แขวงการทางต่าง ๆ ได้ที่โทร 044-242047 ต่อ 21, 044-212200, 037-211098, 036-461422, 036-211105 ต่อ 24
 

การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม 

          1. หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เสาสัญญาณ เป็นต้น

          2. เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊ชสำหรับหุงต้ม ยารักษาโรค ไฟฉาย  เทียน ไม้ขีดไฟ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม 

          3. เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ (แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย)

          4. หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้มีของอันตรายหากเกิดน้ำท่วมสูง

          5. เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปไว้ชั้นบนของบ้าน
 
          6. เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ

          7. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม

          8. หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

          9. พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด

          10. ห้ามรับประทานน้ำที่ท่วมสูง หากขาดแคลนน้ำดื่ม ให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด

          11. หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน

          12. ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากถูกกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที

          13. เตรียมน้ำสะอาดไว้ดื่ม และชำระร่างกาย 

          14. เตรียมถุงดำเล็ก - ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์ 

          15. เตรียมอุปกรณ์สำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ 

          16. หากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจเกิดแผ่นดินทรุดตัวได้ แนะนำให้อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูง ๆ




 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข่าวน้ำท่วมภาคใต้ น้ำท่วมตรัง ประกาศภัยพิบัติ 7 ตำบล อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2553 เวลา 14:56:28 367,113 อ่าน
TOP
x close